วันนี้ได้อ่านงานวิจัยล่าสุดของทาง CIPD ซึ่งมีชื่อบทความว่า Megatrends the trend shaping work and working lives ในประเด็นว่าด้วย Flexible Working ซึ่งเป็นแนวโน้มของทางต่างประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือว่าเป็นแนวโน้มที่กำลังมาแรงมาก หลายๆ องค์กรเริ่มลงมือปฏิบัติจริง ใช้จริงกับเรื่องของการทำงานแบบยืดหยุ่น ซี่งมีแบบไหนบ้างเรามาดูกันครับ
- Part-time working องค์กรต่างๆ เริ่มมีการจ้างพนักงาน part-time มากขึ้น ก็คือ ถือว่าเป็นการทำงานประจำ โดยที่พนักงานกลุ่มนี้ไม่ได้ทำงานเต็มเวลา แต่มีการตกลงกันว่า จะเข้ามาทำงานวันไหน เวลาไหนบ้าง
- Term-time working พนักงานเป็นพนักงานประจำของบริษัท แต่สามารถที่จะกำหนดช่วงวันเวลาที่จะมาทำงาน และไม่มาทำงานได้ แต่ต้องแจ้งล่วงหน้าว่าจะมา และไม่มาช่วงไหน โดยที่ช่วงเวลาที่ไม่ได้มาทำงานนั้น ก็จะไม่ได้รับค่าจ้างในช่วงเวลานั้นๆ ซึ่งการทำงานลักษณะนี้มีความยืดหยุ่นมาก และหมาะกับพนักงานที่มีแผนเรียนต่อ
- Flexitime เป็นการเข้าและเลิกงานแบบยืดหยุ่น โดยที่บริษัทจะกำหนดเวลาเข้าและออกงานเป็นช่วงๆ และพนักงานเองก็สามารถที่จะเลือกเข้างานในช่วงไหนก็ได้ เพียงแต่จะต้องมีการแจ้งล่วงหน้า
- Compressed hours เป็นการทำงานแบบยืดหยุ่นโดยคำนวณเวลาทำงานของพนักงานเป็นรายสัปดาห์ เช่น สัปดาห์หนึ่งต้องทำงาน 40 ชั่วโมง แต่ในแต่ละวันนั้น ถ้าพนักงานทำงานวันละ 10 ชั่วโมง ก็สามารถมาทำงาน 4 วันได้ ไม่ต้อง 5 วัน ซึ่งการทำงานยืดหยุ่นลักษณะนี้ ก็จะเหมาะกับพนักงานที่บ้านอยู่ไกล หรือ กรณีที่บริษัทมีการย้ายสถานที่ทำงานไกลจากบ้านพนักงานมากขึ้น ก็จัดให้มีการทำงานลักษณะนี้ขึ้นได้ เพื่อที่จะไม่ต้องเดินทางมาทำงานทุกวัน
- Annual hours มีการกำหนดจำนวนชั่วโมงการทำงานต่อปีไว้ และพนักงานก็สามารถที่จะจัดสรรเวลาการทำงานของตนเองว่าจะทำมากในช่วงใด และจะหยุดมากในช่วงใด แต่ขอให้ทั้งปีทำงานให้ครบตามจำนวนชั่วโมงที่กำหนดไว้ แนวการทำงานแบบนี้จะต้องมีการวางแผนล่วงหน้า และเหมาะสำหรับองค์กรที่มีการทำงานตลอดทั้งปี เช่น งานบริการที่ต้องเปิดให้บริการทุกวัน แต่พนักงานสามารถที่จะวางแผนการทำงานแบบยืดหยุ่นได้ว่าจะทำงานติดกันทุกวันในช่วงใด ช่วงใดที่จะไม่ทำงาน ของเพียงให้รวมทั้งปีได้ครบตามจำนวนที่กำหนดไว้
- Working from home on regular basis เป็นการทำงานจากที่บ้านแบบเต็มเวลา โดยไม่ต้องมาทำงานที่บริษัทเลย ก็เป็นแนวโน้มที่หลายบริษัทเริ่มนำมาใช้กันมากขึ้น โดยเฉพาะกับกลุ่ม Start-up ที่เดี๋ยวนี้ไม่ต้องเช่าออฟฟิศให้เสียค่าเช่า แต่ให้ทำงานกันที่บ้านเลย เวลาที่ต้องมีการประชุมกัน ก็อาศัย co-working space ซึ่งมีเกิดขึ้นมากมาย
- Mobile working /Teleworking เป็นการอนุญาตให้พนักงานทำงานนอกสถานที่ได้ เช่น ให้ทำงานนอกสถานที่ได้สัปดาห์ละ 1 วัน พนักงานจะไปนั่งทำงานที่ไหนก็ได้ ไม่ว่ากัน แต่ต้องมีผลงานส่งให้กับบริษัทตามที่ตกลงไว้
- Commissioned outcomes เป็นลักษณะการทำงานที่จะไม่มีการกำหนดเวลาทำงานต่อวัน หรือต่อสัปดาห์ แต่จะกำหนดผลลัพธ์ของงานที่จะต้องส่งมอบมากกว่า โดยจะมีการกำหนดวันส่งมอบ และเป้าหมายของงานที่ต้องส่งมอบ และจะให้อิสระพนักงานไปบริหารจัดการเวลาทำงานของตนเองในแต่ละวันเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ของงานตามที่ตกลงกันไว้
- Zero-hours Contracts เป็นลักษณะการทำงานที่องค์กรจะไม่มีการกำหนดวันและเวลาทำงานให้กับพนักงานที่เลือกการทำงานแบบนี้ แต่จะถูกเรียกให้เข้ามาทำงานเมื่อมีงาน และจะจ่ายค่าจ้างตามเวลาที่เข้ามาทำงานเท่านั้น ลักษณะนี้จะเหมาะกับพนักงานที่เลือกแบบ Freelance มากกว่า
จากลักษณะการทำงานแต่ละแบบข้างต้น จะเห็นแนวโน้มชัดเจนว่า จะเป็นการทำงานที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ไม่มีการกำหนดเวลาตายตัว และมีการให้พนักงานสามารถที่จะบริหารจัดการตนเองได้ว่าจะทำงาน หรือไม่ทำงานเวลาใด สถานที่ใด
องค์กรเองที่เลือกความยืดหยุ่นให้กับพนักงาน ก็คงต้องมีการกำหนดคุณสมบัติของพนักงานใหม่ด้วยเช่นกัน เพราะการทำงานในลักษณะนี้จะเหมาะกับพนักงานที่มีวินัยในตนเอง สามารถควบคุมตนเองได้ มีความรับผิดชอบสูงต่อผลลัพธ์ของงานที่ตกลงไว้
แล้วนายจ้าง กับลูกจ้างก็จะมีความสุขด้วยกันทั้งคู่
ใส่ความเห็น