ถ้าหัวหน้าทำงานของลูกน้อง แล้วลูกน้องจะไปทำงานของใคร

เวลาที่ต้องไปวางระบบด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลให้กับบริษัทต่างๆ นั้น ผมจะต้องมีการเก็บรวบรวมข้อมูลตำแหน่งงานของหน่วยงานต่างๆ ซึ่งสิ่งที่มักจะได้ยินได้ฟัง และประสบกับตัวเองมาค่อนข้างเยอะก็คือ งานของหัวหน้า กับงานของลูกน้องที่ขึ้นตรงนั้น แทบจะไม่มีความแตกต่างกันเลย บางคน copy หน้าที่และความรับผิดชอบกันมาเลยก็มี สิ่งที่สงสัยก็คือ ทำไมหัวหน้ากับลูกน้องทำงานไม่แตกต่างกันเลย

วิเคราะห์ไปวิเคราะห์มา ก็พบกว่า จริงๆ แล้วตำแหน่งหัวหน้างาน หรือบางครั้งก็เป็นถึงตำแหน่งผู้จัดการก็มี ตำแหน่งเหล่านี้ กลับทำงานของลูกน้องมากกว่าทำงานในหน้าที่การเป็นหัวหน้า หรือผู้จัดการที่แท้จริง ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

  • ไม่รู้บทบาทของการเป็นหัวหน้า สาเหตุแรกที่มักจะพบเจอก็คือ คนที่ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นมาเป็นหัวหน้า หรือผู้จัดการนั้น มักเป็นพนักงานที่มีผลงานที่ดี พอได้ขึ้นมาเป็นหัวหน้า ก็ยังคงคิดว่า งานที่ทำอยู่นั้นจะต้องติดตามขึ้นมาด้วย ก็เลยไม่ยอมมอบหมายงานให้กับลูกน้องของตน อีกทั้งไม่มีการเตรียมการพนักงานกลุ่มนี้ล่วงหน้า ว่าการที่จะเป็นหัวหน้า หรือผู้จัดการนั้นจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงบทบาทและหน้าที่อย่างไรบ้าง ก็เลยเอางานทุกอย่างของลูกน้องมาทำ
  • หวงงานที่เคยทำ บางคนยังคงหวงงานเดิมที่ตนเองเคยทำอยู่ ก็เลยไม่ยอมมอบหมายงานนั้นให้กับลูกน้องที่ต้องทำ กลับดึงเอางานที่ตนเองเคยทำทั้งหมดมาทำต่อ เพราะกลัวว่าตนเองอาจจะหมดความสำคัญที่เคยมีไป สาเหตุหลักก็คือ ยังไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่ของการเป็นหัวหน้าที่ดีนั่นเอง
  • ไม่ไว้ใจลูกน้อง อีกสาเหตุที่หัวหน้ายังคงทำงานของตนเอง และยิ่งไปกว่านั้นยังเอางานของลูกน้องมาทำเองด้วย ก็คือ หัวหน้าไม่มีความไว้วางใจในฝีมือของลูกน้องของตนเองเลย กลัวว่างานที่ทำจะออกมาไม่ดี ไม่สมบูรณ์ ก็เลยเอางานลูกน้องมาทำเองเสียหมด ปัญหานี้เกิดขึ้นบ่อยมาก อาจจะเป็นเพราะลูกน้องทำงานออกมาได้ไม่ดีพอ หัวหน้าก็เลยไม่อยากให้ทำ เอามาทำเอง พอลูกน้องไม่ได้รับการฝึกฝน ผลงานก็ไม่มีทางดีขึ้นได้อีก มันก็จะวนไปแบบนี้ ดังนั้น หัวหน้างานที่ดีต้องเริ่มต้นสอนงาน และให้พนักงานเรียนรู้ที่จะผิดพลาดบ้าง เพื่อที่จะมีผลงานที่ดีขึ้นได้ หัวหน้าก็จะได้ทำงานของหัวหน้าจริง ๆ
  • ลูกน้องไม่เก่งและทำงานไม่เป็น สาเหตุนี้ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง เพราะลูกน้องของตนเองทำงานไม่เป็น อีกทั้งไม่เคยสอนให้ลูกน้องทำงานให้เป็น ก็เลยต้องเอางานทั้งหมดมาทำเองข้อนี้จะคล้าย ๆ กับข้อที่แล้ว ดังนั้นถ้าอยากให้ลูกน้องเก่งขึ้น ก็คงต้องเปิดโอกาสให้ลูกน้องได้ทำงานเอง และยอมรับว่าต้องมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น แต่หัวหน้าก็ต้องคอยสอน แนะนำ อย่างต่อเนื่อง
  • อยากได้ผลงาน สาเหตุนี้ก็คือ ตัวหัวหน้างานเองกลัวว่าลูกน้องจะทำผลงานออกมาได้ดีเกินหน้าเกินตาตนเอง ก็เลยไม่ปล่อย และไม่มอบหมายงานให้ลูกน้องทำ

สาเหตุทั้ง 5 ประการข้างต้น เป็นสาเหตุที่เจอกันแทบจะทุกบริษัท จริงๆ แล้วอาจจะเป็นทั้งที่ตัวหัวหน้าเอง ที่ไม่รู้ว่าจะต้องมอบหมายงานอย่างไรดี หรือาจจะเกิดจากความตั้งใจที่จะไม่มอบหมายงานจริงๆ เพราะความกลัวไปต่างๆ นานา

แต่ผลที่เกิดขึ้นนั้น มีผลกระทบที่ค่อนข้างแรงมากกับผลงานของหน่วยงานและขององค์กร การที่ลูกพี่เอางานของลูกน้องมาทำเองทั้งหมด ก็เป็นสัญญานบอกกับลูกน้องว่าเขาไม่ต้องทำอะไรก็ได้ งานทุกอย่างเป็นของหัวหน้าทั้งหมด ซึ่งก็การส่งสัญญานที่ผิดมากเลยครับ ทำแบบนี้ไปสักพัก ลูกน้องก็จะได้ใจ และเข้าใจว่า งานของเขานั้นก็คือแค่นี้เท่านั้น เมื่อไหร่ที่มีการมอบหมายงานมากขึ้น คราวนี้ลูกน้องเองก็จะเริ่มไม่พอใจ และคิดไปว่า หัวหน้าไม่ยอมทำงานเอง เอะอะก็โยนงานมาให้ลูกน้อง

ถ้าลูกพี่ทำงานเองซะทั้งหมด แล้วจะจ้างพนักงานมาทำอะไรล่ะครับ

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

บลอกที่ WordPress.com .

Up ↑

%d bloggers like this: