เคล็ดลับ 5R ในการสร้างแรงจูงใจให้พนักงานและทีมงาน

ความท้าทายของคนที่เป็นผู้บังคับบัญชาที่ต้องดูแลทั้งงาน และคน นั้น ก็คือ การจะทำอย่างไรให้พนักงานทุกคนในทีมงานสามารถสร้างผลงานได้อย่างดี ตรงตามเป้าหมายที่กำหนด และมีปัญหาความขัดแย้งกันน้อยที่สุด หรือ ถ้ามีความขัดแย้งก็สามารถที่จะจัดการกับมันได้อย่างดี

ประเด็นพื้นฐานที่สำคัญของคนที่เป็นผู้บังคับบัญชาจะต้องทำให้ได้ ก็คือ การสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้กับพนักงาน และทีมงานของตน ปัจจุบันมีแนวทางในการสร้างแรงจูงใจมากมาย วันนี้ผมนำอีกแนวทางหนึ่งมาเสนอ เป็นแนวทางที่ R. Brayton Bowen ได้เขียนไว้ในบทความชื่อว่า Practice the Five R’s to Motivate Workers เขาบอกว่าให้ทำ 5R เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงาน โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • Responsibility R ตัวแรกที่พูดถึงก็คือ Responsibility แปลเป็นไทยแบบง่ายๆ ว่า ความรับผิดชอบ แล้วความรับผิดชอบที่ว่านี้มันสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงานได้อย่างไร ลองคิดถึงงานที่ตนเองทำอยู่ก็ได้นะครับ ถ้าทำงานแบบเดิมๆ ไปเรื่อยๆ เราจะรู้สึกอย่างไร คนส่วนใหญ่จะรู้สึกเบื่อ เพราะมันเหมือนเดิมทุกวัน พอเบื่อก็เริ่มหมดแรงจูงใจในการทำงาน ดังนั้นการที่จะเพิ่มแรงจูงใจให้กับพนักงานทางแรกก็คือ การเพิ่มความรับผิดชอบของงานให้กับพนักงาน (ไม่ใช่การเพิ่มปริมาณงานนะครับ) อาจจะเป็นการให้พนักงานคิดหาวิธีการที่จะทำงานให้เร็วขึ้น ดีขึ้น หรือ ใช้ต้นทุนที่น้อยลง ฯลฯ และการที่หัวหน้างานมอบหมายให้พนักงานทำงานที่ท้าทายมากขึ้นนั้น มันเป็นสัญญานอย่างหนึ่งที่บอกกับพนักงานว่า เขามีความสามารถที่จะทำงานยากขึ้นได้ พอพนักงานได้รับสัญญานนี้จากหัวหน้างาน เขาจะรู้สึกว่าหัวหน้าไว้ใจเขาให้เขาทำงานที่ยากขึ้น เมื่อเขารู้สึกอย่างนั้น เขาก็จะยิ่งอยากทำให้มันดี เพื่อให้หัวหน้าเห็นว่าเขาทำได้จริงๆ แต่แค่ Responsibility นั้นไม่พอ ต้องต่อด้วย
  • Respect R ตัวที่สองก็คือ การยอมรับนับถือและการให้เกียรติพนักงานที่เราดูแลอยู่ ดูแลเขาในฐานะที่เขาเป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกับเรา เมื่อพนักงานทำงานได้ดี ก็ยินดีไปกับเขา ไม่ใช่ไปอิจฉา และพยายามจะหาทางเอาผลงานของเขามาเป็นของเรา หรือในทางตรงกันข้าม ถ้าพนักงานทำงานผลงานออกมาไม่ดี ก็ไม่ควรจะด่า หรือต่อว่าอย่างรุนแรง โดยเฉพาะตำหนิหรือต่อว่าต่อหน้าเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ สิ่งที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ การให้เกียรติพนักงานทุกคนที่อยู่ใต้บังคับบัญชาอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ใช่ชอบใครก็ให้เกียรติคนนั้น ไม่ชอบใครก็ไม่สนใจ ตัดหางปล่อยวัด หัวหน้างานที่จะได้ใจลูกน้องนั้นจะต้องปฏิบัติต่อลูกน้องทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน โดยปราศจากความลำเอียง
  • Relationships R ตัวที่สามก็คือ การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในทีมงาน และพนักงานแต่ละคน การพูดคุยกัน การมีปฏิสัมพันธ์อันดีต่อกัน เช้ามาหัวหน้าสามารถที่จะทักทายลูกน้องก่อนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องวางตัวเจ้ายศเจ้าอย่าง ถ้าลูกน้องไม่ทัก เราก็ไม่สนใจ หัวหน้าทุกคนจะต้องสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน ทำให้ทีมงานมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน นอกจากนั้นถ้าคนในทีมมีปัญหากัน หัวหน้างานก็ต้องช่วยเข้ามาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงๆใจ และอย่างให้เกียรติซึ่งกันและกันด้วย เพื่อให้ปัญหานั้นหมดไป และได้ทีมงานที่แข็งแกร่งขึ้นมา
  • Recognition R ตัวที่สี่ก็คือ การให้การชื่นชม และยอมรับในผลงานที่ออกมาของพนักงานแต่ละคน เมื่อไรที่พนักงานทำงานได้ดี หัวหน้าก็ต้องชมเชย และทำให้พนักงานรู้ว่า หัวหน้าเห็นฝีมือของเขานะ ให้พยายามทำดีต่อไป หรือการที่พนักงานทำผลงานได้ไม่ดีนัก หัวหน้างานก็ต้องให้ความสำคัญโดยการสอนงาน และพัฒนาพนักงานให้เขาสามารถปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น แรงจูงใจก็จะเกิดขึ้น ไม่ใช่ทำไม่ดี ก็ด่ากันอย่างเดียว โดยไม่สนใจที่จะสอนงานลูกน้อง ถ้าเป็นแบบนี้ เมื่อเกิดปัญขึ้นอีกในอนาคต พนักงานก็ไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะไม่รู้วิธีแก้ไข รู้เพียงแต่ว่า ถ้าทำผิดอีกต้องรีบหลบซ่อนไม่ให้นายรู้ เพราะถ้านายรู้ก็โดนด่าแน่นอน ปัญหาก็จะถูกซุกไว้ จากปัญหาเล็กๆ ที่แก้ง่าย ก็จะสะสมจนกลายเป็นปัญหาใหญ่ และแก้ไขยาก
  • Reward R ตัวที่ห้า ก็คือ การให้รางวัลตอบแทนผลงาน และพฤติกรรมที่ดีของพนักงาน นอกจากคำชมเชย และการตระหนักถึงความสำคัญของพนักงานแล้ว สิ่งที่ยังคงสามารถสร้างแรงจูงใจพนักงานได้ก็คือการให้รางวัลตอบแทนผลงาน รางวัลตอบแทนผลงานนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นเงินนะครับ เขาแยกรางวัลไว้สองลักษณะก็คือ รางวัลที่จับต้องได้ และรางวัลที่จับต้องไม่ได้ รางวัลที่จับต้องได้ ก็แน่นอนว่า เช่น การขึ้นเงินเดือน การให้โบนัสตามผลงาน การให้เงินจูงใจผลงาน ฯลฯ ส่วนรางวัลที่จับต้องไม่ได้ ก็คือ คำชมเชยที่จริงใจ การสนับสนุนให้พนักงานมีโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงาน การส่งพนักงานไปฝึกอบรม ดูงาน เพื่อพัฒนาฝีมือการทำงานให้ดีขึ้นเรื่อยๆ

5 R ที่ผู้เขียนได้เขียนมานั้น เขาบอกว่าถ้าทำให้ดี จะสามารถสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงานได้อย่างดีเยี่ยม ซึ่งผมเองมองว่าโดยหลักการนั้น มันก็ใช่ แต่ในทางปฏิบัตินั้นอาจจะต้องอาศัยความพยายามและความตั้งใจจริงของหัวหน้างานแต่ละคน เพราะทั้ง 5 R นั้นไม่ใช่แค่กำหนดออกมาเป็นนโยบายอย่างเดียว สิ่งสำคัญก็คือหัวหน้างานทุกคนจะต้องเปลี่ยนแปลงวิธีคิดและวิธีการทำงาน และต้องมีความตั้งใจจริงที่จะปฏิบัติตนเพื่อการเป็นหัวหน้างานที่ดี แล้วผมลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะดีเกินกว่าที่คาดไว้อย่างแน่นอน

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

บลอกที่ WordPress.com .

Up ↑

%d bloggers like this: