ผลกระทบของพนักงาน Wrong Fit ที่มีต่อองค์กรโดยที่เราอาจจะไม่รู้ตัว

ปกติแล้วองค์กรของท่าน มีมาตรการต่อพนักงานที่มีผลงานแย่ ๆ หรือ พนักงานที่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในการทำงานกับองค์กรอย่างไรบ้าง (Wrong Fit)

องค์กรที่มีมาตรการที่ชัดเจนมาก ๆ ตั้งแต่การบริหารผลงาน การบอกผลงาน การพัฒนาผลงาน และสุดท้ายคือ การให้ออกจากองค์กรด้วยดี ฯลฯ ก็มีอยู่ในบ้านเรา เพียงแต่เราอาจจะไม่เห็นมากนัก หรืออาจจะไม่รู้ว่า มีการดำเนินการอะไรกับพนักงานที่มีผลงานแย่ ๆ บ้าง

ส่วนองค์กรที่ไม่มีมาตรการอะไรเลย ก็มีอยู่ไม่น้อยเช่นกัน เราอาจจะเคยเห็นมาบ้าง ว่า พนักงานที่มีผลงานแย่มาก ๆ แต่ยังคงได้รับเงินเดือนขึ้น ได้รับโบนัสตามผลงาน แทบจะไม่แตกต่างกับพนักงานที่มีผลงานที่ดีด้วยซ้ำไป ยิ่งไปกว่านั้น องค์กรและผู้บริหารระดับสูงเอง ก็ไม่มีมาตรการอะไรเลยที่จะใช้บริหารจัดการพนักงานกลุ่มนี้อย่างมีประสิทธิภาพ

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้บริหารเอง อาจจะไม่เคยรู้เลยว่า ผลกระทบของพนักงานที่เป็น Wrong Fit ที่มีต่อองค์กรนั้นมันมีมากมายขนาดไหน เราลองมาดูกัน

  • ผลงานแย่ลง ๆ เรื่อย ๆ พนักงานกลุ่มนี้ ถ้าเราไม่มีมาตรการอะไรเลย ผลงานของเขาจะแย่ลงเรื่อย ๆ เพราะเขาได้เรียนรู้แล้วว่า ไม่ต้องทำอะไรดี ก็ยังคงได้รับการดูแลที่ดีจากองค์กร ดังนั้น ก็เลยไม่ทำอะไรดีกว่า แล้วองค์กรรับได้จริงหรือ

  • องค์กรไม่พัฒนาเร็วเท่าที่ควร ถัดมาก็คือ เมื่อผลงานแย่ลง ๆ องค์กรก็จะไม่สามารถพัฒนาไปได้เร็วอย่างที่เราต้องการ เพราะต้องคอยแก้ไขงาน ต้องคอยกระตุ้นผลงาน คอยพูดปากเปียกปากแฉะ แต่ไม่มีผลลัพธ์อะไรขึ้นมา เวลาที่มีนโยบายใหม่ ๆ หรือต้องการผลลัพธ์แบบก้าวกระโดด ก็ไม่สามารถไปถึงเป้าหมายอย่างที่เราต้องการได้เลย แค่มี Wrong Fit อยู่กับองค์กรโดยที่ไม่มีมาตรการอะไร

  • Star ลาออกกันหมด การเลี้ยงพนักงาน Wrong Fit ไว้นั้น ผู้บริหารอาจจะมองว่าไม่เห็นเป็นไร เราก็น่าจะเก็บเขาไว้กับเรา แม้ว่าผลงานจะแย่มาก ๆ ก็ตาม บางคนก็สงสารพนักงานกลุ่มนี้ บางคนก็คิดไปเองว่าถ้าให้เขาออกไปแล้วเขาจะไปทำอะไรกิน ฯลฯ แต่หารู้ไม่ว่า การที่ให้ Wrong Fit อยู่ต่อไปนั้น จะเป็นผลทำให้ Star ของเราลาออกกันหมดได้เช่นกัน เพราะ Star ทำงานได้ผลงานที่ดีกว่า พฤติกรรมดีกว่า อีกทั้งยังสร้างผลงานในอนาคตได้ดีกว่าด้วย และที่แน่ ๆ Star เหนื่อยกว่าแน่นอน แต่กลับได้รับการดูแลที่ไม่แตกต่างกันเลย แบบนี้ จะสร้างความรู้สึกไม่เป็นธรรมต่อ Star แล้วสุดท้ายคนเก่ง ๆ ก็ไม่อยากอยู่ทำงานกับเรา ผู้บริหารคงต้องเลือกว่า จะเก็บ Wrong Fit ไว้ โดยไม่มีมาตรการในการบริหารจัดการอะไรเลยหรือ จนยอมที่จะเสีย Star ไปจริงหรือ

  • สร้างความเครียดให้ผู้บริหารโดยไม่รู้ตัว พนักงานที่เป็น Wrong Fit นั้น มักจะเป็นสาเหตุของความเครียดของผู้บริหาร และผู้จัดการที่ต้องดูแลพนักงานคนนั้น เนื่องจากเขามักจะไม่ทำงาน ไม่มีผลงาน ทำผิดกฎระเบียบของบริษัท สร้างปัญหาและความขัดแย้งตลอดเวลา ทำงานช้า มีข้ออ้างต่าง ๆ นานา มากมาย ฯลฯ จนสุดท้ายผู้บริหารก็จะเริ่มเกิดความเครียดมากขึ้น ยิ่งถ้าองค์กรนั้นไม่มีมาตรการอะไรในการบริหารจัดการคนกลุ่มนี้ ก็จะยิ่งทำให้ผู้บริหารมีปัญหาในการบริหารจัดการระหว่างคนเก่ง ๆ กับคนที่ไม่เหมาะสมกับองค์กร

  • ลูกค้าไม่ Happy ผลกระทบที่เลี่ยงไม่ได้เลยก็คือลูกค้าขององค์กรเราเอง พนักงานที่เป็น Wrong Fit ย่อมไม่ต้องการที่จะทำงานเยอะ อยากอยู่สบาย ๆ แต่ได้ขึ้นเงินเดือน อีกทั้งยังไม่คิดที่จะพัฒนาตนเอง หรือพัฒนางานของตนเองเลยด้วยซ้ำไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้ย่อมส่งผลต่อการให้บริการลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นสินค้า หรือบริการที่ส่งมอบให้ลูกค้าก็จะมีปัญหาตามมามากมาย การแก้ไขปัญหาให้ลูกค้าก็มีปัญหาไม่รู้จบ เพราะพนักงานเองไม่มีใจที่จะให้บริการลูกค้าอยู่แล้วแต่ต้น

แค่ผลกระทบ 5 ประเด็นนี้ก็สามารถทำให้องค์กรมีปัญหา และเจ๊งได้เลยนะครับ ถ้าเราไม่มีมาตรการในการบริหารจัดการพนักงานที่เป็น Wrong Fit ยิ่งในยุคปัจจุบันที่องค์กรต้องการ Star เข้ามาทำงานด้วย และต้องการเก็บรักษา Star ของตนเองไว้ทำงานนาน ๆ ก็ยิ่งต้องมีมาตรการในการบริหารจัดการ และมาตรการในการให้รางวัล และการพัฒนาที่แตกต่างระหว่าง Star กับ Wrong Fit มากขึ้นด้วยเช่นกัน

ตอนนี้องค์กรของท่าน มีมาตรการดังกล่าวแล้วหรือยัง

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

บลอกที่ WordPress.com .

Up ↑

%d bloggers like this: