ผมเชื่อว่าน้อยคนที่จะไม่รู้จัก Netflix เป็นบริษัท Streaming ภาพยนตร์ ซีรี่ย์ต่างๆ ที่ใหญ่ที่สุดในโลกตอนนี้ก็ว่าได้ เป็นบริษัทที่เริ่มต้นจากร้านเช่า VDO เล็กๆ เติบโตมามาเป็นร้านเช่าแผ่น DVD จากนั้นก็ค่อยๆ มา Streaming ผ่านออนไลน์ แล้วก็เริ่มที่จะสร้างหนังสร้างซีรี่ย์ของตนเอง ฯลฯ ถือว่าเป็นบริษัทที่ปรับตัว และเปลี่ยนแปลงตัวเองได้เร็วมาก อีกทั้งยังขยายธุรกิจออกไปทั้งต้นน้ำ ปลายน้ำ อย่างต่อเนื่อง
อีกทั้งยังมีหนังสือที่ออกมาเกี่ยวกับบริษัทนี้อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดที่ออกมาก็คือ หนังสือชื่อว่า No Rules Rules ซึ่งถ้าได้อ่านแล้วก็ต้องอึ้งไปกับวิธีการคิดและการบริหารจัดการ โดยเฉพาะในเรื่องของการบริหารทรัพยากรบุคคล และวัฒนธรรมองค์กรของเขา
ผู้บริหารหลายๆ องค์กรในบ้านเราได้อ่านแล้วก็รู้สึกว่า นี่คือองค์กรที่เขาอยากได้ เขาฝันไว้ว่าจะมีองค์กรแบบนี้ มีพนักงานแบบนี้ แต่ทำไมในความเป็นจริงถึงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ที่จะทำให้องค์กรไม่ต้องมีกฎเกณฑ์ ระเบียบข้อบังคับต่างๆ มากมาย
ผู้บริหารหลายคนอ่านแล้วก็คุยกับฝ่ายบุคคลว่า เราจะเลิกกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่มันยุบยิบไปหมดนั้น ให้น้อยลงได้บ้างหรือไม่ บางอย่างเลิกไปเลยได้หรือไม่ ฝ่ายบุคคลเองก็ยากที่จะตอบได้ บางคนก็บอกว่า เป็นไปได้นะ ถ้าเราเปลี่ยนพนักงานทั้งหมดที่ทำงานอยู่ยกชุดเลย
ในหนังสือที่ชื่อว่า No Rules Rules นั้น ผู้เขียนได้ย้ำอย่างชัดเจนว่า ถ้าเราจะสร้างองค์กรที่ไม่ต้องมีกฎเกณฑ์อะไรมากมาย และพนักงานทุกคนสามารถที่จะมีความรับผิดชอบในตัวเอง และรับผิดชอบต่อบริษัทได้นั้น เราจะต้องมีเงื่อนไขต่อไปนี้
- ต้องหาพนักงานที่เก่งที่สุดเข้ามาทำงานกับบริษัทให้ได้ ในที่นี่ก็คือต้องสรรหาคัดเลือกคนเก่งจริงๆ เข้ามาทำงานกับเรา เพื่อที่จะสร้างสภาพแวดล้อมที่มีแต่คนเก่งทำงานร่วมกัน คนเก่งในที่นี่ก็คือ คนที่มีความรับผิดชอบสูง เป็นมืออาชีพมากๆ ไม่ทำงานแบบสักแต่ว่าทำ แต่ต้องมีความเต็มที่กับงาน แต่ถ้าพนักงานคนไหนที่ไม่รับผิดชอบต่อตนเองและองค์กร ไม่เป็นมืออาชีพ ทำงานแบบสะเพร่า สุกเอาเผากิน ฯลฯ ก็จะไม่สามารถที่จะอยู่ทำงานที่นี่ได้ บริษัทจะให้พนักงานกลุ่มนี้ออกไปจากองค์กร
- เพิ่มความตรงไปตรงมาในการทำงาน เมื่อคนเก่งเยอะๆ ก็จะมีการเรียนรู้กันเองในกลุ่มคนเก่งๆ ด้วยกัน บริษัทก็ต้องส่งเสริมให้คนเก่งเหล่านี้กล้าที่จะคุยกันตรงๆ Feedback กันเองในเรื่องของการทำงานได้อย่างตรงไปตรงมา แต่ต้องมีเจตนาที่ดีเท่านั้น กล้าติชมกันต่อหน้าจนเป็นนิสัย และไม่มีการแทงกันข้างหลัง
และเมื่อองค์กรของเรามีทั้งสองอย่างข้างต้นแล้ว เราก็จะสามารถที่จะลดการควบคุมการทำงานลงได้ไม่ว่าจะเป็นกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ยกเลิกขั้นตอนการอนุมัติต่างๆ ที่มีแต่ความซับซ้อนยุ่งยากต่อการทำงานลงไปได้ เพราะทุกคนในบริษัทล้วนแต่ยึดมั่นในคำว่า “อิสระและความรับผิดชอบ” ก็คือ ทำงานกันได้อย่างมีอิสระ แต่ต้องรับผิดชอบต่อผลงาน และต่อองค์กรด้วยเช่นกัน
ใครที่หลุดหรือเริ่มแสดงให้เห็นว่าไม่รับผิดชอบ ก็จะมีคนเก่งคนอื่น ที่จะคุยตรงๆ Feedback กันตรงๆ เมื่อรับทราบแล้วก็ปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานของตนเองเสียใหม่ แต่ถ้าไม่เปลี่ยน สุดท้ายองค์กรก็เอาคนคนนี้ออกไป เพราะถือว่าไม่เหมาะสมกับองค์กร
ด้วยวัฒนธรรมการทำงานแบบนี้ ก็เลยทำให้พนักงานเก่งๆ ทุกคนต้องรับผิดชอบต่องานของตนเอง และต้องรับผิดชอบต่อบริษัทด้วย จะทำอะไร ก็ต้องมองทั้งสองด้านให้สมดุล ไม่ใช่แบบว่าเอาผลงานตนเองให้ได้ดีที่สุด โดยที่บริษัทจะต้องเสียค่าใช้จ่ายมากมายเกินกว่าที่จะรับได้ แบบนี้ก็ถือว่าพนักงานคนนี้ไม่มีความรับผิดชอบตามนิยามของ Netflix นั่นเอง
ถามว่าถ้าทำได้แบบที่เขาเขียนไว้แล้ว จะช่วยลดเรื่องของการควบคุมลงไปได้จริงหรือไม่ ต้องตอบว่า จริงนะครับ ทางที่เคยลองทำมา เราเลือกพนักงานที่มีความรับผิดชอบต่อตนเองสูงๆ หน่อย แล้วให้อิสระเขาในการทำงาน จากที่บ้าน ไม่มีการกำหนดวันลาอะไรมากมาย ไม่ต้องมีกฎเกณฑ์ที่ต้องบอกให้พนักงานเดินตามเยอะแยะ เพราะเราเชื่อในความรับผิดชอบต่อตนเองและต่องานของพนักงาน ผลก็คือ พนักงานก็จะรับผิดชอบต่อตนเองและงานให้กับบริษัทได้จริงๆ โดยที่เราไม่ต้องไปจ้ำจี้จ้ำไชอะไรมากมาย
แต่หลายองค์กรอาจจะบอกว่า คงจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะด้วยพนักงานที่มีอยู่ในองค์กรนั้น ไม่ได้เป็นแบบนั้นเลย คำถามที่ตามมาก็คือ ทำไมเราถึงไม่หาพนักงานให้ได้แบบนั้นล่ะ และทำไมเราถึงไม่สร้างบรรยากาศในการทำงานที่มุ่งเน้นให้ทุกคนรับผิดชอบต่อตนเองและองค์กร สาเหตุเหตุที่ผมพบก็คือ ที่องค์กรยังไม่กล้าที่จะให้อิสระในการทำงานแก่พนักงาน ก็เพราะ เขายังไม่เชื่อมั่นในตัวพนักงานที่เขาหามาว่า จะมีวินัยในตนเอง และสามารถรับผิดชอบต่อตนเองและต่อองค์กรได้ ก็เลยต้องสร้างกฎเกณฑ์ต่างๆ ขึ้นมาเพื่อไม่ให้พนักงานออกนอกลู่นอกทางนั่นเองครับ
ใส่ความเห็น