แค่เงินเดือนสูงอย่างเดียว คงไม่พอในการดึงดูด และเก็บรักษาคนเก่ง ๆ ไว้ได้อีกต่อไป

ประเด็นเรื่องของการบริหารค่าจ้าง และเงินเดือนนั้น เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญในการสร้างความผูกพันของพนักงาน โดยเฉพาะในประเด็นของการลาออกของคนเก่ง รวมถึงการดึงดูด และเก็บรักษาคนเก่ง ๆ ไว้ในองค์กร หลายครั้งที่มักจะมีคนอ้างว่า เงินเดือนไม่ใช่ปัจจัยหลักในการสร้างความผูกพันของพนักงาน แต่ปัจจุบันนี้ เงินเดือนถือว่าเป็นปัจจัยหลักพื้นฐานที่สำคัญมากอีกปัจจัยหนึ่ง ที่มีผลต่อการบริหารทรัพยากรบุคคลขององค์กรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เรามักจะได้ยินผู้ใหญ่ในสมัยหนึ่งบอกเราว่า เงินเดือนไม่ใช่เรื่องสำคัญหรอก ถ้าเราขยันขันแข็ง และเรียนรู้ ตั้งใจทำงาน เดี๋ยวเงินเดือนก็สูงขึ้นได้ แต่ในยุคนี้เราคงจะใช้แนวคิดนี้ในการบริหารค่าจ้างเงินเดือนพนักงานไม่ค่อยได้แล้ว ดังจะเห็นได้จากสภาพแวดล้อมของการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป สภาพเศรษฐกิจ สังคม ที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน ตัวพนักงานเองที่มองว่า เขาต้องได้เงินเดือนในอัตราที่สูงก่อน หรือในอัตราที่แข่งขันได้ก่อน จึงจะตกลงทำงานให้กับบริษัท ไม่เหมือนสมัยก่อนอีกต่อไป ที่ยังมีพนักงานที่ยอมที่จะลดเงินเดือนตัวเองลง เพียงเพื่อได้ทำงานกับองค์กรที่ตนรัก ชอบ หรืองานที่ตนเองรัก

ยิ่งในปัจจุบันต่อเนื่องอนาคตข้างหน้า แค่เงินเดือนสูงแต่เพียงอย่างเดียว ก็อาจจะไม่พอสำหรับการดึงดูด เก็บรักษา และจูงใจคนเก่ง ๆ อีกต่อไป หลายองค์กรพยายามที่จะจ่ายเงินเดือนให้สูงกว่าตลาด แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะเก็บรักษาพนักงานเก่ง ๆ ไว้ได้ ดังนั้น ระบบบริหารค่าตอบแทนในยุคปัจจุบันและอนาคต จะต้องมองให้ไกลกว่าแค่เงินเดือนสูงแต่เพียงอย่างเดียว สิ่งที่ผู้บริหาร และ HR ควรจะต้องตระหนักก็คือ มองในองค์รวมของการบริหารค่าตอบแทนทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องของสวัสดิการและประโยชน์เกื้อกูลพนักงานซึ่งเริ่มเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูด เก็บรักษา และจูงใจคนเก่ง ๆ ให้อยากมาทำงาน และอยู่ทำงานกับองค์กรได้นานมากขึ้น

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ในปัจจุบันเป็นยุคแห่งความยืดหยุ่น เป็นยุคแห่งความแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็น เพศ ศาสนา เชื้อชาติ อายุ รสนิยม ฯลฯ ทำให้ในองค์กรหนึ่ง ๆ มีการผสมปนเปกันของพนักงานที่หลากหลายมากมาย อีกทั้งในเรื่องของการให้ความสำคัญต่อการใช้ชีวิต การดูแลสุขภาพกายใจ ก็มีคนพูดถึงมากมาย ทำให้พนักงานในยุคนี้มีทัศนคติต่อการทำงานในแบบที่ต้องการความยืดหยุ่น และต้องการสวัสดิการที่ตอบโจทย์ชีวิตของตนเองได้มากที่สุด

ดังนั้นถ้าองค์กรเราต้องการที่จะดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถ การกำหนดอัตราเงินเดือนสูงลิ่วอย่างเดียว จะไม่ตอบโจทย์นี้ได้อีกต่อไป แต่เราต้องมองในองค์รวมของคำว่า การบริหารค่าตอบแทนและสวัสดิการ มากกว่าแค่เงินเดือน

สวัสดิการสิ่งที่พนักงานรุ่นใหม่ต้องการ

ในอดีตองค์กรมักจะแข่งขันกันที่ค่าจ้างเงินเดือนเป็นสำคัญ ส่วนสวัสดิการเป็นสิ่งที่เรามักจะบอกกับพนักงานว่า เป็นเรื่องของนโยบายขององค์กรแต่ละแห่งว่าจะวางอย่างไร แต่ปัจจุบันเรื่องค่าจ้างเงินเดือน องค์กรต่าง ๆ สามารถที่จะแข่งขันกันในเรื่องนี้มากขึ้น ดังนั้นองค์กรที่ต้องการความได้เปรียบจึงต้องหาลูกเล่นในการบริหารคนที่มากขึ้น ซึ่งก็คือเรื่องของระบบสวัสดิการนั่นเอง

สวัสดิการหลักที่พนักงานในยุคนี้ต้องการมีอะไรบ้าง

  • Health Benefits สวัสดิการด้านสุขภาพพนักงาน

ยุคนี้เป็นยุคแห่งสุขภาพ และ well-being คนเราทุกคนตระหนักในความสำคัญของสุขภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ มีการดูแลสุขภาพของตนเองอย่างจริงจังมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ การพักผ่อน และการใช้ชีวิตที่ยืดหยุ่น และสมดุลระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัว ยิ่งไปกว่านั้น ยังตระหนักในความสำคัญของสุขภาพจิต การดูแลจิตใจไม่ให้เครียด ไม่ให้เกิดอาการ Burnout เป็นต้น

ถ้าองค์กรใดให้ความสำคัญกับเรื่องของสวัสดิการด้านสุขภาพของพนักงานอย่างจริงจัง ก็จะเป็นองค์กรที่สามารถดึงดูดคนเก่ง ๆ เข้ามาทำงานได้ อีกทั้งยังสามารถเก็บรักษาพนักงานมือดีไว้ได้อีกด้วย ซึ่งสามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในระยะยาวได้มากขึ้น

ตัวอย่างสวัสดิการด้านสุขภาพที่พนักงานสนใจ

  • ค่ารักษาพยาบาลที่นอกเหนือจากประกันสังคม
    • ค่าทำฟัน
    • การดูแลสายตาประกอบแว่น
    • ประกันสุขภาพพนักงาน
    • การตรวจสุขภาพแบบละเอียด
    • การดูแลสุขภาพจิตพนักงาน
    • สวัสดิการด้านการออกกำลังกาย
    • การลาคลอดสำหรับพนักงานชาย
    • สวัสดิการด้านการผ่อนคลายความเครียดจากการทำงาน
    • ฯลฯ
  • Retirement Plans

สวัสดิการเพื่อการเกษียณอายุ ถ้าเราต้องการให้พนักงานอยู่ทำงานกับเรานาน ๆ โดยเฉพาะคนเก่ง ๆ องค์กรต้องพิจารณาให้สวัสดิการเพื่อการเกษียณอายุที่ดีมาใช้ ในบ้านเราส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นหลัก ซึ่งในทางปฏิบัติ องค์กรอาจจะให้คำปรึกษาแก่พนักงานในเรื่องของการลงทุนในระยะยาว หรือลงทุนในกองทุนเพื่อการเกษียณอายุเพื่อเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่ง รวมถึงโปรแกรมในการให้ความรู้ในการปรับตัวเวลาที่ต้องเกษียณอายุจริงๆ บางองค์กรมีการฝึกอาชีพเสริม หรืองานอดิเรกสำหรับพนักงานที่กำลังจะเกษียณอายุ รวมทั้งส่งเสริมทางด้านจิตใจให้เข้มแข็ง

  • Paid Time Off (PTO)

การรักษาความสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัว และการทำงาน หรือที่เราเรียกกันว่า Work-Life Balance นั้น ถือว่าอยู่ในความต้องการของพนักงานมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นองค์กรใดที่ส่งเสริมเรื่องนี้มากหน่อย ก็จะสามารถดึงดูด และเก็บรักษาคนเก่ง ๆ ไว้ได้ง่ายกว่า หลายองค์กรมีนโยบายให้พนักงานกลับเข้าทำงานในออฟฟิศแบบ 100% ซึ่งทำให้พนักงานอาจจะรู้สึกว่า แบบนี้มันไม่ Work-Life Balance เลย แต่องค์กรเองก็สามารถกำหนดวันหยุดให้พนักงานแบบที่ยังคงจ่ายค่าจ้างให้ โดยวันหยุดที่ให้นี้จะให้นอกเหนือไปจากการลาพักร้อนตามกฎหมายแรงงาน

บางองค์กรมีการส่งเสริมให้พนักงานใช้ PTO หลังจากที่ได้ทำโครงการบางอย่างสำเร็จ ให้พนักงานพัก หรือไปเที่ยวได้เลย เพื่อเป็นการรีชาร์ตพลังให้กับตัวเอง และพร้อมที่จะรับงานใหม่ ๆ ที่กำลังจะเข้ามา

บางองค์กรก็ใช้ PTO นี้เป็นตัวช่วยในการลดแนวโน้มการ Burnout ของพนักงานจากการทำงานได้เช่นกัน

  • Flexible Work Arrangements

แม้ว่าช่วงเวลาของโควิด 19 จะจบลงไปแล้ว แต่ความต้องการการทำงานแบบยืดหยุ่นของพนักงานไม่ได้จบลงไปด้วย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ต้องการความยืดหยุ่นในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการยืดหยุ่นในเรื่องของเวลาทำงาน สถานที่ทำงาน หรือแม้กระทั่งวิธีการทำงาน ดังนั้นองค์กรใดที่มีนโยบายการทำงานแบบยืดหยุ่น ก็จะได้เปรียบมากหน่อยในการดึงดูด และเก็บรักษาพนักงานรุ่นใหม่ ที่เป็นคนเก่ง ๆ ไว้ได้

นโยบายหลัก ของการทำงานแบบยืดหยุ่นที่ได้รับความนิยม

  • Remote work คือการทำงานนอกสถานที่ ซึ่งอาจจะไม่ใช่แค่จากที่บ้านตนเอง
    • Work from home
    • Flexible hour คือ การกำหนดชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่นในการเข้างานและเลิกงาน
    • Compressed workweeks เป็นการสะสมเวลาในการทำงานให้ครบชั่วโมงต่อสัปดาห์ เมื่อทำครบแล้ว วันที่เหลือก็จะเป็นวันหยุดของพนักงานได้
  • Family Benefits

สวัสดิการที่ให้ครอบครัวพนักงาน เช่น ค่ารักษาพยาบาลที่ครอบคลุมถึงบิดา มารดา ภรรยา บุตร ของพนักงาน ก็จะทำให้พนักงานที่ทำงานในองค์กรที่มีนโยบายนี้ รู้สึกไม่ต้องแบกรับภาระในเรื่องครอบครัวแบบเต็ม ๆ โดยเฉพาะในยุคที่จะก้าวสู่ยุคแห่งผู้สูงอายุ พนักงานที่ทำงานอาจจะต้องดูแลพ่อแม่ที่เกษียณอายุแล้วมากขึ้น ดังนั้น องค์กรที่สามารถจัดสวัสดิการเรื่องนี้ให้พนักงานได้ ก็จะเป็นองค์กรที่ได้เปรียบในการดึงดูด และเก็บรักษาพนักงานมือดีไว้ได้มากขึ้น

  • Financial Wellness Programs

เป็นเงินสวัสดิการที่จัดให้กับพนักงานเพื่อส่งเสริมชีวิตและความเป็นอยู่ของพนักงานแต่ละคน โดยปกติแล้วองค์กรก็จะกำหนดงบประมาณเป็นตัวเงินคงที่ 1 ก้อน เพื่อที่จะให้กับพนักงานไว้ใช้จ่ายในเรื่องของ Wellness ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย การพัฒนาตนเอง การพักผ่อน การซื้อหนังสือพัฒนาตนเอง การเข้าหลักสูตร online ต่าง ๆ ฯลฯ ทั้งนี้วัตถุประสงค์ของเงินก้อนนี้ก็คือ เพื่อสร้าง Wellness ของพนักงานเป็นหลัก ซึ่งก็ถือว่า เหมาะสมกับยุคนี้สมัยนี้ที่ความต้องการของพนักงานแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างกันไปตามลักษณะการใช้ชีวิต ดังนั้นเงินก้อนนี้ก็จะสามารถตอบโจทย์เรื่อง Wellness ของพนักงานแต่ละคนได้อย่างตรงไปตรงมา

แม้ว่าเงินเดือนจะมีความสำคัญต่อพนักงานมากขึ้น แต่ด้วยเงินเดือนที่สูง ๆ เลยเพียงอย่างเดียวก็อาจจะไม่พอแล้ว องค์กรต้องสร้างความสมดุลระหว่างเงินเดือน และสวัสดิการเพื่อ wellbeing ที่ดีให้มากขึ้น ดังนั้นการออกแบบระบบค่าตอบแทนจึงไม่สามารถออกแบบแค่เพียงระบบค่าจ้างเงินเดือนแต่เพียงอย่างเดียว จะต้องออกแบบระบบสวัสดิการให้สอดคล้องกับยุคสมัย และทันต่อความต้องการของพนักงานในองค์กรของเราอีกด้วย

ใส่ความเห็น

บลอกที่ WordPress.com .

Up ↑