จากงานสำรวจสวัสดิการที่ชื่อว่า คือ Health and wellbeing at work 2021 ของ CIPD ที่เพิ่งออกมาในเดือนเมษายนที่ผ่านมา นอกจากประเด็นมาตรการทางด้านการบริหารจัดการพนักงานและการทำงานที่มีผลกระทบมาจาก Covid19 แล้ว ก็ยังมีประเด็นที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งก็คือ การจัดสวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับชีวิตและความเป็นอยู่ของพนักงาน (Well-Being) ว่าในปี 2020-2021 ที่โควิดกำลังระบาดนั้น องค์กต่างๆ ทั่วโลกเขาจัดสวัสดิการด้านนี้ให้กับพนักงานอย่างไรบ้าง ก็เลยนำมาให้อ่านกัน
- สวัสดิการด้านสุขภาพ (Health Promotion)
- ตรวจวัดสายตาให้กับพนักงาน
- การฉีดวัคซีน
- การให้คำปรึกษาทางด้านโภชนาการ และการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง
- การเป็นสมาชิกฟิตเนส
- ให้ใช้ Program และเครื่องมือติดตามด้านสุขภาพ เช่น Fitbit หรือ fitness tracker ต่างๆ รวมถึงให้มีการแข่งขันกันดูแลสุขภาพของตนเองให้ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดและมีรางวัลให้พนักงานที่ทำได้ตามเป้าหมาย
- เพิ่มรายการในการตรวจสุขภาพประจำปีของพนักงาน
- จัดให้มีชั้นเรียน หรือการอบรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพการสุขภาพจิตให้กับพนักงานถี่มากขึ้น (เช่น ทุกไตรมาส หรือทุกเดือน)
- ให้สวัสดิการในการพักผ่อนเพื่อสุขภาพ เช่น การปรึกษานักจิตวิทยา นักกายภาพบำบัด ฯลฯ หรือเข้าสปา นวดเท้า นวดผ่อนคลาย เป็นต้น
- สวัสดิการสนับสนุนพนักงานเพื่อสุขภาพของพนักงานเอง (Employee Support)
- ให้พนักงานสามารถติดต่อกับศูนย์สุขภาพได้โดยตรงเพื่อขอคำปรึกษา
- จัดโปรแกรมช่วยเหลือพนักงาน โดยเน้นไปทางด้านสุขภาพ เช่น การใช้ชีวิต การพักผ่อน การโภชนาการ การเลิกบุหรี่ การเลิกเหล้า ฯลฯ
- ให้เงินช่วยเหลือเพิ่มเติมในกรณีที่พนักงานต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล และวงเงินในเรื่องนี้หมดลง
อีกส่วนหนึ่งที่รายงานสรุปมาก็คือ การที่บริษัทซื้อประกันทางด้านสุขภาพเพิ่มเติมขึ้นให้กับพนักงานในบริษัทของตนเอง ซี่งสวัสดิการนี้ไม่แตกต่างอะไรมากมายกับที่เคยให้ และก็จะคล้ายๆ กับสวัสดิการที่บริษัทในประเทศไทยมีจัดให้กับพนักงานของตนเอง เพียงแต่อาจจะเป็นการเพิ่มวงเงินคุ้มครอง หรือเพิ่มประเภทการคุ้มครองที่กว้างขึ้น เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของพนักงานในเรื่องของสุขภาพอนามัยให้ดีขึ้นกว่าเดิม
ในรายงานนี้ได้สรุปว่าสิ่งที่เปลี่ยนแปลงเยอะมากจากปี 2019 ที่ผ่านมา ในเรื่องของสวัสดิการพนักงาน ก็คือ การให้สิทธิพนักงานได้มีโอกาสในการขอคำปรึกษาจากแพทย์ นักจิตวิทยา หรือผู้ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพ ได้มากขึ้น จากเดิมที่อาจจะมีการจำกัดจำนวนครั้งหรือ จำนวนงบประมาณ ก็มีการขยายจำนวนครั้งในการรับคำปรึกษามากขึ้นกว่าเดิม เพราะบริษัทเรียนรู้ว่าในช่วง Covid นี้ พนักงานอาจจะต้องประสบกับคำถามที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพกาย และสุขภาพจิตของตนเองมากขึ้นกว่าเดิม
ซึ่งก็แปลว่า บริษัทจัดงบประมาณทางด้านสวัสดิการเพื่อสุขภาพของพนักงานมากขึ้นกว่าช่วงก่อน covid นั่นเอง
อ่านแล้วก็ลองนำไปพิจารณาจัดระบบและการให้สวัสดิการด้านสุขภาพขององค์กรของเราดูได้ครับ ว่าเราพอจะมีสวัสดิการในด้านนี้เพิ่มเติมให้กับพนักงานในเรื่องอะไรบ้าง ผมคิดว่า รายการข้างต้น น่าจะพอเป็นไอเดียให้ฝ่ายบุคคล และผู้บริหารองค์กรในบ้านเราในการปรับปรุงระบบสวัสดิการด้านสุขภาพให้กับพนักงานของตนเองได้บ้าง
ใส่ความเห็น