เรื่องราวเกี่ยวกับการจัดสวัสดิการของพนักงานในองค์กรนั้น ในหลายๆ องค์กร มักจะมองว่า มันคือสิ่งที่ถูกสั่งให้ต้องทำ ไม่ว่าจะเป็นจากกฎหมายที่กำหนดว่าองค์กรจะต้องจัดสวัสดิการพื้นฐานอะไรให้กับพนักงานบ้าง หรือจากคู่แข่งที่มีการจัดสวัสดิการที่แตกต่าง จนทำให้พนักงานเดินเข้ามาเรียกร้อง หรือไม่ก็จากตัวพนักงานเองที่รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้ทางบริษัทจัดสวัสดิการในรูปแบบใหม่ๆ ให้กับพนักงานบ้าง ฯลฯ
จะสังเกตได้อย่างชัดเจนว่า การจัดสวัสดิการให้พนักงานนั้น เป็นไปในลักษณะของการตอบสนองต่อสิ่งที่เกิดขึ้นมากกว่าการที่บริษัทจะวางแผนและริเริ่มการจัดสวัสดิการในรูปแบบใหม่ๆ ให้กับพนักงานด้วยตนเอง
อย่างไรก็ตามจากผลการวิจัยทั้งในต่างประเทศ และในประเทศไทยเอง ไม่ว่าจะเป็นในรายงานสำรวจค่าจ้างและสวัสดิการ หรือจากทำวิจัยเกี่ยวกับความพึงพอใจในการทำงานของพนักงาน หรือการทำสำรวจความผูกพันของพนักงานต่อองค์กร ล้วนแต่แสดงให้เห็นว่า เรื่องของการให้สวัสดิการพนักงานนั้น มีผลกระทบอย่างมากต่อการ ดึงดูดคนเก่งๆ เข้ามาทำงานกับบริษัท มีผลต่อการเก็บรักษาพนักงานมือดีขององค์กร
แต่ในอีกมุมหนึ่ง ก็คือ เรื่องของต้นทุนขององค์กร การจัดสวัสดิการนั้นมีผลกระทบต่อต้นทุนขององค์กรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น เรื่องนี้จึงควรจะมองให้เป็นแผนกลยุทธ์ที่ชัดเจนมากขึ้น กล่าวคือ องค์กรจะจัดสวัสดิการให้พนักงานอย่างไรที่จะทำให้เกิดผลกระทบในเชิงบวกต่อการบริหารทรัพยากรบุคคลขององค์กร ตั้งแต่การดึงดูด การเก็บรักษาคนเก่ง และการสร้างแรงจูงใจในการทำผลงานที่ดีขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง ถ้าเราทำได้จริง การลงทุนในเรื่องของสวัสดิการพนักงาน ก็ถือว่าได้ผลคุ้มค่าในการบริหารทรัพยากรบุคคล ซึ่งจะส่งผลต่อความยั่งยืนขององค์กรอีกด้วย
สวัสดิการ ส่วนหนึ่งของรางวัลการทำงานพนักงาน (Total Reward)
แนวคิดของผลตอบแทนรวม (Total Reward) ปกติแล้วก็จะประกอบไปด้วยสองส่วนหลักๆ คือ
- ค่าตอบแทนที่ถือว่าเป็นค่าจ้าง ตอบแทนการทำงานของพนักงาน ซึ่งปกติก็จะประกอบไปด้วย เงินเดือน เงินจูงใจในการสร้างผลงาน เช่น โบนัส ค่าตำแหน่ง เบี้ยขยัน รวมไปถึงค่าตอบแทนความยากลำบากในกรณีที่ต้องทำงานในภาพที่ผิดปกติ และผจญกับสภาพแวดล้อมที่ยากลำบากในการทำงาน ฯลฯ
- สวัสดิการ ซึ่งองค์กรจัดให้กับพนักงานเพราะเขาเป็นสมาชิกขององค์กร และให้เพื่อที่จะยกระดับชีวิตและความเป็นอยู่ของพนักงาน ซึ่งก็จะมีตั้งแต่สวัสดิการพื้นฐานในด้านต่างๆ ของพนักงาน เช่น วันหยุด วันลา ค่ารักษาพยาบาล สวัสดิการในการสร้างความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวของพนักงาน เงินกู้พนักงาน เงินช่วยเหลือทุนการศึกษา รวมไปถึง สวัสดิการด้านสุขภาพของพนักงาน การประกันชีวิต ประกันสุขภาพ จนกระทั่งสวัสดิการด้านการเกษียณอายุ รวมไปถึงสภาพแวดล้อมในการทำงานทั้งด้านกายภาพ และด้านจิตใจของพนักงาน
จากตัวอย่างสวัสดิการที่กล่าวไปข้างต้นนั้น จะเห็นได้ว่า เรามีรูปแบบสวัสดิการหลากหลายรูปแบบ และหลายรายการ ยิ่งไปกว่านั้นแต่ละองค์กรต่างก็มีการจัดสวัสดิการให้กับพนักงานพื้นฐานที่ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก โดยเฉพาะบริษัทขนาดเล็กจนถึงขนาดกลาง การให้สวัสดิการแก่พนักงานจะมีการจัดรูปแบบที่คล้ายกันมาก บางแห่งเหมือนกันเลยก็มี แม้กระทั่งองค์กรขนาดใหญ่เอง บางแห่งก็จัดสวัสดิการที่ไม่ได้แตกต่างไปจากองค์กรขนาดกลางเลย เพียงแต่จำนวนเงินงบประมาณที่ให้นั้นอาจจะจัดให้ในก้อนที่ใหญ่กว่าเท่านั้น แต่ไม่มีความแตกต่างในด้านกลยุทธ์และรูปแบบการออกแบบสวัสดิการพนักงานแต่อย่างใด
การจัดสวัสดิการ กับการบริหารเชิงกลยุทธ์ (Benefits and Strategy)
การบริหารทรัพยากรบุคคลขององค์กรนั้น สามารถมาเสริมกลยุทธ์ขององค์กรได้ ซึ่งในปัจจุบัน องค์กรที่มีระบบบริหารทรัพยากรบุคคลที่ดี มักจะมีการวางแผนกลยุทธ์ทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล ให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ขององค์กร เพื่อจะได้มีส่วนในการผลักดันให้องค์กรไปสู่เป้าหมาย ซึ่งส่วนใหญ่แผนกลยุทธ์ด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลก็มักจะประกอบไปด้วย
- แผนกลยุทธ์ด้านการวางแผนกำลังคน
- แผนกลยุทธ์ด้านการสรรหาคัดเลือก
- แผนกลยุทธ์ด้านการพัฒนาพนักงาน
- แผนกลยุทธ์ด้านการบริหารค่าตอบแทน
- แผนกลยุทธ์การสร้างประสบการณ์ที่ดีในการทำงานแก่พนักงาน
แต่เราไม่ค่อยเห็นแผนกลยุทธ์ทางด้านการจัดสวัสดิการพนักงานขององค์กรสักเท่าไหร่ อาจจะเป็นเนื่องจาก เรามองสวัสดิการพนักงานเป็นเรื่องที่ต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมายมากกว่า ก็เลยทำให้การจัดสวัสดิการพนักงานออกมาในรูปแบบขั้นต่ำที่จำเป็นเท่านั้น ไม่มีการคิด ริเริ่ม และออกแบบรูปแบบสวัสดิการใหม่ๆ ที่ส่งเสริมกลยุทธ์ทางธุรกิจขององค์กรแต่อย่างใด
แต่ในยุคนี้ เราคงต้องมองให้แตกต่างออกไป องค์กรสามารถที่จะวางแผนกลยุทธ์ด้านการจัดสวัสดิการพนักงานเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนขององค์กรได้มากขึ้นกว่าในอดีต ปัจจุบันเราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า พนักงานในองค์กรเรานั้นสามารถแบ่งได้ในหลาย Generation หลายองค์กรมีพนักงานครบทุก Generation เลยก็มี อีกทั้ง พนักงานเองยังมีวิถีการใช้ชีวิต รูปแบบการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งเป็นผลทำให้ความต้องการของพนักงานแต่ละคนมีความแตกต่างกันไป ซึ่งก็จะมีผลต่อการจัดสวัสดิการให้กับพนักงานด้วยเช่นกัน
องค์กรที่จัดสวัสดิการพื้นฐาน และมีรูปแบบสวัสดิการแบบดั้งเดิม พนักงานเองจะมองว่าบริษัทมีการจัดสวัสดิการให้ แต่สวัสดิการของบริษัทนั้น ไม่ได้ตอบโจทย์ และไม่ตรงกับความต้องการของตนเองเลยแม้แต่นิดเดียว พนักงานบางคนอาจจะรู้สึกว่า ตรงบ้าง ไม่ตรงบ้าง ซึ่งจุดนี้เองที่เราสามารถใช้จุดบกพร่องนี้ในการวางแผนจัดสวัสดิการแบบใหม่เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของพนักงานในองค์กรได้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการบริหารทรัพยากรบุคคลขององค์กรในทางบวกยิ่งขึ้นไปอีก
พรุ่งนี้เราจะมาต่อกันในประเด็นของ การจัดสวัสดิการพนักงานกับการบริหารกลยุทธ์ขององค์กรว่าจะไปด้วยกันได้อย่างไร
ใส่ความเห็น