ในช่วงเดือนที่ผ่านมา เวลาที่ได้คุยกับ HR ขององค์กรต่าง ๆ ก็มักจะถูกถามเสมอว่า แนวโน้มของการทำงานหลังโควิดจะเป็นอย่างไร มีบริษัทไหนบ้างที่จะทำงานที่บ้านตลอดไป มีสักกี่บริษัทที่จะกลับเข้าทำงานในออฟฟิศเหมือนเคย หรือจะมีสักกี่บริษัทที่เลือกที่จะทำงานแบบ Hybrid Working
นอกจากนั้น บทความ งานวิจัย โพล ต่าง ๆ ทั้งใน และต่างประเทศ ต่างก็เขียนกันแต่เรื่องของ Work from Home และ Work from anywhere ว่ามันจะกลายเป็นอนาคตของการทำงาน
ซึ่งผมก็ไม่ได้ต่อต้าน หรือ จะมีปัญหาอะไรกับเรื่องนี้ เพียงแต่สิ่งที่ผมรู้สึกก็คือ เรามัวแต่มุ่งเน้นและพูดคุย อีกทั้งยังพยายามที่จะโปรโมทเรื่องของการทำงานในรูปแบบใหม่นี้ โดยที่เราไม่ได้มองเรื่องของสภาพแวดล้อม และความเป็นไปได้ของแต่ละบริษัท
บทความแทบจะทุกบทความ พูดแต่อนาคตว่าเราสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ คำถามของผมคือ งานอะไรบ้างล่ะ น่าจะบอกให้ชัดเจน พอคนได้อ่านบทความเหล่านี้มากขึ้น ก็เริ่มเชื่อ เริ่มที่อยากจะให้บริษัทของตนเองเปลี่ยนไปในแบบที่ทำงานจากที่ไหนก็ได้บ้างเช่นกัน โดยลืมไปว่า เรากำลังทำงานอยู่กับธุรกิจอะไร บริษัทอะไร และสภาพการทำงานเป็นอย่างไร
โรงงานที่ต้องผลิตสินค้า พนักงานในสายการผลิต จะทำงานที่บ้านได้อย่างไร พนักงานที่ทำงานในส่วนของสำนักงานที่มีโรงงานอยู่ด้วย ก็เรียกร้องว่างานของเราสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ พอพนักงานในสายการผลิตได้ยินเข้า ก็เริ่มรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม ทำไมอยู่บริษัทเดียวกัน แต่คนนึงจะทำงานจากที่ไหนก็ได้ อีกคนกลับต้องเข้าบริษัททำงานเหมือนเดิมทุกประการ ไม่เห็นจะมีอะไรแตกต่างไปจากเดิม
ซึ่งหลายองค์กรเริ่มเกิดความขัดแย้งระหว่างพนักงานในเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ
ดังนั้น ถ้าท่านเป็นผู้บริหาร หรือ ฝ่ายบุคคลของบริษัทที่ทำธุรกิจในลักษณะที่ไม่สามารถทำงานจากที่บ้านได้ ก็ขอว่า อย่ามัวแต่คิดเรื่องจะ Work from Home ต่อไปมั้ย จนลืมคนที่เขา Work From Home ไม่ได้
เราต้องแบ่งกลุ่มประเภทของงานให้ชัดเจน ว่างานไหนบ้างที่จะทำงานจากที่ไหนก็ได้ งานไหนบ้างที่ต้องเข้าทำงานในบริษัทตลอด งานไหนบ้างที่สามารถทำงานในเวลาไหนก็ได้ งานไหนบ้างที่ต้องทำงานในเวลาทำงานเท่านั้น ฯลฯ
ถ้าจะมีบางกลุ่มที่ยืดหยุ่นในการทำงานได้ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ หรือเวลา ก็ต้องหาวิธีการทำงานที่ยืดหยุ่นให้กับกลุ่มงานที่ต้องเข้าทำงานในโรงงาน และตามเวลางานที่กำหนดด้วยเช่นกัน
ถ้าถามว่า พนักงานในสายการผลิต จะสามารถทำงานแบบยืดหยุ่นได้หรือ คำตอบก็คือ ได้แน่นอน อยู่ที่ว่าเราจะให้อะไรบ้างที่ยืดหยุ่น ซึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องของเวลาในการทำงาน การสลับกะทำงาน หรือ การสะสมเวลาในการทำงานให้ครบตามที่กำหนดในแต่ละสัปดาห์ แล้วเวลาที่เหลือในสัปดาห์ ก็ให้พนักงานสามารถหยุดงานไปได้ หรือ ให้มีการสลับงานกันทำระหว่างระหว่างงานผลิต กับงานสำนักงาน ฯลฯ
ประเด็นสำคัญก็คือ เราไม่ควรจะเน้นแต่คำว่า Work from home หรือ Hybrid Working มากจนเกินไป ถ้าองค์กรของเราสามารถทำได้เต็มรูปแบบก็ทำไปเถอะครับ
แต่ถ้าองค์กรของเราต้องทำงานในบริษัท ในโรงงาน หรือในสถานที่ที่กำหนดจริง ๆ ก็อย่าลืมพนักงานกลุ่มนี้ด้วย เพราะเขาเองก็มองเพื่อนร่วมงานของเขาที่สามารถทำงานแบบยืดหยุ่นได้ แบบตาปริบ ๆ แล้วก็คิดว่า ทำไมงานของเรามันไม่มีอะไรยืดหยุ่นได้บ้างเลยหรือ พอไปถามผู้บริหาร ผู้บริหารก็บอกว่า ทำไม่ได้ แล้วยังไง เราก็อยากทำงานแบบยืดหยุ่นได้เช่นกัน
ดังนั้น กำหนดนโยบายให้ชัดเจน พนักงานแต่ละกลุ่มอะไรที่ทำได้ อะไรที่ทำไม่ได้ และจะบริหารความยืดหยุ่นในการทำงานด้วยเงื่อนไขที่แตกต่างกันอย่างไรได้บ้าง นี่คือความท้าทายที่ผู้บริหารและ HR ในยุคหลังโควิดต้องคิดให้ออก
ใส่ความเห็น