ท่านผู้อ่านน่าจะเคยได้ยินคำว่า “Employee Experience” มากันบ้างแล้ว เพราะเป็นคำที่ปัจจุบันเป็นที่นิยมมาก บางแห่งถึงกับมองว่า มันเข้ามาแทน Employee Engagement กันเลยทีเดียว แต่ในมุมมองส่วนตัวของผม ผมกลับมองว่า มันน่าจะเป็นเครื่องมือที่เข้ามาส่งเสริมให้เกิด Engagement มากขึ้น
กล่าวคือ ถ้าพนักงานเข้ามาทำงานในองค์กรของเราแล้ว พบกับประสบการณ์ในการทำงานที่ดี ก็จะเกิดความพึงพอใจ และเกิดความสุขในการทำงาน ซึ่งก็จะส่งผลต่อคะแนนความผูกพันที่เราทำๆ กันทุกปีได้เช่นกัน
แล้ว Employee Experience นั้น จะมีวิธีการดูอย่างไร พนักงานจะได้รับประสบการณ์ที่ดีในเรื่องอะไรบ้าง องค์กรควรจะสร้างประสบการณ์ที่ดีในการทำงานให้กับพนักงานในเรื่องใดบ้าง วิธีการพิจารณาในเรื่องนี้ที่ง่ายที่สุด ก็คือ ให้ใช้วงจรชีวิตของการเป็นพนักงานมาเป็นเครื่องมือช่วยพิจารณาสร้าง Employee experience ได้เช่นกัน
- การสมัครงาน ประสบการณ์ในการเป็นพนักงานเกิดขึ้นตั้งแต่ขั้นตอนแรกก่อนที่จะได้เข้ามาทำงาน ก็คือ ขั้นตอนการสมัครงานนั่นเอง ในระบบการสมัครงานของบริษัทเรานั้น สร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้สมัครหรือไม่ ระบบระเบียบต่างๆ มากมายยุ่งยากเกินไปหรือไม่ จนทำให้ผู้สมัครรู้สึกท้อ และไม่อยากทำงานที่นี่อีกต่อไปหรือไม่
- การสัมภาษณ์ ในขั้นตอนการมาสัมภาษณ์ ให้ประสบการณ์ที่ดีแก่ผู้สมัครหรือไม่ มารอนานเกินไป มาแล้วไม่รู้ว่า จะต้องติดต่อใครอย่างไร ไม่มีใครทราบเรื่อง เวลาสัมภาษณ์เขารู้สึกดีกับผู้สัมภาษณ์แค่ไหน ได้รับประสบการณ์ที่ดีออกไปหรือไม่ ถ้าเราสามารถทำสองขั้นตอนนี้ให้ดีได้ จะทำให้ผู้สมัครต้องการที่จะมาทำงานกับเรามากขึ้นไปอีก ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเราทำการสัมภาษณ์ที่ดี และสร้างความประทับใจได้ แม้ว่า ผู้สมัครจะได้รับการปฏิเสธจากบริษัทเรื่องงาน แต่ก็ไม่ได้ทำให้เขารู้สึกแย่กับบริษัทเรา ซึ่งในอนาคตเขาอาจจะเข้ามาสมัครอีกก็ยังได้ ทำให้เราไม่เสียโอกาสหาคนเก่งๆ ในอนาคตได้
- ช่วงเริ่มงานใหม่ หรือภาษาอังกฤษ เขาเรียกว่า Onboarding บริษัทได้สร้างความประทับใจ และสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับพนักงานสักแค่ไหน วันแรกที่มาเริ่มงาน ก็ไม่มีใครทราบเรื่องหรือไม่ มาทำงานแบบที่ยังไม่มีโต๊ะทำงาน ไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่มีที่นั่ง ไม่มีอะไรเลย ไม่มีแม้กระทั่งพี่เลี้ยง หรือนายที่มาต้อนรับ และให้ความรู้เกี่ยวกับบริษัทและงาน ฯลฯ ถ้าเป็นแบบนี้ ก็แปลง่ายๆ ว่า บริษัทเราไม่ได้สร้างประสบการณ์ที่ดีในวันเริ่มงานให้กับพนักงานที่เราเพิ่งรับเข้ามา ซึ่งก็จะส่งผลต่อความรู้สึก และความพึงพอใจของพนักงาน
- ค่าจ้างเงินเดือน และสวัสดิการ พนักงานมีประสบการณ์ที่ดีต่อเรื่องนี้สักแค่ไหน ความเป็นธรรมในเรื่องค่าจ้างเงินเดือน และสวัสดิการ การแข่งขันได้กับตลาดภายนอก การตอบแทนการทำงานได้ดี หรือดีกว่า ตลาด ฯลฯ
- การพัฒนาพนักงาน ประสบการณ์ถัดไป ก็คือ พนักงานเข้ามาทำงานแล้ว ได้พบกับประสบการณ์ในการพัฒนาพนักงานอย่างไร บริษัทส่งเสริมให้พนักงานได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลาหรือไม่ หรือทำงานซ้ำๆ เดิมๆ ไปเรื่อยๆ โดยไม่สนใจว่าพนักงานควรจะได้รับการพัฒนาอะไรบ้าง ไม่มีการสอนงาน ไม่มีการให้คำแนะนำเรื่องงานจากคนในองค์กรเลย ไม่มีการส่งพนักงานไปฝึกอบรม ฯลฯ หรือเข้ามาแล้วพบกับประสบการณ์ที่ดีในการพัฒนาพนักงาน ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทในการเรียนรู้ และพัฒนาทักษะใหม่ๆ อย่างสม่ำเสมอ
- การประเมินผลงาน อีกเรื่องที่ต้องพิจารณาให้ดีก็คือ พนักงานเก่งๆ ได้รับประสบการณ์ที่ดีในการประเมินผลงานของบริษัทมากน้อยสักแค่ไหน ความชัดเจนในการกำหนดเป้าหมาย พฤติกรรม และศักยภาพ ความเป็นธรรม และความชัดเจนในการประเมินผลงาน ออกมาแล้วไม่ค้านสายตาบุคคลอื่นๆ ในองค์กร ทำดีได้ดี ทำไม่ดี ได้รับการพัฒนาให้ดี
- ความก้าวหน้าในสายอาชีพ พนักงานเข้ามาทำงานในบริษัทเราแล้ว จะได้พบกับประสบการณ์ทางด้านความก้าวหน้าในสายอาชีพสักแค่ไหน มีเส้นทางความก้าวหน้าให้พนักงานเลือกเดินได้หรือไม่ ถ้าอยากเติบโตที่นี่จะต้องพัฒนาอะไร และเติบโตไปทางไหนได้บ้าง
- การเกษียณอายุ สุดท้ายในวงจรชีวิตของการเป็นพนักงานก็คือ การต้องเดินออกจากองค์กรที่เราทำงานมานาน ในช่วงสุดท้าย เราได้รับประสบการณ์ที่ดีในฐานะพนักงานหรือไม่ ได้รับการยอมรับ ได้รับ และการช่วยเหลือเพื่อให้มีชีวิตหลังเกษียณที่ดีหรือไม่
เราสามารถใช้วงจรชีวิตของพนักงานที่กล่าวมาข้างต้น มาออกแบบ employee experience ที่ดีให้เกิดขึ้นกับพนักงานได้ เพื่อที่จะทำให้พนักงานรู้สึกมีความพึงพอใจ มีความสุขในทุกช่วงเวลาของการทำงานกับองค์กร ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามา จนกระทั่งวันเกษียณ
ถ้าเราทำได้ทุกช่วงเวลาของวงจรชีวิตพนักงาน เราก็จะได้ความพึงพอใจ ได้ความสุข และได้ความผูกพันจากพนักงาน ซึ่งจะส่งผลต่อผลงานของพนักงานเอง และผลงานขององค์กรในทางบวก
ใส่ความเห็น