การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ช่วยให้เกิดความรู้สึกผูกพันได้มากกว่า

ตั้งแต่ช่วงโควิดสองปีที่ผ่านมา แทบจะทุกองค์กรมีการนำเอานโยบายการทำงานจากที่บ้านมาใช้ มีการให้พนักงานแต่ละคนแยกกันทำงาน ทำงานห่างกันคนละสถานที่ โดยมีเทคโนโลยีที่สามารถเชื่อมโยงถึงกันได้ จนสามารถที่จะทำงานได้ผลงานแทบจะไม่แตกต่างจากเดิม แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นผลจากการทำงานแบบต่างสถานที่ แยกกันทำงาน และไม่ค่อยได้พบเจอกันระหว่างพนักงานด้วยกันเอง ก็คือ ความรู้สึกผูกพันทั้งต่องาน และต่อองค์กรน้อยลงไปอย่างเห็นได้ชัด

มีผู้บริหารระดับสูงของหลายองค์กรต่างเห็นด้วยกับประโยคนี้ The lack of human connectedness has been a major contributing factor to the Great Resignation and to the challenges with employee loyalty.” ซึ่งเป็นประโยคที่ผู้บริหารชื่อ Monahan ของ Grant Thornton ได้กล่าวไว้ แปลเป็นไทยได้ว่า “เมื่อคนเราขาดปฏิสัมพันธ์ต่อกันนั้น เป็นสาเหตุหลักของการลาออกครั้งใหญ่ และจะทำให้เกิดปัญหาในเรื่องของความผูกพันและจงรักภักดีต่อองค์กรด้วยเช่นกัน”

แล้วท่านผู้อ่านเชื่อ และเห็นด้วยกับสิ่งที่ผู้บริหารท่านนี้กล่าว หรือไม่

มนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม ต้องอยู่ร่วมกัน ต้องมีกิจกรรมทำร่วมกัน และมีความต้องการการยอมรับจากกลุ่ม อีกทั้งยังต้องการการได้รับความยกย่องจากกลุ่มของตนเอง ซี่งจะก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง เกิดแรงจูงใจในการสร้างผลงานที่ดีขึ้นได้

เมื่อเราทำงานแยกกัน ไม่ค่อยได้เจอกัน แม้จะมีการประชุมออนไลน์ แต่ความรู้สึกก็ไม่เหมือนกับการได้เจอหน้ากัน ได้พูดคุยกัน เดินไปเดินมาในออฟฟิศก็มีโอกาสได้เจอกันบ้าง ทักทายกันบ้าง แต่การทำงานจากที่บ้านไม่ได้สร้างบรรยากาศแบบนั้นเลย

ผลก็คือ พนักงานเริ่มรู้สึกแปลกแยก เริ่มรู้สึกไม่มั่นคงในตนเอง ขาดความอบอุ่น ขาดการสนับสนุนทางจิตใจจากเพื่อนร่วมงาน หรือจากนายตนเอง เมื่อความรู้สึกแบบนี้มีมากขึ้นเรื่อย ๆ วันหนึ่งพนักงานก็จะทนไม่ไหว และขอลาออกจากองค์กร เพราะรู้สึกว่าตนเองไม่ได้มีส่วนร่วม ไม่มีส่วนในการทำงานกับองค์กร เหมือนในช่วงที่ทำงานร่วมกันในบริษัท

เมื่อผู้บริหารของ Grant Thornton เห็นตัวเลขการลาออก เริ่มรู้สึกว่าจะต้องทำอะไรสักอย่าง ก็เลยมีการจัดกิจกรรมร่วมกัน จัด trip เล็ก ๆ จัดงานเลี้ยงสังสรรค์ รวมทั้งให้พนักงานกลับเข้าทำงานในบริษัทบ้าง มาเจอกัน มาประชุมกันในห้องประชุมในบางประชุมที่มีความสำคัญ ๆ หรือบางแห่ง ก็มีการกำหนดไปเลยว่า ทุก 1 วันในสัปดาห์จะต้องเป็นวันที่พนักงานทุกคนเข้ามาในบริษัท เพื่อพบกัน เจอหน้ากันบ้าง และให้มีการทำงานจากที่บ้านเพียง 1-2 วันต่อสัปดาห์ เท่านั้น

ผลจากการดำเนินการแบบนี้ ปรากฏว่า ความรู้สึกของพนักงานเปลี่ยนไป พนักงานเริ่มรู้สึกว่า ตนเองเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร และทีมงาน รู้สึกถึงการเชื่อมโยงกัน รู้สึกอบอุ่น ไม่เหงาเปล่าเปลี่ยวที่ต้องทำงานคนเดียวจากที่บ้าน

เมื่อเริ่มมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันมากขึ้น ก็จะทำให้ความรู้สึกผูกพันของพนักงานมีมากขึ้นเช่นกัน

จากข้อสรุปข้างต้น องค์กรที่มีนโยบายให้พนักงานทำงานที่บ้านอย่างเดียวเลย ก็คงต้องระวังในประเด็นเหล่านี้มากขึ้น อาจจะต้องจัดให้มีการพบปะสังสรรค์กันบ้าง หรือมีการประชุมต่อหน้ากันบ้าง เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันทั้งในการทำงานและนอกงาน

เพราะการทำงานแบบ online นั้น ถ้าเราสังเกต เราจะเห็นว่า จะมีการพูดคุยกันก็ต่อเมื่อมีปัญหาจากการทำงานเท่านั้น หรือคุยกันตามวาระการประชุม แต่จะไม่มีการทักทาย แซวกัน หรือ เดินผ่านเจอหน้ากันก็ยิ้มให้กัน บางประชุม online แทบจะไม่เปิดกล้องเลยก็มี

สุดท้ายความรู้สึกเชื่อมโยงถึงกัน ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน มันก็จะลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ จนส่งผลต่อความรู้สึกผูกพัน และความภักดีต่องานและองค์กร จนในที่สุด พนักงานเก่ง ๆ ก็อาจจะขอลาออกไป เนื่องจากแค่เพียง บรรยากาศที่ดูห่างเหินกัน ทั้ง ๆ ที่เราสามารถที่จะแก้ไขได้ไม่ยาก

อย่าปล่อยให้เกิดบรรยากาศเหล่านี้ขึ้นในองค์กร ถ้าท่านยังต้องการความรู้สึกผูกพัน และภักดีต่อองค์กรของพนักงาน

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

บลอกที่ WordPress.com .

Up ↑

%d bloggers like this: