เมื่อได้เป็นผู้นำแล้ว อย่าได้ก้าวสู่ด้านมืดของการเป็นผู้นำอย่างเด็ดขาด

การก้าวสู่การเป็นผู้นำนั้น เป็นเป้าหมายสำคัญของพนักงานที่ต้องการที่จะเป็นผู้นำในองค์กร จริงๆ แล้วการเป็นผู้นำที่ดีนั้น ไม่ใช่แค่เพียงมีชื่อตำแหน่งเท่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญก็คือ จะต้องมีคุณสมบัติของผู้นำที่เต็มเปี่ยม ปกติแล้วคนที่เป็นผู้นำจะต้องเป็นคนที่สามารถนำพาคนอื่นไปสู่สิ่งที่ดีกว่าได้ และสามารถที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นๆ ในองค์กรได้ด้วย

แต่อย่างไรก็ดี คนเราหลายคนที่พอมีโอกาสได้ขึ้นมาเป็นผู้นำเข้าจริงๆ ก็เริ่มยึดติดกับตำแหน่ง และอำนาจที่ได้รับมา และเริ่มที่จะลืมตัวเองว่าตนเองขึ้นมาเป็นผู้นำได้อย่างไร และมีหน้าที่และความรับผิดชอบอย่างไรบ้างในฐานะผู้นำที่ดี

เราลองมาดูกันว่าด้านมืดของการเป็นผู้นำมีอะไรบ้าง

  • ให้ความสำคัญกับสถานภาพของตนเองมากกว่าผลงานของตน พนักงานบางคนพอได้รับตำแหน่งที่สูงขึ้นในระดับผู้นำขององค์กร สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เริ่มที่จะไม่ทำงาน ไม่รับผิดชอบงาน โยนงานให้คนอื่น โดยสนใจอยู่แค่เพียงหัวโขนที่ตนเองได้รับมาเท่านั้น โดยไม่สนใจผลงานที่จะต้องทำให้กับองค์กรเลย อะไรที่จะทำให้ตนเองอยู่ในตำแหน่งผู้นำได้นานๆ ก็มักจะทำอันนั้น แต่ถ้ามีอะไรที่ทำให้เกิดความเสี่ยงในตำแหน่งผู้นำของตนก็จะไม่ทำ หรือไม่ก็โยนให้ลูกน้องของตนเองไปรับความเสี่ยงแทน เรียกว่าหน้าตาต้องดีไว้ก่อน ส่วนผลงานจะเป็นอย่างไรช่างมัน
  • ต้องการให้คนอื่นนิยมชมชอบ บางคนพอขึ้นมาเป็นผู้นำ ก็ต้องการให้พนักงานรู้สึกนิยมชมชอบตนเองมากขึ้น ไม่อยากให้คนอื่นเกลียดหรือไม่ชอบ ก็เลยต้องคอยเอาอกเอาใจคนอื่นอยู่ตลอดเวลา ไม่กล้าที่จะมีความเห็นขัดแย้งกับคนอื่น เวลาที่พนักงานขออะไรก็มักจะอนุมัติง่ายๆ ถ้าเป็นเรื่องที่ทำแล้วพนักงานรู้สึกชอบตนเอง หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ เข้าข่ายประชานิยมนั่นเองครับ
  • ต้องการให้คนอื่นมองว่าตนเองถูกต้องเสมอ ด้านมืดอีกเรื่องหนึ่งที่มักจะเกิดขึ้นกับผู้นำที่ยึดติดกับตำแหน่งมากเกินไปก็คือ มักจะอยากให้คนอื่นมองว่าสิ่งที่ตนเองทำ หรือตัดสินใจจะทำนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องเสมอ ถ้ามีใครค้าน หรือไม่เห็นด้วย ก็จะไม่ชอบพนักงานคนนั้น และจะพยายามทำให้พนักงานคนนั้นทำงานด้วยไม่ได้ จริงๆ แล้วผู้นำไม่จำเป็นต้องทำถูกเสมอ เพียงแต่ต้องรับฟังความคิดเห็น และมุมมองจากคนอื่นบ้าง ผู้นำก็มีสิทธิผิดได้ แต่ผิดแล้วต้องแก้ไขให้ถูกต้อง และพร้อมที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนเองอยู่เสมอ
  • ต้องการให้ทุกอย่างราบรื่น ผู้นำที่เข้าสู่ด้านมืด จะมีพฤติกรรมอีกอย่างก็คือ ไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งในการทำงาน รวมทั้ง ไม่ต้องการให้งานที่ทำอยู่นั้นเกิดอุปสรรค หรือผิดไปจากสิ่งที่เคยทำ หรืออาจจะเรียกได้ว่าไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลงใดๆ กับสิ่งที่ผู้นำคิดว่ามันดีอยู่แล้ว นั่นคือ การยึดติดกับความสำเร็จในอดีตมากเกินไป มีผู้นำหลายคนที่มองแค่ความสำเร็จในอดีต แล้วก็ไม่สนใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอนาคตเลย สุดท้ายองค์กรก็ไปไม่รอดเพราะผู้นำในลักษณะนี้ ดังนั้นการทำงานอาจจะไม่ราบรื่นเสมอไป สิ่งที่ผู้นำต้องเป็นก็คือ การทำให้องค์กรหรืองานของตนดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง และเกิดความยุ่งยากในการทำงานมากขึ้นก็ต้องทำ เพราะนี่คือความรับผิดชอบของคนที่เป็นผู้นำนั่นเอง
  • ไม่พอใจที่ลูกน้องวิพากษ์วิจารณ์ ข้อนี้จะคล้าย ข้อที่ 3 ข้างต้น แต่จะเป็นในมุมของการไม่ชอบให้คนอื่นมา Feedback ในทางที่ไม่ดี เพราะมองว่า ตนเองคือผู้นำ ดังนั้นจะต้องถูกเสมอ และจะไม่เปิดใจรับฟังความเห็นของพนักงานคนอื่นๆ เลย ยิ่งไปกว่านั้น ถ้ามีพนักงานมาวิพากษ์วิจารณ์ หรือคุยในลักษณะที่บอกว่า ผู้นำควรจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบางอย่างให้ดีขึ้น ก็จะเกิดความไม่พอใจ เรียกได้ว่า แตะไม่ได้เลย ห้ามพูดถึงในทางที่ไม่ดี แม้ว่าจะมีพฤติกรรมที่ไม่ดีจริงๆ แต่ก็ไม่อยากให้คนอื่นพูดถึงตนเองแบบนั้น ซึ่งจริงๆ แล้วนี่เป็นความเห็นแก่ตัวอย่างมากของคนที่เป็นผู้นำที่มีด้านมืดเรื่องนี้ เพราะสุดท้ายตนเองก็จะกลายเป็นผู้นำที่ไม่มีคนชอบ และไม่มีใครอยากจะตาม เนื่องจากเสนอความเห็นก็ไม่ได้ บอกว่าไม่ถูกก็ไม่ได้อีก

สรุปแล้วคนที่เป็นผู้นำไม่ว่าจะอยู่ในระดับใดในองค์กร เมื่อก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งที่ต้องนำคนอื่นแล้ว ก็ขอให้ระวังด้านมืดเหล่านี้ให้ดี เพราะถ้าหลุดเข้าไปเมื่อไหร่ ก็จะออกจากด้านมืดเหล่านี้ได้ยากมากขึ้นเรื่อยๆ ครับ

ใส่ความเห็น

บลอกที่ WordPress.com .

Up ↑