คำว่าค่าตอบแทนจูงใจ พอได้ยินคำนี้ ก็มักจะนึกถึงค่าตอบแทนที่ให้เนื่องจากพนักงานทำผลงานได้ดี ซึ่งเป็นการจูงใจให้พนักงานทำผลงานที่ดีอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะได้ค่าตอบแทนตัวนี้อย่างต่อเนื่องเช่นกัน
จริงๆ แล้วค่าตอบแทนจูงใจมีหลายรูปแบบมาก มากกว่าแค่ผลงานของพนักงานก็มี เราลองมาดูว่า เราสามารถนำเรื่องของค่าตอบแทนมาจูงใจพนักงานในเรื่องอะไรได้บ้าง
- จูงใจเวลาในการมาทำงาน อันนี้น่าจะเป็นพื้นฐานที่โรงงานมักจะใช้กัน ก็คือ ใช้ค่าตอบแทนมาจูงใจให้พนักงานมาทำงานให้ตรงเวลา หรือก่อนเวลา โดยจ่ายเป็นเบี้ยขยัน และถ้าใครขยันติดต่อกัน โดยไม่ขาด ลา มาสาย เลยก็จะมีค่าตอบแทนพิเศษให้อีกก้อนหนึ่ง
- จูงใจให้ขายของ เรื่องของค่าตอบแทนจูงใจนั้น ตรงที่สุดก็คือ ค่าคอมมิชชั่นที่เราให้กับพนักงานขาย โดยส่วนใหญ่ก็จะกำหนดไว้ชัดเจนเลยว่า ขายสินค้าได้แล้ว จะได้ค่าคอมมิชชั่นเท่าไหร่ สำหรับการขายสินค้าแต่ละชิ้น ดังนั้นถ้าใครขายได้มากก็จะได้รับเงินรางวัลที่มาขึ้นตามยอดขาย
- จูงใจให้ทำงานได้ดีกว่าเป้าหมาย ค่าตอบแทนจูงใจอีกประเภทหนี่ง เราเรียกมันว่า Incentive เป็นค่าตอบแทนที่จะต้องผูกกับเป้าหมายขั้นต่ำไว้ โดยที่กำหนดไว้ว่า ถ้าพนักงานสามารถทำงานได้เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ก็จะมีการคำนวณ Incentive ก้อนนี้ให้กับพนักงาน พนักงานขาย ก็สามารถใช้ ทั้งคอมมิชชั่น และ incentive ผสมกันก็ได้เช่นกัน หรือจะใช้ในมุมของการลดต้นทุนก็ได้เช่นกัน เช่น ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะลดต้นทุนการทำงานลง 5% ถ้าเราทำได้มากกว่า 5% ส่วนต่างที่ทำได้ ก็จะนำมาแบ่งให้กับพนักงานที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
- จูงใจให้สร้างผลงานที่ดี อันนี้ก็คือ โบนัส ตามผลงาน ซึ่งปกติ ก็จะผูกกับกำไรของบริษัท ถ้าพนักงานช่วยกันจนบริษัทได้กำไรมาก ก็จะได้รับโบนัสตามผลงานมากขึ้นตามไปด้วย เครื่องมือนี้ เป็นที่นิยมมากที่สุดในการทำธุรกิจปัจจุบัน
- จูงใจให้ตกลงเริ่มงาน ปัจจุบันนี้เริ่มมีการให้เงินก้อนพิเศษ เพื่อจูงใจให้พนักงาน หรือผู้บริหารมือดีที่มาสมัครงานกับเรา และเราอยากให้เขาเริ่มงานกับเรา เพราะเขาน่าจะเป็นที่ต้องการตัวของที่อื่นๆ ก็เลยเสนอเงินก้อนพิเศษ เหมือนโบนัส ว่า ถ้าเซ็นสัญญาเริ่มงานกับเราเลย เราจะจ่ายเช็คเป็น Sign-on Bonus ให้อีก x บาท เป็นต้น หรือจ่ายให้อีก x เท่าของเงินเดือนที่ตกลงกัน แต่มีเงื่อนไขก็คือ จะต้องทำงานกับเราอย่างน้อยๆ x ปี จึงจะสามารถย้ายงานหรือเปลี่ยนงานได้ เป็นต้น
- จูงใจให้ทำงานนานๆ สำหรับพนักงานที่อยู่ในกลุ่ม Talent หรือ Star นั้น องค์กรเองก็ไม่อยากให้ต้องลาออกไปไหน และไม่อยากให้ถูกซื้อตัว และไปสมัครงานที่ไหน ก็เลยเสนอค่าตอบแทนจูงใจว่า ถ้าพนักงานเป็นคนเก่ง และถ้าอยู่ทำงานอย่างต่อเนื่อง ก็จะนำเอาอายุงานมาคำนวณเป็นเงินก้อนให้อีกก้อนหนึ่ง ที่ให้แยกต่างหากจากโบนัสตามผลงาน เงินก้อนนี้เราเรียกมันว่า Retention โบนัส เพื่อไว้ใช้ในการเก็บรักษาคนเก่งๆ ไว้ให้อยู่ทำงานกับเราไปนานๆ
- จูงใจให้ลาออก ก็ยังมีค่าตอบแทนที่องค์กรออกแบบมาเพื่อที่จะสร้างแรงจูงใจให้พนักงานกลุ่มเป้าหมายขององค์กรต้องการที่จะลาออกจากองค์กรไป ปกติ ก็จะมีการคำนวณเป็นเงินก้อนพิเศษให้ มากกว่าค่าชดเชยที่ควรจะได้รับ แต่เงินก้อนนี้มักจะไม่ค่อยนิยมใช้กันมากเท่าไหร่นัก ยกเว้นเกิดกรณีพิเศษขึ้นกับบริษัท และต้องการที่จะลดพนักงานลงโดยไม่ให้เกิดปัญหาตามมา ก็อาศัยวิธีนี้ในการกระตุ้นจูงใจพนักงานให้อยากลาออกได้
อย่างไรก็ดี เรื่องของการสร้างแรงจูงใจนั้น มันไม่ได้ต้องอาศัยเงินแต่เพียงอย่างเดียว เงิน และค่าตอบแทนนั้น เป็นเครื่องมือที่กระตุ้นแรงจูงใจได้ในระยะสั้นๆ เท่านั้น ถ้าเราต้องการให้พนักงานมีแรงจูงใจในการทำงานระยะยาว ก็ต้องอาศัยเครื่องมือตัวอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น เครื่องมือที่ไม่ใช่ตัวเงิน เช่น บรรยากาศในการทำงาน การให้การยอมรับ การทำงานเป็นทีม การมีนาย ผู้จัดการ และผู้นำที่ดี การเอาใจใส่พนักงาน การพัฒนา การเติบโตในสายอาชึพ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ ถ้าทำได้ดี จะสามารถสร้างแรงจูงใจได้ในระยะยาวกว่าการใช้ค่าตอบแทนที่เป็นตัวเงิน
ทางที่ดี ก็คือ ต้องหาทางสร้างสมดุลระหว่างเครื่องมือในการสร้างแรงจูงใจที่เป็นตัวเงิน และไม่ใช่ตัวเงินให้เหมาะสม
ใส่ความเห็น