ยังมีอีกหรือ พนักงานที่ไม่อยากพัฒนาตนเอง ไม่อยากเติบโตในองค์กร

ท่านผู้อ่านเคยประสบพบเจอพนักงานที่ไม่ต้องการที่จะพัฒนาตนเองเลย อีกทั้งยังไม่ต้องการที่จะก้าวหน้าและเติบโตในองค์กรบ้างหรือไม่ครับ

ผมมีโอกาสไปเป็นวิทยากรในการสัมมนาหลักสูตรทางด้านบริหารบุคคลอยู่บ่อยๆ ซึ่งก็ได้พบเจอกับผู้เข้าสัมมนาในหลายรูปแบบมากมาย มีทั้งมาแบบอยากได้ความรู้เพื่อเอาไปใช้ในการทำงาน มาแบบโดนบังคับมาก็มี หรือมาแบบไม่รู้ตัวว่ามาทำไมก็เคยเจอมาแล้ว ถึงแม้ว่าคนกลุ่มนี้จะไม่รู้ว่ามาทำอะไร หรือเพื่ออะไร แต่สิ่งที่เขาแสดงออก ก็ยังเห็นว่าเขาตั้งใจ และพยายามหาทางประยุกต์ความรู้ที่ได้รับฟังไป เพื่อนำไปใช้ในบริษัทเขา แบบนี้ก็ถือว่ายังเป็นคนที่รักเรียน และรักการพัฒนาตนเองอยู่

หรือในระยะสองปีที่ผ่านมาที่มีการเรียนการสอนออนไลน์กันมากขึ้นด้วยสถานการณ์โควิด ก็ทำให้องค์กรที่ต้องการจะพัฒนาพนักงานด้วยวิธีการฝึกอบรม ต้องให้พนักงานเรียนและอบรมกันออนไลน์ ซึ่งยิ่งเห็นชัดเจนมากขึ้นว่า พนักงานบางคนตั้งใจมากที่จะนำเอาความรู้ไปใช้ แม้ว่าการเรียนออนไลน์อาจจะมีข้อจำกัดมากกว่าการเรียนในชั้นเรียน แต่ก็ยังเห็นมีพนักงานบางคนที่เหมือนไม่มีตัวตน ลงทะเบียนเข้าเรียนในห้อง แต่ปิดกล้อง ถามอะไรก็ไม่ตอบ ไม่มีปฏิกิริยาโต้ตอบใดๆ เกิดขึ้นจากพนักงานคนนี้ ผู้สอนก็ยากที่จะตรวจสอบได้ เพราะไม่เห็นหน้ากัน ถ้าเป็นการสอนในห้องยังพอที่จะกระตุ้น และเรียกให้ตอบได้ แต่นี่เรียกแล้วก็เงียบกริบ ไม่มีอะไรตอบรับ คนสอนก็ต้องดำเนินการสอนต่อไปเพื่อไม่ให้เกิดช่วงเวลา Dead Air นานเกินไปนัก

พนักงานที่แสดงออกว่าไม่อยากเรียน ไม่อยากอบรมก็มีอยู่พอสมควรเหมือนกัน กล่าวคือ ถูกส่งมาเรียน ก็มาแบบเสียมิได้ มาแล้วก็ทำตัวแบบว่าไร้ประโยชน์ กล่าวคือ ไม่สนใจเรียน มีแต่ป่วนการเรียนการสอน พูดแทรก แซวคนอื่นไปทั่ว และทำให้คนอื่นไม่มีสมาธิในการเรียนสักเท่าไร หรือในทางตรงกันข้ามก็คือ นั่งเงียบ เล่นโทรศัพท์ เปิดคอมพิวเตอร์ทำงาน หรือถ้าเรียนออนไลน์ก็จะเป็นแบบไร้ตัวตน อยู่แต่เหมือนไม่อยู่

ผมเคยพยายามที่จะเข้าหาคนกลุ่มนี้ โดยใช้ช่วงเวลาพักทานกาแฟ หรือพักรับประทานอาหาร โดยไปนั่งโต๊ะเดียวกันกับเขา และก็ค่อย ๆ คุย สอบถามไปเรื่อย ๆ ว่าคิดอย่างไร ทำไมถึงมาเรียน และเรียนไปเพื่อเอาไปทำอะไรให้บริษัทบ้าง

สิ่งที่ได้รับคำตอบมาก็คือ ส่วนหนี่งเขาไม่เชื่อในเรื่องของการฝึกอบรม เพราะถูกส่งไปเข้าอบรมมาเยอะ แต่ก็ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย รู้สึกว่าอบรมไปก็เท่านั้น ทุกอย่างก็ยังคงเหมือนเดิม ก็เลยไม่อยากเข้าอบรม

การอบรมแล้วจะเกิดประโยชน์ และเอาไปใช้งานได้นั้น อยู่ที่ใครกันแน่ อยู่ที่ตัวเอง หรือคนอื่นรอบข้าง การที่บริษัทส่งเรามาเรียนรู้มาฝึกอบรมก็เพราะอยากให้เราเปลี่ยนแปลง และเป็นคนที่ริเริ่มการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ในสิ่งที่ดีขึ้น ถ้าเราเรียนแล้ว ไม่มีการดำเนินการอะไรต่อ แสดงว่าเราเองไม่ยอมเปลี่ยนแปลงเอง จะไปโทษคนอื่นก็คงจะยากหน่อย เพราะคงต้องเริ่มที่เราก่อน แล้วจึงค่อยเสนอผู้ใหญ่ ต่อๆ กันขึ้นไป จะกระทั่งการเปลี่ยนแปลงที่ดีเกิดขึ้นได้จริง

ประเด็นที่อยากจะสื่อไม่ใช่เรื่องการเปลี่ยนแปลง แต่เป็นเรื่องของการพัฒนาตนเองของคนเรามากกว่า เพราะทุกวันนี้ก็ยังมีอยู่นะครับ คนประเภทนี้ ที่บริษัทพยายามส่งเสริม และดันให้เขาโตขึ้น แต่เขากลับไม่ยอมรับสิ่งเหล่านั้น บอกว่าไม่อยากโต ไม่ต้องมายุ่งกับผม แต่พอบริษัทไปพัฒนาคนที่เขาอยากพัฒนาและเลื่อนตำแหน่งให้ พนักงานคนนี้ก็จะมาย้อนถาม และตำหนิบริษัทอีกว่า ทำไมไม่ยอมพัฒนาเขา ไม่ยอมส่งเขาไปฝึกอบรม (ซะงั้น)

ตกลงแล้วจะเอายังไงกันแน่ พอส่งไปอบรม กลับไม่ยอมเรียน เข้าไปป่วน แถมยังไม่สนใจอะไรอีกด้วย คิดแค่เพียงว่าอบรมไปก็เท่านั้น แต่พอนาย และบริษัทรู้ว่า ไม่อยากไปอบรม ก็เลยไม่ส่งไปอบรม ก็กลับบอกว่าบริษัทไม่ยอมพัฒนาตนเองเลย

ผมคิดว่านี่ก็น่าจะเป็นปัญหาโลกแตกที่ HR ปวดหัวอยู่เหมือนกัน จริงมั้ยครับ

อย่างไรก็ดี พนักงานที่ต้องการจะพัฒนาตนเอง และต้องการเติบโตในองค์กรก็มีอยู่เยอะครับ เรามาโฟกัสกับพนักงานกลุ่มนี้จะดีกว่า เพราะน่าจะเป็นกลุ่มที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กรได้ดีกว่า กลุ่มที่ไม่ใส่ใจ และไม่สนใจอะไร อีกทั้งยังสร้างแต่ปัญหาให้กับองค์กร จริงมั้ยครับ

ปัจจุบันนี้ การพัฒนาพนักงาน ความก้าวหน้าในสายอาชีพของพนักงานนั้น มันอยู่ที่ตัวพนักงานคนนั้น จะต้องรับผิดชอบในการพัฒนาตนเองมากกว่าที่จะอยู่ที่คนอื่น ใครที่ตั้งใจพัฒนาตนเอง ก็จะได้ผลลัพธ์ที่ดีไป ส่วนใครที่ไม่ใส่ใจที่จะพัฒนาตนเองเลย ก็คงได้ผลลัพธ์ในทางตรงกันข้ามไป

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

บลอกที่ WordPress.com .

Up ↑

%d bloggers like this: