AI เข้ามาช่วยการบริหารค่าตอบแทนและสวัสดิการพนักงานได้อย่างไร

ยุคนี้คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า AI ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา ไม่ว่าจะเป็นชีวิตส่วนตัว หรือชีวิตการทำงาน ยิ่งไปกว่านั้น ระบบงานต่าง ๆ ก็เริ่มเอา AI เข้ามาเป็นส่วนสำคัญมากขึ้น ซึ่งช่วยลดเวลาในการทำงานลงได้อย่างมา อีกทั้งยังสามารถทำงานซ้ำ ๆ และทำงานลงรายละเอียดได้ในสิ่งที่มนุษย์เราอาจจะยังไม่สามารถลงรายละเอียดได้เท่ากับ AI

ในระบบบริหารทรัพยากรบุคคลก็เช่นกัน AI ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบ HR มากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสรรหาคัดเลือก ที่ AI ได้เข้ามาช่วยในการคัดเลือก Matching คุณสมบัติของผู้สมัครกับงาน ว่ามีความเหมาะสมมากน้อยแค่ไหน บางองค์กรก็ใช้ AI ช่วยในการสัมภาษณ์คัดเลือกผู้สมัครแล้วก็มี

มาว่ากันในส่วนของการบริหารค่าตอบแทนและสวัสดิการกันบ้างว่า AI จะเข้ามามีส่วนในการบริหารจัดการในเรื่องนี้อย่างไรบ้าง

ก่อนจะไปถึงจุดนั้น เรามาดูแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของการบริหารค่าตอบแทนและสวัสดิการในอนาคตกันก่อน เพราะด้วยสาเหตุเหล่านี้ ก็เลยทำให้ AI เข้ามามีส่วนในการบริหารจัดการระบบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ

  • การแข่งขันในเรื่องของค่าจ้างเงินเดือนมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากความต้องการของพนักงานในยุคใหม่ ส่วนใหญ่ก็จะมุ่งเน้นไปที่เรื่องของค่าตอบแทนและสวัสดิการที่ดีเป็นเรื่องแรก ๆ ที่ใช้ในการตัดสินใจว่าจะเข้าทำงานกับที่ไหน ดังนั้น องค์กรที่ต้องการคนเก่ง ๆ เข้าทำงาน ก็ต้องมีการปรับปรุงระบบการบริหารค่าตอบแทนและสวัสดิการกันอย่างรวดเร็ว ทันต่อยุคสมัย และทันต่อเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และด้วยการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเหล่านี้ AI ก็เลยเข้ามาช่วยในการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เหล่านี้ได้อย่างแม่นยำมากขึ้น
  • สวัสดิการที่ต้องตอบโจทย์ความแตกต่างของพนักงาน แนวโน้มที่ชัดเจนมาก ๆ อีกเรื่องหนึ่งก็คือ ในองค์กรหนึ่งองค์กรจะมีความแตกต่างของพนักงานในหลายรุ่นมากขึ้น บางองค์กรอาจจะมีพนักงานตั้งแต่รุ่น Baby Boom จนถึง Gen Z กันเลยก็มี ซึ่งความแตกต่างตรงนี้มันทำให้เกิดความต้องการที่หลากหลายของพนักงานในแต่ละกลุ่ม แต่ละ Gen ซึ่งองค์กรจะต้องตอบสนองความต้องการที่แตกต่างกันนี้ให้ได้ เพื่อที่จะได้สามารถดึงดูด เก็บรักษา และสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้กับพนักงานในแต่ละกลุ่มให้ได้ โดยเฉพาะในเรื่องของสภาพแวดล้อมในการทำงาน ที่คนแต่ละ Gen อาจจะมีความต้องการที่แตกต่างกัน หรือในเรื่องของสวัสดิการต่าง ๆ ที่พนักงานในแต่ละ Gen ต่างก็ต้องการแตกต่างกันไปตามช่วงอายุ และสถานภาพของตนเอง
  • การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เร็วมาก ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมในการทำงานมันเร็วมากจริง ๆ เร็วจนคนอาจจะตามกันไม่ทัน และมัวแต่คิดว่า ระบบเดิม ๆ ที่เราทำไว้นั้นมันดีอยู่แล้ว และสามารถใช้งานได้อีกนาน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ระบบ HR และระบบบริหารค่าตอบแทนสวัสดิการต่าง ๆ ที่เราทำไว้ อาจจจะล้าสมัยภายในไม่เพียงกี่เดือนก็มีความเป็นไปได้มากขึ้น ดังนั้นการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เหล่านี้อย่างละเอียด ก็ต้องพึ่ง AI เข้ามาช่วยมากขึ้นเช่นกัน

แล้ว AI จะเข้ามาช่วยในการบริหารค่าตอบแทนและสวัสดิการได้อย่างไร

ปัจจุบัน AI เข้ามาช่วยในเรื่องเหล่านี้ได้อย่างมากมาย และสามารถทำงานได้แม่นยำกว่ามนุษย์เราในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะงานที่ต้องทำซ้ำ ๆ วนไปเรื่อย ๆ ในแต่ละเดือน เช่น งานด้านการ Payroll ซึ่งทำซ้ำทุกเดือน ถ้าข้อมูลในการทำงานของพนักงานถูกเก็บมาได้อย่างถูกต้อง AI ก็จะช่วยคำนวณการจ่ายค่าตอบแทนได้ถูกต้องเช่นกัน โดยที่เรียกว่าความผิดพลาดเท่ากับ 0 เลยก็ว่าได้ นอกจากงานที่ต้องทำซ้ำ ๆ แล้ว งานด้านการวิเคราะห์ข้อมูลในแง่มุมต่าง ๆ AI ก็สามารถทำได้ดีเช่นกัน เราลองมาดูว่า AI จะเข้ามาช่วย HR ในการบริหารค่าตอบแทนและสวัสดิการได้อย่างไรบ้าง

  • ช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูล AI จะสามารถช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลของพนักงานได้ในหลากหลายแง่มุมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลแนวโน้มการใช้ค่าตอบแทนและสวัสดิการต่าง ๆ โดยสามารถวิเคราะห์แยกแยะได้ตามช่วงอายุพนักงาน หรือ สถานภาพครอบครัว หรือดูว่า แนวโน้มความต้องการของพนักงานในองค์กรเราเป็นอย่างไร เพื่อจะได้วางแผนในการบริหารจัดการในเรื่องค่าตอบแทนและสวัสดิการได้อย่างทันต่อเหตุการณ์ นอกจากนั้นแล้ว AI ยังสามารถวิเคราะห์ข้อมูลที่อาจจะเป็นข้อจำกัด และอุปสรรคของการบริหารค่าตอบแทนและสวัสดิการขององค์กรได้อีกด้วย โดยเปรียบเทียบกับแนวโน้มของอุตสาหกรรมทั่วไปในตลาด และสามารถสร้างชุดข้อมูลที่บอกเราได้ว่า ปัจจุบันนี้ ค่าตอบแทนและสวัสดิการตัวไหนบ้างที่น่าจะไม่เหมาะสมสำหรับกลยุทธ์ขององค์กรในอนาคต หรือไม่เหมาะกับความต้องการของพนักงานในยุคใหม่ เป็นต้น

  • ช่วยเปรียบเทียบข้อมูลการจ่ายค่าตอบแทนได้ AI สามารถช่วยในการเปรียบเทียบการจ่ายค่าตอบแทนขององค์กรกับตลาดได้อย่างชัดเจน โดยเริ่มตั้งแต่การเปรียบเทียบงานขององค์กรกับตลาดที่มีความใกล้เคียงกันในหน้าที่และความรับผิดชอบ และสามารถไปดึงข้อมูลการจ่ายค่าตอบแทนในรูปแบบต่าง ๆ ที่ตลาดมี นำมาเปรียบเทียบกับองค์กรของเราเอง เพื่อดูว่าองค์กรเรามีประเด็นในเรื่องการบริหารค่าตอบแทนอย่างไรบ้าง อีกทั้งยังสามารถให้คำแนะนำพื้นฐานเพิ่มเติมได้อีกด้วยว่า ถ้าจะต้องเปลี่ยนแปลง หรือปรับปรุงการบริหารค่าตอบแทนให้สอดคล้องกับตลาดแล้ว จะต้องปรับปรุง หรือเปลี่ยนแปลงค่าตอบแทนตัวไหนบ้าง

  • ช่วยในการบอกความเหมาะสมของค่าตอบแทนของพนักงานกับผลงานได้ AI ยังสามารถช่วยเราวิเคราะห์ได้อีกว่า ผลงานของพนักงานกับค่าตอบแทนที่ให้นั้น อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมหรือไม่ เมื่อเทียบกับตลาดที่เราแข่งขันด้วย โดยการวิเคราะห์จากผลงานของพนักงานแต่ละคน และดูระดับค่าตอบแทนที่ได้รับ ว่ามีความเหมาะสมกันหรือไม่ ใครที่ได้รับค่าตอบแทนสูงเกินไปเมื่อเทียบกับผลงานที่ทำได้ ฯลฯ AI สามารถวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้ให้เราเห็นชัดเจนมาก เพื่อทำให้ผู้บริหารและ HR สามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้ประกอบการตัดสินใจในเรื่องของการพัฒนาพนักงาน และการบริหารรางวัลผลงานพนักงานได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น

  • ช่วยทำนายความต้องการของพนักงานได้ AI สามารถช่วย HR ในการทำนาย และวางแผนอนาคตของพนักงานได้ โดยจะสามารถวิเคราะห์ถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของพนักงานแต่ละคน และดึงเอาแนวโน้มความต้องการของพนักงานแต่ละคนออกมาได้ตามข้อมูลที่มีอยู่ ซึ่ง HR ก็จะสามารถนำมาบริหารจัดการระบบสวัสดิการขององค์กรให้ตอบสนองความต้องการของพนักงานได้มากขึ้น เช่น AI สามารถวิเคราะห์ได้ว่า อีก 1-2 ปี พนักงานคนนี้จะมีบุตร และจะมีความต้องการสวัสดิการด้านครอบครัวมากขึ้นในด้านใด ซึ่ง HR ก็จะสามารถวางแผนในเรื่องของงบประมาณสวัสดิการพนักงานได้อย่างแม่นยำมากขึ้น และวางแผนในการนำเสนอสวัสดิการที่เหมาะสมให้กับพนักงานแต่ละคนได้

  • ช่วยในการบริหารสวัสดิการแบบยืดหยุ่นของพนักงานได้ เมื่อองค์กรมีการออกแบบระบบสวัสดิการที่ยืดหยุ่นไปตามความต้องการของพนักงานแต่ละคน ก็จำเป็นที่จะต้องมีเครื่องมือในการบริหารจัดการระบบ AI ก็สามารถเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการระบบสวัสดิการพนักงานได้ละเอียดถึงความต้องการของพนักงานแต่ละคนเลยทีเดียว โดยที่พนักงานแทบจะไม่ต้องเข้ามาวุ่นวายอะไรเลย ระบบสามารถที่จะให้พนักงานเลือกสวัสดิการตั้งแต่ต้นปี และบริหารการเบิกจ่ายสวัสดิการได้ตามสิทธิของพนักงานแต่ละคน รวมทั้งยังสามารถที่จะเสนอแนะ และให้ข้อมูลจำนวนและประเภทสวัสดิการที่ยังเหลืออยู่ในแต่ละช่วงเวลาได้ ยิ่งไปกว่านั้น ยังสามารถช่วยบริหารจัดการการใช้สวัสดิการของพนักงานในแต่ละช่วงเวลาของปีได้อย่างเหมาะสมอีกด้วย เช่น สามารถแจ้งเตือนพนักงานได้ว่า ตอนนี้เหลือวันพักร้อนอีกกี่วัน โดยที่สามารถไปดึงข้อมูลในอดีตของพนักงานมาได้ว่า ช่วงเวลาที่มักจะลาพักร้อนคือช่วงใด เพื่อเอามาเป็นข้อมูลในการแจ้งเตือน บางระบบสามารถให้ข้อเสนอแนะได้อีกด้วยว่า ควรจะไปพักผ่อนที่ใด และวางแผนการเที่ยวให้พนักงานได้ทั้งหมด

  • ช่วยทำนายอัตราการลาออก และแนวโน้มได้ AI ยังสามารถช่วย HR ในการวางแผนกำลังคนได้อีกด้วยเช่นกัน โดยสามารถที่จะทำนายว่าอัตราการลาออกของพนักงานในแต่ละช่วงเวลาเป็นอย่างไร อีกทั้งสาเหตุของการลาออกน่าจะมาจากสาเหตุใด ซึ่งสามารถช่วย HR ในการวางแผนเพื่อป้องกันการลาออกของพนักงานได้ อีกทั้งยังนำข้อมูลเหล่านี้ มาประกอบการปรับปรุงระบบ HR ให้ดีขึ้นได้

  • ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลด้าน Engagement ของพนักงาน ถ้าองค์กรเรามีข้อมูลพนักงานมากขึ้น ลึกขึ้น AI ยังสามารถที่จะช่วยเราวิเคราะห์ปัจจัยทางด้าน Engagement ของพนักงานได้ว่า พนักงานจะ Engage หรือไม่ Engage ในด้านไหนอย่างไรบ้าง รวมทั้งสามารถวิเคราะห์ความเห็นของพนักงาน ออกมาเป็นแนวโน้มว่า ถ้ามี Feedback ออกมาในประเด็นใดที่มากพอ ก็สามารถสรุปได้ว่า ขณะนี้มุมมองของพนักงานต่อการบริหารทรัพยากรบุคคลขององค์กรนั้นเป็นอย่างไร พนักงานไม่สบายใจในเรื่องอะไรบ้าง และมีความสุขในการทำงานจากเรื่องอะไรบ้าง เราจะได้เอาข้อมูลเหล่านี้มาสร้างและต่อยอดระบบ HR ในด้านต่าง ๆ เพื่อตอบโจทย์ Engagement ของพนักงานได้ทันต่อความต้องการของพนักงาน

จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า AI นั้นเข้ามามีส่วนในการบริหารทรัพยากรบุคคลได้มากขึ้นในทุกด้าน โดยเฉพาะในด้านการบริหารค่าตอบแทนและสวัสดิการ ซึ่งถือเป็นปัจจัยพื้นฐานหลักของการบริหารคน เพื่อทำให้ HR สามารถที่จะบริหารจัดการในเรื่องค่าตอบแทนและสวัสดิการได้ทันต่อเหตุการณ์ เพื่อสุดท้ายจะได้ไปตอบโจทย์เรื่องของ Talent Management ที่มุ่งทำให้องค์กรสร้างความยั่งยืนได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

ใส่ความเห็น

บลอกที่ WordPress.com .

Up ↑