การไม่ประเมินผลงานพนักงานอย่างตรงไปตรงมา คือการยอมรับผลงานของพนักงานในแบบนั้น

ปัญหาที่เกิดขึ้นมากที่สุดในระบบบริหารทรัพยากรบุคคล ก็คือ การประเมินผลงานพนักงาน เนื่องจากเป็นเรื่องของหัวหน้างานผู้จัดการ และพนักงาน ซึ่ง ต่างคนก็ต่างความคิด ต่างความรู้สึก อีกทั้งบางประเด็นของผลงานก็ยังไม่สามารถที่จะวัดได้จริงๆ เช่นในการประเมินพฤติกรรมการทำงานของพนักงาน ก็ต้องอาศัยการสังเกต และเปรียบเทียบกับนิยามที่เขียนไว้ ซึ่งนิยามเหล่านี้เขียนยังไง ก็ไม่ชัดเจน เพราะคนเราตีความได้หลากหลายมาก

ขนาดว่าหลายองค์กรเอา KPI มาใช้ เพื่อหวังว่าจะสามารถประเมินผลงานได้อย่างชัดเจนมากขึ้น แต่ก็ปัญหาอยู่ดี เช่น กำหนดตัวชี้วัดผลงานชัดเจนแล้วแต่กลับไม่มีข้อมูลผลงานเลย ไม่มีการเก็บข้อมูลผลงานอะไรเลย ผลสุดท้ายก็ประเมินไม่ได้อยู่ดี ก็เลยมาจบที่ความรู้สึกอยู่ดี

จากประสบการณ์ที่ผ่านมาทั้งของตนเอง และจากประสบการณ์ที่ได้คลุกคลีกับผู้บริหาร และผู้จัดการมาหลายองค์กร พบว่า ผู้บริหารและผู้จัดการส่วนใหญ่ นั้น พอเราสอบถามถึงผลงานของพนักงานที่เป็นลูกน้องเขาว่าใครมีผลงานที่ดีกว่าใครบ้าง เชื่อมั้ยครับว่า ผู้จัดการเกือบทุกคนตอบได้หมดเลย ว่าใครผลงานดีกว่าใคร ใครที่ผลงานดีสุดยอดมาก ใครที่แย่สุดๆ

แต่พอถึงเวลาที่จะต้องประเมินผลงานจริงๆ ตามระบบประเมินผลงานของบริษัท กลับกลายเป็นว่า ผู้จัดการและผู้บริหารเหล่านี้ไม่กล้าที่จะประเมินผลงานพนักงานแบบตรงไปตรงมา สาเหตุส่วนใหญ่ก็คือ ไม่อยากให้พนักงานเสียความรู้สึกกับการทำงานบ้างล่ะ หรือ ไม่อยากให้พนักงานได้ขึ้นเงินเดือนในอัตราที่น้อยเกินไปบ้างล่ะ บางคนก็มองว่า ไหนๆ พนักงานก็ทำงานด้วยกันมาทั้งปี แม้จะมีปัญหาผลงานบ้างแต่ก็ไม่น่าจะเอามาประเมินกันแบบนี้ สุดท้ายก็เลยประเมินผลงานพนักงานแบบไม่ตรงกับผลงานจริงของพนักงานแต่ละคน ส่วนใหญ่ก็มักจะให้คะแนนเฟ้อไว้ก่อน เพราะเผื่อต่อรองกับทางฝ่ายบุคคล และผู้บริหารระดับสูงขึ้นไป

ซึ่งถ้าผู้จัดการของบริษัทเราประเมินผลงานพนักงานกันแบบที่กล่าวมาข้างต้น ผลที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ พนักงานที่ทำงานดีจริงๆ จะรู้อย่างไร เขาก็จะขาดแรงจูงใจในการสร้างผลงานที่ดี ยิ่งไปกว่านั้น พนักงานบางคนอาจจะลดระดับผลงานของเขาลงอย่างต่อเนื่อง เพราะคิดว่า ผู้บริหาร และผู้จัดการของบริษัทนี้คงไม่ต้องการให้พนักงานทำผลงานให้ดี เพราะคนที่ผลงานไม่ดีที่เห็นมากลับได้รับการประเมินผลงานในเกณฑ์ที่ดีมาตลอด

นี่คือสิ่งที่พนักงานเรียนรู้ เรียนรู้ว่า ไม่ต้องทำงานให้ดีก็ได้ เพราะผลประเมินก็จะออกมาดี หรือทำให้ผิดพลาดก็ไม่เป็นไร เพราะนายก็จะประเมินผลงานให้ดีอยู่ดี ถ้าเป็นแบบนี้ไปนานๆ คงจะเห็นภาพนะครับว่าจะเกิดอะไรขึ้นตามมากับผลงานของพนักงาน

ดังนั้นจงอย่าทำให้ผู้บริหาร และผู้จัดการขององค์กรเรายอมรับผลงานแย่ๆ ของพนักงาน แล้วบอกว่า ไม่เป็นไรน่า อย่าเข้มงวดเกินไปน่า หรือ อย่าจริงจังให้มันมากเกินไปน่า ฯลฯ จากนั้นก็ให้คะแนนผลงานในแบบที่ดีกว่าผลงานที่ทำได้จริง เพราะถ้าเป็นแบบนี้ เท่ากับว่าเรากำลังสื่อสารกับพนักงานทุกคนในองค์กรว่า ผู้บริหารกำลังยอมรับผลงานในแบบแย่ๆ ของพนักงานนี่แหละ

แล้วพนักงานคนไหนจะยินดีสร้างผลงานให้อย่างเต็มที่บ้างครับ

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

บลอกที่ WordPress.com .

Up ↑

%d bloggers like this: