สิ่งที่หลาย ๆ คนเข้าใจผิด เวลาที่เราต้องวางระบบในการบริหารพนักงานคนเก่ง หรือ Star ขององค์กรนั้น ก็คือ เรามักจะกลัวว่า Star จะลาออกไปทำงานที่อื่น แล้วจะทำให้องค์กรของเรามีปัญหาตามมา ก็เลยให้สิทธิกับพนักงานคนเก่งอย่างมากมายในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของค่าตอบแทน สวัสดิการ และสิทธิในการทำงานที่แตกต่างจากพนักงานคนอื่นอย่างเห็นได้ชัด
จนทำให้พนักงานกลุ่มนี้เกิดความรู้สึกเหนือกว่าคนอื่น และคิดว่า ตนเองแน่กว่าคนอื่น ตนเองเป็นคนที่องค์กรขาดไม่ได้ พอคิดได้แบบนั้น พฤติกรรมของ star ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไปในทางที่แย่ลงเรื่อย ๆ เริ่มทำงานแย่ลง เริ่มส่งงานช้า เริ่มที่จะมีพฤติกรรมการทำงานในแบบที่ทำให้ผู้บริหารไม่ชอบใจ ทำงานสาย เข้าประชุมช้า ฯลฯ
เพราะคิดเอาเองว่า บริษัทเขาตนไม่ได้ ก็เลยเริ่มกร่างมากขึ้น
ผมคิดว่า ถ้าพนักงานคนนั้นมีพฤติกรรมในแบบที่กล่าวไปข้างต้น ก็น่าจะปลดเขาออกจาก Star ได้ในทันที เพราะนี่ไม่ใช่พฤติกรรมของคนที่เป็น Star ตัวจริงอย่างแน่นอน เพราะด้วยพฤติกรรมแย่ ๆ เหล่านั้น ล้วนทำให้เกิดความขัดแย้งในการทำงานขึ้นได้ และทำให้ผลงานมีปัญหาตามมา
ผู้บริหารหลายคนกลัว ว่าถ้าไม่ยอมพนักงานคนนี้ เดี๋ยวจะยิ่งแย่ ผู้บริหารบางคนไม่จะคิดลงโทษด้วยซ้ำไป ถ้า Star ทำผิดระเบียบบ่อย ๆ เพราะกลัวมีปัญหากับคนเก่ง ๆ
เราบริหาร Star Talent ขององค์กรให้แตกต่างกับพนักงานคนอื่นได้ แต่อย่าให้ความแตกต่างเหล่านี้กลายเป็นตัวสร้างปัญหาทางด้านพฤติกรรมในการทำงานของพนักงานตามมา
คำว่า Star คือ พนักงานที่ ดีทั้งผลงาน ดีทั้งพฤติกรรมในการทำงาน และมีศักยภาพในการสร้างสรรค์อนาคตใหม่ๆ ให้กับองค์กรได้
ระบบในการดูแล จึงควรจะอยู่ในทางสายกลาง ไม่ให้สิทธิจนกระทั่งมันเลยขอบเขตอันสมควรไป
ผู้บริหารบางคนอาจจะอ้างว่า ถ้าเราไม่ทำแบบนั้น เดี๋ยวเขาลาออกไปเราจะแย่
ซึ่งถ้าเราลองพิจารณาให้ดีนะครับ ว่า พนักงานที่แสดงออกซึ่งพฤติกรรมแย่ ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยเหตุผลว่า เขาคือคนเก่งขององค์กรแบบนี้ ใช่คนเก่งตัวจริงที่องค์กรควรจะเก็บรักษาไว้จริง ๆ หรือ
ใส่ความเห็น