ใครที่ทำงานในตำแหน่งผู้จัดการ หรือผู้บริหาร ที่ต้องดูแลและบริหารจัดการลูกน้องก็น่าจะเคยรู้สึกกันบ้างว่า จะทำอย่างไรให้ลูกน้องเกิดแรงจูงใจในการทำงาน ซึ่งเรื่องนี้ ก็พูดกันมาเป็นร้อยปีแล้ว ตั้งแต่มีการศึกษาเรื่องแรงจูงใจของคน แต่จนทุกวันนี้ ก็ยังคงต้องสอนต้องคุยกันในประเด็นนี้อยู่ เนื่องจากยุคสมัยเปลี่ยนไป ความต้องการของคนเราก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย ทำให้เรื่องของการสร้างแรงจูงใจจึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงให้ทันยุคทันสมัยอยู่เสมอ
แต่อย่างไรก็ดี พื้นฐานของคนเรา ถ้ามองในเรื่องของแรงกระตุ้นให้เกิดความต้องการในการทำงาน ล้วนมาจากพื้นฐานจุดเดียวกันก็คือ คนเราทุกคนล้วนต้องการการได้รับความสำคัญ คนเราต้องการที่จะให้คนอื่นมองว่าเราเป็นคนสำคัญสำหรับเขา ดังนั้นเคล็ดลับการจูงใจลูกน้องให้ได้ผลก็คือ “การทำให้ลูกน้องของเรารู้สึกว่าเขาเป็นคนสำคัญสำหรับเรา” นั่นเอง
โดยทั่วไปหัวหน้ามักจะแสดงตนเองว่าตัวเองสำคัญเพื่อให้ลูกน้องได้เห็น และเคารพเรามากขึ้น เช่น เวลาลูกน้องทำงานไม่ได้ หรือเกิดความผิดพลาด ลูกพี่ก็จะเข้าไปสอน โดยบอกเป็นนัยๆ ว่า ตัวเองเก่งกว่า เช่น
“บอกแล้วว่าให้ใช้วิธีนี้ พี่มีประสบการณ์เรื่องนี้มาอย่างดีตั้งแต่ในอดีต เชื่อมือพี่ได้เลย” หรือ
“รู้มั้ยว่า พี่ผ่านงานด้านนี้มาเยอะมาก รู้ว่าอะไรควรทำ และอะไรไม่ควรทำ และลองมาหมดแล้ว” หรือ
“ผมผ่านงานด้านนี้มา กว่า 20 ปีแล้ว คุณน่าจะเห็นความสำเร็จของผมที่ผ่านมา”
ฯลฯ
คำพูดตัวอย่างข้างต้นเป็นตัวอย่างคำพูดที่หัวหน้ามักจะใช้กับลูกน้องในเวลาที่ต้องการให้ลูกน้องเชื่อถือเรา คำพูดแนวนี้มักจะเป็นการแสดงว่าตัวเองเป็นคนสำคัญมากกว่าที่จะทำให้คนอื่นรู้สึกว่าเขาเป็นคนสำคัญ
แต่สิ่งที่หัวหน้ามักจะลืมไปก็คือ การที่เราจะได้ใจลูกน้องนั้น เราจะต้องทำให้ลูกน้องรู้สึกเป็นคนสำคัญ มากกว่าที่จะโชว์ว่าตัวเองสำคัญกว่า หรือเก่งกว่า เพราะมันไม่มีประโยชน์อะไรเลย
เคยมีลูกน้องบางคนบ่นให้ฟังว่า “นายเรานี่เก่งไปซะทุกเรื่องเลยเนอะ ถามอะไร บอกอะไร ก็รู้แล้ว เคยทำมาแล้วซะทุกอย่าง เหมือนเราไม่มีความสำคัญสำหรับเขาเลย แบบนี้ให้เขาทำงานไปคนเดียวจะดีกว่า”
ดังนั้นการที่เราจะจูงใจลูกน้องให้ได้ และให้เขาทำงานให้เราอย่างเต็มความสามารถ ก็คือ การทำให้เขารู้สึกว่า เขามีความสำคัญสำหรับเรามาก เราจะขาดเขาไม่ได้ในงานนั้นๆ ซึ่งตรงนี้หัวหน้าก็สามารถที่จะใช้คำพูด หรือสีหน้าท่าทาง เพื่อเป็นเครื่องมือในการสื่อสารได้ เช่น
“งานนี้ผมต้องอาศัยคุณแล้วล่ะครับ เพราะคุณเองมีประสบการณ์ด้านนี้มาโดยตรง ผมฝากด้วยนะครับ” หรือ
“จากประสบการณ์ในงานโครงการลักษณะนี้ของคุณ ทำให้ผมเชื่อมั่นในฝีมือคุณมาก ยังไงก็ต้องฝากให้คุณช่วยลุยต่อแล้วล่ะครับ งานนี้ขาดคุณไม่ได้เลยครับ” หรือ
“งานที่ทำมาให้ผมนั้น ยังมีข้อผิดพลาดอยู่เล็กน้อย ซึ่งอาจเป็นที่ผมพูดไม่ชัดเจนเอง ผมจะอธิบายให้ฟังอีกครั้งนะครับ แล้วก็คงต้องฝากให้คุณช่วยแก้ไขให้หน่อยนะครับ” หรือ
“เมื่อวานนี้เห็นบอกว่าไม่สบาย วันนี้เป็นอย่างไรบ้าง ดีขึ้นบ้างหรือยัง” หรือ
ฯลฯ
คำพูดที่ยกตัวอย่างนั้น เป็นเพียงตัวอย่าง ที่แสดงให้เห็นถึงการทำให้ลูกน้องของเรารู้สึกว่าเขามีความสำคัญสำหรับเราในการทำงาน มันเป็นการบอกเขากลายๆ ว่า เขามีฝีมือ และมีความสามารถในการทำงานให้กับเรา และเราเองก็ต้องพึ่งเขาในงานนั้นๆ
ตรงข้าม ถ้าเรามัวแต่ยกตนข่มท่าน และพยายามทำให้คนอื่นรู้ว่าเราเก่ง เราสำคัญ ถ้าทำมากเกินไป ก็จะไม่ได้ใจจากใครเลย แต่อาจจะมีการซุบซิบนินทาจากลูกน้องว่า “ถ้าเก่งนัก ก็ทำเองล่ะกัน”
ใส่ความเห็น