อยากให้ลูกน้องทำงานเก่ง แต่หัวหน้าไม่เคยสอนงาน แล้วจะเก่งได้อย่างไร ตอนที่ 2

เมื่อวานนี้ได้เขียนถึงเรื่องของทำไมหัวหน้าถึงไม่ค่อยสอนงานกัน ทั้งๆ ที่อยากให้ลูกน้องของตัวเองเก่ง และทำงานได้ดี ก็ได้รับทราบสาเหตุกันเบื้องต้นไปแล้ว วันนี้จะมาคุยกันถึงเรื่องของการจะทำอย่างไรให้การสอนงานได้ผลอย่างที่ควรจะเป็น

เนื่องจากในยุคนี้ หลายๆ องค์กรหันมาเน้นให้หัวหน้างาน และผู้จัดการทุกคนต้องสอนงานลูกน้องของตนเองมากขึ้น บางบริษัทกำหนดเป็นนโยบายอย่างชัดเจนกันเลย แต่ผลที่ได้คือ “เหมือนเดิม” ก็คือ ไม่มีใครคิดจะสอนงานกันอย่างจริงๆ จังๆ อย่างมากก็เรียกพนักงานมานั่งฟัง แล้วหัวหน้าก็พูดไปเรื่อย แล้วก็บอกว่าสอนงานแล้วนะ ผลที่ออกมาก็คือ ไม่มีอะไรดีขึ้น พนักงานก็นั่งงงๆ บ้างก็มานั่งฟังตามหน้าที่พนักงานที่ดี ให้จบๆ ไป จะได้ไปทำงานต่อ

หัวหน้าที่จะต้องสอนงานลูกน้องนั้นจะต้องคิดใหม่ครับ รวมทั้งต้องเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงจากตนเองก่อนเลย ลองมาดูกันนะครับว่า หัวหน้าที่สอนงานอย่างได้ผลนั้นจะต้องเปลี่ยนแปลงตนเองในประเด็นใดบ้าง

  • หัวหน้าและผู้จัดการจะต้องเปลี่ยนแนวความคิดใหม่ โดยจะต้องคิดเสมอว่า พนักงานทุกคนของเรานั้นสามารถพัฒนาได้ สิ่งที่เราจะต้องทำก็คือปลดล็อคให้พนักงานได้รับรู้ถึงศักยภาพของตนเองให้ได้ ดังนั้นหน้าที่ของคนสอนงานก็คือ ต้องทำให้ผู้ที่ถูกสอนงานเข้าใจ และตระหนักว่าตนเองนั้นสามารถทำงานที่ยากขึ้นได้ และสามารถพัฒนาไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

  • ต้องใจเย็น คนที่สอนงานเก่งๆ นั้น จะเป็นคนที่มีความใจเย็นอย่างมาก เพราะการสอนงานนั้นต้องใช้เวลา จะสอนวันนี้แล้ว พรุ่งนี้ทำได้ถูกต้องสมบูรณ์เลย คงเกิดขึ้นกับพนักงานไม่กี่คนเท่านั้น ส่วนใหญ่ก็ยังคงมีความผิดพลาดเกิดขึ้นอยู่บ้าง ดังนั้น คนที่สอนงานจะต้องใจเย็น และพยายามทำความเข้าใจสิ่งที่พนักงานทำว่าทำไมถึงผิดพลาด และทำให้พนักงานตระหนักถึงสาเหตุของความผิดพลาด เพื่อที่จะได้ไม่ให้เกิดขึ้นในคราวหน้า

  • เข้าใจลูกน้องแต่ละคน หัวหน้าที่สอนงานเก่งๆ นั้นจะมีความเข้าใจข้อจำกัด จุดแข็ง จุดอ่อนของลูกน้องแต่ละคนอย่างดี และสามารถออกแบบวิธีการสอนงานให้เหมาะสมกับลูกน้องแต่ละคนได้ เพราะคนเราแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน บางคนมีใจอยากทำงานมาก แต่ไม่รู้เทคนิควิธีการ เราก็สอนในเรื่องของเทคนิควิธีการในการทำงานให้ แต่ลูกน้องบางคนรู้เทคนิคการทำงานมาหมดแล้ว แต่ไม่มีผลงานอะไรออกมาเลย ซึ่งลูกน้องคนนี้อาจจะมีปัญหาในเรื่องของแรงจูงใจในการทำงาน คนสอนงานก็จะต้องไปมุ่งเน้นที่การสร้างพลังใจในการทำงานมากกว่า เรื่องของเทคนิคการทำงาน เป็นต้น

  • เปลี่ยนจากการบอก เป็นการถาม การสอนงานที่ดี และให้เกิดผลอย่างยั่งยืนนั้น คนสอนจะต้องทำให้ผู้ถูกสอนเกิดความเข้าใจด้วยตนเอง มากกว่าที่จะต้องไปบอกเล่าเรื่องราวทั้งหมด ดังนั้นเทคนิคการสอนงานที่จะให้เกิดความยั่งยืน และพนักงานสามารถเข้าใจได้ด้วยตนเอง และเกิด commitment ด้วยตนเอง ก็คือการสอนงานโดยใช้คำถาม คนสอนจะถามคำถามไปเรื่อยๆ เช่น “เป้าหมายที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้คืออะไร อยากเห็นผลอะไรเกิดขึ้นบ้าง” จากนั้นก็อาจจะถามข้อเท็จจริงต่างๆ ว่า “สภาพปัจจุบัน หรือข้อเท็จจริงต่างๆ ที่เกิดขึ้นมีอะไรบ้างไหนลองเล่าให้ฟังหน่อย มีอะไรเพิ่มเติมอีกหรือไม่” จากนั้นก็สอบถามเกี่ยวกับทางเลือกในการแก้ไขปัญหาเช่น “จากเป้าหมายที่ว่ามา และจากข้อเท็จจริงต่างๆ ที่เล่ามา ไม่ทราบว่าพอจะมีทางเลือกในการแก้ไขปัญหานี้อย่างไรบ้าง” “แต่ละทางเลือกนั้นมีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง” ฯลฯ ด้วยคำถามเหล่านี้ จะทำให้พนักงานคิดเอง ตอบเอง และแถมยังให้สัญญากับตัวเองด้วยซ้ำว่าเขาจะต้องทำอย่างไรบ้าง เพื่อแก้ไขปัญหานั้น โดยที่หัวหน้างานไม่ต้องบอกอะไรเลย วิธีการนี้เป็นวิธีการที่ทำให้ลูกน้องเก่งขึ้นอย่างรวดเร็วมาก และหัวหน้าเองก็ไม่ต้องมานั่งบ่นว่า สอนเท่าไหร่ก็ไม่รู้จักทำ เพราะวิธีนี้คนสอนแค่ถามไปเรื่อยๆ เพื่อให้พนักงานตอบเอง

การสอนงานที่ดีนั้น ผู้สอน และผู้ที่ถูกสอนจะต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันเป็นพื้นฐานมาก่อน ถ้าทั้งคู่ไม่ลงรอยกัน มีปัญหาขัดแย้งกัน ฯลฯ การสอนงานจะไม่เกิดผลใดๆ เลยครับ เพราะคนสอนเองก็ไม่อยากจะสอน บางครั้งก็สอนด้วยความจำใจมากกว่าเต็มใจ คนเรียนเองก็นั่งฟังๆ ไปอย่างนั้น ไม่ได้ตั้งใจอะไร เพราะรู้สึกว่าไม่อยากฟัง ไม่อยากให้สอน ผลสุดท้ายก็จะเสียเวลากันทั้งสองฝ่ายครับ

ดังนั้นการที่เราจะสอนงานใครให้ได้ผล ต้องเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจคนๆ นั้นอย่างถ่องแท้ และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันไว้ แล้วการสอนงานจะได้ผลตามมาครับ

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

บลอกที่ WordPress.com .

Up ↑

%d bloggers like this: