หัวหน้ากับลูกน้อง ใช่อยู่บนโลกคู่ขนาน ที่ไม่มีทางมาบรรจบกัน หรือเปล่า

ปัญหาระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องก็ยังคงเป็นปัญหาคลาสสิคที่เกิดขึ้นเป็นปกติในทุกๆ องค์กร หัวหน้าบางคนอาจจะประสบกับปัญหาในการบริหารลูกน้องน้อยกว่าบางคน ด้วยอาจจะได้ประสบพบเจอกับลูกน้องที่ดี และเข้าขากันได้ ปัญหาในการทำงานร่วมกันก็จะน้อยลงไปทันที แต่ถ้าเราเจอกับลูกน้องที่ทำงานเข้าขากันไม่ได้เลย นี่ก็จะเป็นสาเหตุให้ผลงานที่เราต้องการนั้นไม่สามารถออกมาได้อย่างที่เราต้องการ

เคยสงสัยหรือไม่ครับ ว่าทำไมลูกน้องถึงไม่ยอมทำงานให้ หรือ ทำไมหัวหน้าถึงไม่ยอมเข้าใจลูกน้องสักที

คำตอบก็คือ มุมมองและทัศนคติของทั้งสองฝ่ายที่แตกต่างกันราวฟ้าดินนี่แหละครับ ที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายยิ่งหาจุดร่วมของความเข้าใจไม่เจอเลย ลองมาดูตัวอย่างมุมมองของลูกน้องที่มีต่อหัวหน้ากันสักหน่อยนะครับว่าลูกน้องเขาคิดกันอย่างไรบ้าง

มุมมองของลูกน้องต่อหัวหน้า

  • “งานนี้ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ขอร้องว่าอย่าบอกหัวหน้านะ เพราะว่าตอนนี้ฉันยังไม่รู้เลยว่างานนี้จะต้องทำอย่างไร คงต้องคลำทางเอาเองอีกพักใหญ่”
  • “ทำไมหัวหน้าถึงมักบอกว่า วิธีที่เราทำงานนั้นไม่ถูกต้องสักอย่าง แล้วไอ้วิธีที่ถูกมันเป็นยังไง ก็ไม่เห็นเคยจะบอกกันบ้างเลย”
  • “ไปถามนายทีไรว่างานนี้ทำอย่างไร นายก็มักจะตอบเร็วยังกะรถชินคันเซ็น แบบนี้ใครจะไปฟังทัน”
  • “เวลาไปสอบถามปัญหากับหัวหน้าทีไร โดนเทศน์เป็นกัณฑ์ยาวเหยียด ฟังจนเบื่อแล้ว”
  • “ถามไปนายก็ไม่รู้หรอกวิธีการทำงานน่ะ เขารู้แค่ว่าจะด่าลูกน้องอย่างไรให้สะใจ”
  • “สุดท้ายเราก็ต้องทำงานกันแบบมั่วๆ ไป โชคดีงานสำเร็จก็คือว่าเสมอตัว แต่ถ้าโชคไม่ได้ ก็เละเป็นโจ๊ก”
  • “ผู้จัดการอ่ะหรอ อย่าไปหวังพึ่งเขาเลย ไม่เคยจะสอนอะไร แนะนำก็ยังไม่มี วัน ๆ มัวแต่ทำอะไรก็ไม่รู้”
  • ฯลฯ

นี่เป็นเพียงแค่คำบ่นของลูกน้องที่ต่อหัวหน้าซึ่งทั้งคู่อาจจะยังไม่เคยเข้าใจกันเลย

หัวหน้าเองก็ใช่ย่อยครับ ลองดูจากมุมมองของหัวหน้ากันบ้างนะครับ

  • “ถ้าผมต้องคอยบอกคุณทุกเรื่องว่าจะต้องทำงานอย่างไร แล้วผมจะจ้างคุณมาทำไมให้เสียเงินเปล่า ๆ”
  • “นี่คุณจะหัดคิดเองบ้างไม่ได้หรืออย่างไร ต้องมาคอยถามซะทุกเรื่อง”
  • “ก็อยากช่วยอยู่หรอกนะ แต่ไม่เห็นหรือไงว่าผมน่ะยุ่งจนแทบจะไม่มีเวลาอยู่แล้ว หัดทำเองซะบ้าง”
  • “ถ้าทำไม่เป็นก็ไม่เป็นไร อยู่เฉยๆ ก็แล้วกัน เดี๋ยวผมทำเอง”
  • “ต้องให้ผมพูดสักกี่ครั้ง คุณถึงจะเข้าใจซะที”
  • “นี่ต้องให้ผมจับมือคุณทำเลยหรือไง”
  • “เรื่องง่าย ๆ แค่นี้ ถ้าทำไม่ได้ ก็ไม่ต้องไปทำอะไรกินแล้ว!”
  • “สมองพวกคุณน่ะมีกันหรือเปล่า วัน ๆ เอาแต่คิดเรื่องไร้สาระอย่างเดียว”
  • ฯลฯ

สาเหตุที่เกิดความขัดแย้งอย่างที่กล่าวมาข้างต้น ก็คือ ทั้งสองฝ่ายไม่เคยเข้าใจมุมมองของอีกฝ่ายหนึ่งเลย หัวหน้าก็คิดเอาเองว่า ลูกน้องต้องทำงานเป็น ก็เลยคาดหวังว่าลูกน้องจะต้องสร้างผลงานได้ตามที่ตนต้องการ

ส่วนลูกน้องก็คิดว่า เราเพิ่งเข้ามาทำงาน ยังไม่รู้เรื่องอะไรมากมาย ดังนั้นก็คิดว่าหัวหน้าก็คงจะสอน และแนะนำวิธีการทำงานให้เราก่อนที่จะให้เราลงมือทำ

ต่างคนต่างมองกันคนละมุม และไม่เคยคิดจะคุยกันตรง ๆ  ก็เลยมีปัญหาในการทำงาน และความขัดแย้งตามมาอย่างมากมาย

ถามว่าแล้วใครที่จะต้องเปลี่ยนก่อน คำตอบแบบฟังธงกันเลยก็คือ “หัวหน้า” นั่นเอง คนที่เป็นหัวหน้านี่แหละ ที่จะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อน เนื่องจากเราต้องการให้ลูกน้องทำงานให้เรา ดังนั้น เราจะต้องทำความเข้าใจลูกน้องของเราก่อน บางครั้งก็ต้องยอมเสียเวลาพูดคุย สอบถาม อะไรที่ทำได้ อะไรทำไม่ได้บ้าง หรือยังทำไม่เป็น จะได้วางแผนในการสอนงานแนะนำการทำงานกันก่อน เพื่อให้เขาทำงานให้เราได้อย่างที่เราต้องการ

อย่ามัวแต่คิดกันไปเอง ต่างคนต่างคิด มันไม่มีประโยชน์อะไรเลยต่อการทำงาน และต่อความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง

ยังจำคำสอนของนายเก่าที่ผมเคารพได้จนทุกวันนี้ นายผมเคยสอนผมว่า “ถ้าคุณสอนเขาแล้วเขายังทำไม่ได้ อย่าไปว่าเขาโง่ จงว่าตัวเองต่างหากที่โง่ เพราะเราต่างหากที่สอนเขาไม่รู้เรื่อง”

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

บลอกที่ WordPress.com .

Up ↑

%d bloggers like this: