เรื่องของการทำงานเป็นทีมนั้น เราต่างรู้กันดีอยู่ว่า เป็นเรื่องที่ดีมากๆ การที่มีองค์กรขึ้นมา นั่นก็แปลว่า เจ้าของไม่สามารถที่จะทำงานคนเดียวได้ จะต้องอาศัยพนักงานเข้ามาทำงานให้ และเมื่อไหร่ที่ต้องอาศัยคนมากกว่า 1 คนเข้ามาทำงานให้ เรื่องของการทำงานเป็นทีม จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก
ทีมงานที่ดี จะสามารถสร้างผลงานในแบบที่ทวีคูณได้อย่างมหัศจรรย์ ไม่ใช่ตามหลักคณิตศาสตร์ที่ 1+1 = 2 แต่ถ้าเราคนสองคนมาทำงานด้วยกัน และสองคนนี้สามารถที่จะประสานกลมกลืน เข้าใจกัน ผลลัพธ์ที่ได้ออกมาจะมากกว่า ที่ให้แต่ละคนทำงานแล้วเอาผลงานมารวมกัน
ด้วยเหตุนี้ก็เลยทำให้ทุกองค์กรต้องการที่จะสร้างการทำงานเป็นทีมที่ดีให้เกิดขึ้นจริง โดยแนวทางในการสร้างการทำงานเป็นทีมในยุคปัจจุบันที่เห็นบ่อยมากๆ ก็คือ การจัดอบรมหลักสูตรประเภทการสร้างทีมงาน โดยเอาพนักงานออกไปทำกิจกรรมร่วมกัน เผชิญปัญหาร่วมกัน และช่วยกันหาทางออก
ซึ่งในขณะที่ทำกิจกรรมร่วมกันนั้น ก็ดูเหมือนจะมีบรรยากาศของการทำงานเป็นทีมที่ดีแสดงให้เห็น ซึ่งบรรดาผู้บริหารที่นั่งสังเกตอยู่นั้น ก็คิดในใจว่า กลับไปทำงานก็น่าจะดีขึ้น เพราะเราเห็นสิ่งที่ดีขึ้นตั้งแต่ตอนทำกิจกรรมร่วมกันแล้ว
แต่ผลที่เกิดขึ้นจริงๆ กลับผิดคาดไปหมด ตอนอบรมและทำกิจกรรมร่วมกันนั้นมันดูดีมากมาย แต่กลับมาที่บริษัทแล้ว ก็เหมือนเดิมทุกอย่าง เหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้นมาก่อนเลย
ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ทำไมการอบรมเรื่องการทำงานเป็นทีม ถึงไม่สามารถที่จะสร้างบรรยากาศในการทำงานเป็นทีมได้เวลาที่กลับมาทำงานตามปกติ
ท่านผู้อ่านท่านใดที่เคยทำงานมามากกว่า 1 แห่ง ลองสังเกตดูว่า จะเหมือนกับที่ผมเคยประสบมาหรือไม่ กล่าวคือ บางบริษัทเราทำงานด้วยแล้ว เรารู้สึกว่าทีมของเรานั้น ทำงานเป็นเป็นไม่ดีเลย มีแต่ความอึมครึม ขัดแย้ง ไม่มีความจริงใจต่อกัน บางทีมก็แก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกัน กลัวว่าตัวเองจะไม่เด่น กลัวคนอื่นจะเด่นกว่าตนเอง
ในทางตรงกันข้าม พอเปลี่ยนงานไปทำอีกบริษัทหนึ่ง เรากลับรู้สึกว่า บรรยากาศในการทำงานเป็นทีมดีมาก มีการเปิดใจซึ่งกันและกัน มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างจริงใจ แม้ว่าในบางครั้งจะมีข้อขัดแย้งกัน และทะเลาะกันในการทำงานเกิดขึ้น แต่สุดท้ายบรรยากาศของการทำงานเป็นทีมก็ยังอยู่เหมือนเดิม
อะไรที่ทำให้เป็นอย่างนั้น คำตอบแรกก็คือ ตัวหัวหน้าทีม หรือผู้จัดการทีมนี่แหละครับ ที่จะต้องสร้างบรรยากาศเหล่านี้ให้เกิดขึ้นให้ได้ การที่เราส่งพนักงานไปเข้าอบรมการทำงานเป็นทีม แต่ผู้บริหารที่เป็นคนสร้างทีมงานไม่ได้เข้าด้วย แบบนี้ มันก็ไม่มีทางที่จะได้ผล
ในอีกกรณีหนึ่ง เป็นแนวคิดที่น่าสนใจมาก ผมได้อ่านจากหนังสือเรื่อง Smarter Faster Better ซึ่งเขียนโดย Charles Duhigg (รู้สึกว่าตอนนี้จะมีแปลออกมาเป็นภาษาไทยแล้ว) ในบทที่ 2 ของหนังสือเล่มนี้ ได้กล่าวถืงเรื่องการทำงานเป็นทีม โดยได้อ้างอิงงานวิจัยของตัวผู้เขียนเอง และงานวิจัยของ Google ที่พยายามที่จะวิจัย และศึกษาว่า ปัจจัยอะไรที่เป็นตัวสร้างทีมงานที่ดีได้ เพื่อที่จะได้นำมาใช้ในการสร้างบรรยากาศในการทำงานเป็นทีมในบริษัทของตนเอง
ซึ่งผลการวิจัยออกมามีคำตอบว่า การทำงานเป็นทีมที่ดีมากๆ นั้น จะเกิดขึ้นได้จริง ก็ต่อเมื่อ ทุกคนในทีมงานเกิดความรู้สึกที่เรียกว่า “ความปลอดภัยทางจิตใจ” ซึ่งผมขออนุญาตคัดลอกมาจากหนังสือเล่มนี้ให้อ่านกันดังนี้
“มันคือที่ที่สมาชิกทุกคนในทีมงานรู้สึกร่วมกันว่า ทีมเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับการลองเสี่ยง มันคือความรู้สึกมั่นใจว่า ทุกคนในทีมงานจะไม่ดูถูก ไม่ปฏิเสธ ไม่แสดงอาการรังเกียจ เหยียดหยาม ดูหมิ่น ดูแคลน หรือแม้กระทั่งเพิกเฉยไม่ใส่ใจ รวมทั้งลงโทษคนที่ลองเสี่ยงในการทำงาน และการแสดงความคิดเห็นในการทำงาน”
“มันคือบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความไว้วางใจซึ่งกันและคน ความเคารพซึ่งกันและกัน และทำให้สมาชิกทุกคนในทีมนั้น เป็นตัวของตัวเองได้อย่างสบายใจ”
หรือ “เป็นที่ที่ทำให้ผู้คนในทีมรู้สึกว่าพวกเขาสามารถที่จะล้มเหลวได้ โดยไม่ต้องกลัวผลลัพธ์ที่ตามมา มีการเคารพความคิดเห็นที่แตกต่าง และสามารถที่จะตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการตัดสินใจของคนอื่นได้อย่างเต็มที่ โดยที่ขณะเดียวกันก็เชื่อมั่นว่า คนอื่นก็ไม่ได้มีความพยายามที่จะมาทำลายคุณเช่นกัน”
ดังนั้นจากข้อสรุปของผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ก็สรุปได้ว่า การที่เราอยากจะสร้างการทำงานเป็นทีมให้เกิดขึ้นจริงๆ ได้นั้น เราจะต้องสร้างบรรยากาศที่ทำให้พนักงานทุกคนรู้สึกปลอดภัย แล้วใครล่ะที่จะเป็นคนสร้าง คำตอบก็คือ หัวหน้าทีม ผู้จัดการทีม และผู้บริหารระดับสูงที่ดูแลทีมใหญ่ ทุกคนจะต้องร่วมกันและช่วยกันสร้าง “ความรู้สึกปลอดภัย” ให้เกิดขึ้นกับพนักงานให้ได้
ถ้าพูดให้ง่ายเข้าก็คือ เวลาพนักงานทำผิด ก็ต้องไม่ถูกเอามาประจาน หรือเวลาที่มีใครเสนอความคิดเห็นแบบง่ายเกินไป ก็ต้องไม่มีใครที่ดูถูกความเห็นนั้น หรือถ้ามี หัวหน้าทีมจะต้องดึงบรรยากาศให้กลับมาสู่ความปลอดภัยทางจิตใจให้ได้ ทำแบบนี้จนเกิดบรรทัดฐานของทีมขึ้น
แล้วทีมก็จะเกิดขึ้นได้จริง โดยที่ไม่จำเป็นต้องส่งพนักงานไปอบรมทุกๆ ปีอีกต่อไป
ใส่ความเห็น