ยังมีหลายองค์กรที่คิดจะทำเรื่องของ Talent Management โดยที่มองแค่เพียงว่า องค์กรเราน่าจะมีเครื่องมือในการหาพนักงานปัจจุบันว่าใครคือคนเก่งขององค์กร (Talent) เพื่อที่จะได้นำมาสร้าง และพัฒนาต่อ เพื่อที่จะฝากอนาคตของบริษัทไว้กับพนักงานกลุ่มนี้ได้ แต่เชื่อหรือไม่ว่า หลายองค์กร หาไม่เจอว่าใครคือ Talent ตัวจริง หรือบางองค์กรพอหาได้แล้ว ก็มานั่งสงสัยกันว่า เอ…นี่คือ Talent ของเราแล้วจริงหรือ??
สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการที่เราแยกกันคิด แยกกันทำงาน โดยไม่เชื่อมโยงระบบ HR ขององค์กรเข้าด้วยกัน สรรหาคัดเลือก ก็เลือกกันไป หากันไปตามระบบที่กำหนด พอถึงเวลาผู้บริหารบอกว่า อยากได้คนเก่ง ๆ จะทำ Talent Management ก็มานั่งคิดกันว่า เราจะหาคนเก่งจากพนักงานปัจจุบันที่เราหามาได้ทั้งหมดอย่างไรดี จะได้พัฒนากันต่อไปได้ ซึ่งในทางปฏิบัติ ถ้าเราไม่เริ่มตั้งแต่การสรรหาคัดเลือกพนักงานที่มีแนวโน้มว่าจะเป็น Talent แล้ว สิ่งที่ตามมาก็คือ เราอาจจะหาคนเก่งตามคุณสมบัติของเราที่กำหนดขึ้นในพนักงานแบบ Talent ไม่เจอเลยก็เป็นได้
ดังนั้น ถ้าองค์กรของเราต้องการที่จะทำระบบ Talent Management จริงๆ ก็ต้องเริ่มต้นกันใหม่ตั้งแต่การวางแผนการหาคน การสรรหาคัดเลือก กันเลย ก่อนอื่นเลยเราก็คงต้องมากำหนดกันว่า คุณสมบัติของพนักงานที่เป็นกลุ่มTalent ของเรานั้น จะต้องมีคุณสมบัติอย่างไร โดยส่วนใหญ่ก็จะอาศัย Competency ที่องค์กรมีอยู่ในการกำหนดคุณสมบัติของคนเก่งของเรา
ที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ คนเก่ง หรือ Talent จะต้องเป็นคนที่มีศักยภาพสูง ก็ต้องไม่ลืมกำหนดคุณลักษณะของพนักงานที่มีศักยภาพสูงไว้ให้ชัดเจนเช่นกัน พนักงานที่มี ศักยภาพ คือ พนักงานที่เราสามารถฝากอนาคตขององค์กรไว้ในมือเขาได้ เขาจะสามารถนำพาองค์กรในวันนี้เติบใหญ่ขึ้นไปในวันข้างหน้าได้ ดังนั้น ศักยภาพ เราจึงต้องมองไปในอนาคต
เมื่อกำหนดคุณสมบัติชัดเจนแล้ว เราก็ต้องเอาคุณสมบัติเหล่านั้นมากำหนดเป็นแนวทางในการสรรหาและคัดเลือกพนักงาน โดยเฉพาะการคัดเลือกพนักงานนั้น ถ้าเราต้องการคนเก่ง ๆ เข้ามา เราจะต้องกำหนดแนวทางในการคัดเลือกพนักงานที่เป็นระบบ มีขั้นตอนที่ชัดเจน มีเครื่องมือในการคัดเลือกที่สอดคล้องกับคุณสมบัติของพนักงานตามที่เราต้องการ
ไม่ใช่อยากจะเลือกใครก็เลือกเข้ามา พนักงานแต่ละคนถูกเลือกด้วยวิธีการทีแตกต่างกันออกไป ไม่มีมาตรฐาน ไม่มีจุดเปรียบเทียบซึ่งกันและกัน รวมทั้งใครจะมาสัมภาษณ์ ก็มา ใครไม่อยากมาก็ให้คนอื่นมาแทน เวลาสัมภาษณ์ก็ไม่มีโครงสร้างคำถาม และโครงสร้างในการสัมภาษณ์ที่เป็นแบบแผนเดียวกันกับผู้สมัครทุกคน ฯลฯ ถ้าเป็นแบบนี้ เราคงจะหา Talent เพื่อเข้ามาให้เราบริหารจัดการได้ยาก
ถ้าจะทำระบบ Talent Management กันจริงๆ ก็ต้องเริ่มกันที่ระบบการคัดเลือกพนักงานที่ดี โดยเริ่มจาก
- วิเคราะห์งานให้ออก ว่า แต่ละตำแหน่งต้องใช้คนที่มีคุณสมบัติอย่างไร ตั้งแต่ ความรู้ ทักษะ และพฤติกรรมเลย ต้องชัดมาก อีกทั้งยังต้องกำหนดคุณสมบัติทางด้านศักยภาพของพนักงานที่เป็นคนเก่งให้ชัดเจนอีกด้วยเช่นกัน เวลาวิเคราะห์หาคุณสมบัติ ไม่ควรดูแต่เรื่องงานของตำแหน่งเท่านั้น ควรจะมองไปให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ และกลยุทธ์ขององค์กรด้วยเช่นกัน
- เลือกเครื่องมือในการคัดเลือกที่เหมาะสม เมื่อเราสามารถแยกแยะว่า เราต้องการพนักงานที่มีความรู้อะไรบ้าง ทักษะในด้านใดบ้าง และพฤติกรรมพื้นฐานที่จะมาต่อยอดกันในองค์กรมีเรื่องอะไรบ้างแล้ว เราจะสามารถเลือกเครื่องมือในการคัดเลือกได้ตรงกับสิ่งที่เราต้องการได้มากขึ้น เช่น ถ้าเราต้องการความรู้ เราก็เลือกโดยการสอบข้อเขียนได้ สัมภาษณ์ถามความรู้ได้ แต่ถ้าเราต้องการทักษะบางอย่างในตัวพนักงาน การสัมภาษณ์แบบคุยไปเรื่อย ๆ ก็คงไม่เหมาะ เราก็ต้องออกแบบวิธีการคัดเลือกที่ทำให้เราเห็นว่าผู้สมัครแต่ละคนมีทักษะในสิ่งที่เราต้องการมากน้อยแค่ไหน หรือจะใช้แบบทดสอบความถนัด พฤติกรรมก็เช่นกัน ต้องออกแบบวิธีการคัดเลือกที่ทำให้เรามองเห็นพฤติกรรมตามธรรมชาติของผู้สมัครแต่ละคนจริงๆ ซึ่งในปัจจุบัน ก็มักจะเป็นการออกแบบวิธีการโดยใช้สถานการณ์ต่าง ๆ โดยไม่ให้ผู้สมัครรู้ตัว หรือ ใช้แบบทดสอบทัศนคติเป็นตัวช่วย เป็นต้น
- กำหนดโครงสร้างการสัมภาษณ์ให้ชัดเจน ถ้าเราต้องใช้การสัมภาษณ์ผู้สมัคร ก็ต้องมีการกำหนดโครงสร้างของการสัมภาษณ์ในแต่ละครั้งให้ชัดเจน ช่วงไหน คุยอะไรอย่างไร คำถามที่จะใช้ต้องมีคำถามหลักที่ต้องถามผู้สมัครทุกคนเหมือนกันคืออะไร คำถามอะไรที่จะถามก็ได้ หรือไม่ถามก็ได้ ฯลฯ
- กำหนดเกณฑ์ในการพิจารณาให้ชัดเจน เรื่องเกณฑ์ก็ต้องกำหนดให้ชัดเจน มิฉะนั้น กรรมการสัมภาษณ์ก็จะใช้ความรู้สึกชอบ ไม่ชอบ มาตัดสินใจว่าจะรับใครเข้าทำงาน แต่ถ้าเรามีเกณฑ์ชัด และคุยกันด้วยมาตรฐานเดียวกัน จะทำให้กรรมการสัมภาษณ์มองไปยังจุดเดียวกัน และจะทำให้เราได้คนที่เหมาะสมกับคุณสมบัติที่เราต้องการมากที่สุด
หลักข้างต้นที่กล่าวมา เราอาจจะมองว่า มันก็หลักง่าย ๆ พื้นฐาน แต่เชื่อหรือไม่ว่า แค่หลักง่าย ๆ พื้นฐานแบบนี้ ก็ยังมีหลายองค์กรที่ไม่สามารถทำได้ตามนี้ ดังนั้น ถ้าองค์กรของเรามีนโยบายในการบริหารจัดการคนเก่ง ต้องการพัฒนาคนเก่ง ให้เป็นผู้นำรุ่นต่อไป เราต้องเริ่มต้นตั้งแต่ต้นทางก็คือ ต้องเลือกคนเก่งเข้ามาให้ได้ก่อน เราจะได้พัฒนาเขาต่อได้อย่างดี
เราคงไม่อยากเจอเหตุการณ์ที่ว่าหาคนเก่ง Talent ตามเกณฑ์ไม่เจอเลย ก็เลยบอกว่า “งั้นก็เอาคนที่แย่น้อยที่สุดมาเป็น Talent ของเราก็แล้วกัน” ถ้าเป็นแบบนี้จริง ก็ไม่น่าจะใช้ Talent Management แล้วล่ะครับ
ใส่ความเห็น