เมื่อพูดถึงการเลื่อนตำแหน่ง ผมคิดว่าน่าจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่พนักงานทุกคนต้องการ หลายคนตั้งเป้าหมายไว้เลยว่า ชีวิตการทำงานของตนเองจะต้องได้รับการเลื่อนตำแหน่งอย่างน้อยๆ 5 ครั้ง เป็นต้น ผู้จัดการเอง ก็มักจะมองเรื่องของการเลื่อนตำแหน่งว่า เป็นรางวัลที่จะช่วยสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงานได้
โดยปกติทั่วไปขององค์กร เวลาที่พนักงานจะได้รับการเลื่อนตำแหน่งนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นพนักงานที่มีผลงานที่โดดเด่น เรียกได้ว่า สั่งงานอะไร มอบหมายงานแบบไหน ก็สามารถทำผลลัพธ์ของงานออกมาได้สูงกว่าที่คาดหวังเสมอ
และนอกจากผลงานที่ดีอย่างต่อเนื่องแล้ว พฤติกรรมในการทำงานก็เรียกได้ว่า โดดเด่นอีกเช่นกัน เป็นพนักงานที่มีพฤติกรรมในการทำงานที่สอดคล้องกับ competency ขององค์กรที่กำหนดไว้อย่างดี
อีกทั้งหลายองค์กรในยุคนี้ ก็ยังนำเอาเรื่องของศักยภาพในการรับผิดชอบงานที่ยากขึ้น ความสามารถในการที่จะสร้างสรรค์ ผลงานใหม่ๆ ความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานในมุมต่างๆ
พนักงานที่มีผลงานดี พฤติกรรมเด่น และศักยภาพสูง ก็มักจะได้รับการเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นไป
แต่
ผู้บริหารบางคนมาคุยกับผมว่า
“ผมมีพนักงานอยู่คนหนึ่ง ผลงานแย่มาก สั่งอะไรก็ไม่ได้อย่างที่สั่ง ทำงานก็ผิดพลาดตลอดเวลา ผมต้องแก้ไขงานให้บ่อยครั้งมาก เรียกมาสอน แนะนำ แต่ก็ไม่มีอะไรดีขึ้น ส่วนพฤติกรรมในการทำงานนั้น ก็เรียกได้ว่า Competency ของบริษัทที่กำหนดไว้ทุกตัว พนักงานคนนี้ตกหมดทุกตัว และถ้าถามว่า พนักงานคนนี้จะรับผิดชอบงานที่ยากขึ้นได้หรือไม่ ศักยภาพดีมั้ย ก็เรียกว่าไม่มีเลย”
ผู้บริหารอธิบายต่อไปอีกว่า
“เพื่อนร่วมงานของเขาก็ไม่ยอมรับในผลงานและพฤติกรรมของเขาเลยสักคน อีกทั้งยังเป็นพนักงานที่มักจะสร้างความขัดแย้งให้กับทีมงานเสมอ ถ้าพนักงานคนนี้ไม่อยู่ พนักงานคนอื่นในทีมก็จะรู้สึกดีมาก ผมเองก็เหนื่อยกับการแก้ไขปัญหาของพนักงานคนนี้แล้ว”
ผู้บริหารหยุดนิดหน่อย แล้วพูดต่อไปว่า
“ผมก็เลยเรียกพนักงานคนนี้มา และบอกกับเขาว่า ผมจะเลื่อนตำแหน่งให้เขา จากเจ้าหน้าที่ เป็นเจ้าหน้าที่อาวุโส”
ผู้บริหารท่านนั้นหยุดไปเล็กน้อย แล้วพูดต่อไปว่า “เพราะผมคิดว่า การที่ผมเลื่อนตำแหน่งให้เขา และปรับเงินเดือนให้เขาสูงขึ้น น่าจะช่วยทำให้เขาปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และทำผลงานให้ดีขึ้นได้”
กรณีข้างต้น ที่ผู้บริหารท่านนี้กล่าวมานั้น ท่านผู้อ่านคิดอย่างไรครับ
มันเข้าข่ายว่า ทำงานไม่ดี แต่กลับได้รางวัล ส่วนพนักงานที่ทำผลงานได้ดี กลับไม่ได้รางวัลอะไร หรือได้ก็ได้น้อยกว่าเมื่อเทียบกับพนักงานคนที่มีปัญหา
ถามว่า วิธีการแก้ไขปัญหาผลงานของพนักงานโดยการเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้นนั้น มันได้ผลจริง ๆ หรือ
ผมก็เลยให้คำปรึกษาไปว่า โดยปกติของการเลื่อนตำแหน่งแล้ว กรณีแบบนี้ไม่น่าจะเป็นเหตุผลที่ดีของการเลื่อนตำแหน่งเลย ยิ่งไปกว่านั้นเรากำลังสร้างมาตรฐานที่ผิดสำหรับการเลื่อนตำแหน่งของพนักงานในอนาคตอีกด้วย
แต่ผู้บริหารท่านนั้นกลับตัดสินใจเลื่อนตำแหน่งให้พนักงานคนดังกล่าวจริง ๆ
ผลลัพธ์ที่ได้มาก็คือ พนักงานคนนั้นยิ่งทำตัวกร่างมากขึ้น ทำตัวมีปัญหามากขึ้น เพราะเขาได้เรียนรู้ว่า ทำงานไม่ดี ป่วนเยอะๆ เข้าไว้ เดี๋ยวนายก็จะกลัว และให้เราเลื่อนตำแหน่งต่อไปอีก ตอนนี้ตำแหน่งสูงขึ้นแล้ว เขาก็สามารถที่จะสั่งการให้กับเจ้าหน้าที่ในระดับที่ต่ำกว่า โดยที่ตนเองไม่ทำอะไรเลย ก็คือผลยิ่งแย่กว่าเดิม
แต่ที่แย่หนักกว่าก็คือ พนักงานมือดี ก็เริ่มมีปัญหาบ้าง บางคนก็เรียนรู้จากพนักงานคนนี้ แล้วก็เริ่มทำตัวแย่ลง เพราะคิดว่า ทำดีไม่เห็นได้ดี แต่ทำไม่ดีกลับได้ดี บางคนที่ยึดมั่นในผลงานที่ดี ก็ขอลาออก ขอย้ายตัวเองไปหน่วยงานอื่น เพราะมองว่า ผู้จัดการของเขาไม่แฟร์ ไม่มีความสามารถในการบริหารคน มองผลงานพนักงานไม่ออก ฯลฯ
สุดท้ายไม่มีอะไรดีขึ้นเลย และยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ผู้บริหารคนนั้นก็ลาออกจากองค์กรไป และทิ้งปัญหาไว้แบบนั้น ท่านผู้อ่านคงจะพอเดาเรื่องราวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในองค์กรนี้ได้ไม่ยากนะครับว่ามันจะปั่นป่วนสักแค่ไหน
ใส่ความเห็น