เรื่องของหัวหน้ากับลูกน้องนั้น เป็นเรื่องราวที่เล่ายังไงก็ไม่มีวันจบ เป็นคู่ที่จะต้องมีปัญหาระหว่างกันบ้าง ไม่มากก็น้อย พนักงานหลายคนหมดแรงจูงใจก็เพราะหัวหน้าที่แย่ ๆ ก็มีเยอะ การเรียนรู้ และการพัฒนาการเป็นหัวหน้างานที่ดี ก็ยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่สุดท้าย ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะกลายเป็นหัวหน้างานที่ดีได้
ล่าสุดในการอบรมทักษะการเป็นหัวหน้างาน มีการนำเสนอสาเหตุหลักที่ทำให้ลูกน้องหมดความเชื่อถือในตัวหัวหน้า และสุดท้าย ก็จะเริ่มหมดแรงจูงใจในการทำงานไปในที่สุด ผลก็คือ ทำให้พนักงานเก่ง ๆ ลาออกจากองค์กรไป
ความเชื่อถือที่ลูกน้องมีต่อหัวหน้านั้นมีความสำคัญมากในการบริหารงาน เพราะจะทำให้ลูกน้องมีความยินดีและเต็มใจที่จะทำงานให้ รวมทั้งยังสามารถสร้างแรงจูงใจให้ลูกน้องคนนั้นทำงานให้กับลูกพี่ด้วยความเชื่อใจอีกด้วย แต่ทำไมหัวหน้าอีกหลายคน ถึงบ่นว่า การที่จะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับลูกน้องนั้นมันยากเหลือเกิน อีกทั้งหัวหน้าบางคนยังรู้สึกว่าตนเองสามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นกับลูกน้องได้ แต่จริงๆ แล้วลูกน้องกับรู้สึกตรงกันข้าม ลองมาดูว่าสาเหตุอะไรบ้างที่ทำให้ลูกน้องหมดความเชื่อถือในตัวหัวหน้าบ้าง
- ไม่กล้าตัดสินใจ ถ้าหัวหน้าเป็นคนประเภทไม่กล้าที่จะตัดสินใจในหน้าที่ที่ตนรับผิดชอบ ก็จะไม่สามารถสร้างความเชื่อถือให้กับลูกน้องของตนได้เลย หัวหน้าบางคน เวลาที่จะต้องตัดสินใจ ก็ไม่กล้า และผลัดวันประกันพรุ่งออกไปเรื่อยๆ ลูกน้องก็ไม่สามารถทำงานต่อได้ เพราะลูกพี่ไม่ยอมตัดสินใจซะที สุดท้ายก็เลยหมดความเชื่อถือในตัวหัวหน้า เรามักจะได้ยินหัวหน้าบางคนพูดเสมอว่า “เดี๋ยวผมขอดูก่อนนะ” จากนั้นก็เงียบหายไปไม่มีการตัดสินใจอะไรออกมา หรือ “เรื่องนี้ต้องไปหาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนสิ” แล้วก็ดองไว้ หรือหนักหน่อยก็บอกตรง ๆ กันเลยว่า “ผมไม่สามารถตัดสินใจได้” ถ้าได้ยินคำพูดแบบนี้บ่อย ๆ และพฤติกรรมของหัวหน้าเป็นคนที่ไม่กล้าตัดสินใจจริง ๆ ลูกน้องก็คงหมดความเชื่อถือในตัวหัวหน้าลงในที่สุด
- ใช้อารมณ์มาก่อนเหตุผล หัวหน้าประเภทนี้ก็คือ เอาอารมณ์ของตนเองเป็นที่ตั้ง ไม่สนใจว่าลูกน้องจะรู้สึกอย่างไร แต่ถ้าตนเองรู้สึกว่าไม่ถูกต้อง ก็จะใส่เต็มที่ หรือที่นิยมเรียกกันว่า “จัดเต็ม” ก็คือ ใส่มาทั้งชุด ทั้งคำด่า คำตำหนิ คำประชดประชัน ฯลฯ เอาแบบให้สะใจตัวหัวหน้า โดยไม่สนใจว่าลูกน้องจะรู้สึกอย่างไรหรือ หัวหน้าหลายคนมักจะเริ่มงานตอนเช้าด้วยการด่าแรง ๆ บางคนเข้าใจว่า เป็นหัวหน้าแล้ว จะด่าอย่างไรก็ได้ จะระบายอารมณ์กับลูกน้องอย่างไรก็ได้ สุดท้ายหัวหน้าแบบนี้ก็ยากที่จะสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นได้เช่นกัน
- เอาดีเข้าตัวเอาชั่วเข้าลูกน้อง หัวหน้าแบบนี้จ้องที่จะสร้างผลงานที่ดีใส่ตัวเอง โดยไม่สนใจว่าที่มาของผลงานที่ดีนั้นมาจากลูกน้องของตนเอง เรียกได้ว่า เวลานำเสนองาน ถ้ามีแต่คนชื่นชมผลงานนั้น ก็จะพยายามบอกคนอื่นว่านี่คือผลงานของตนเอง ฉันเป็นคนทำเอง ฉันเป็นคนรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว แต่ถ้าผลงานชิ้นนั้นออกมาแล้วไม่เข้าตาเลย ถูกนายใหญ่ตำหนิมา ก็จะพยายามบอกคนอื่นว่า ผลงานนั้นไม่ใช่สิ่งที่เขาคิด แต่เป็นลูกน้องคิดออกมา ไม่เกี่ยวกับเขา เพื่อที่จะผลักสิ่งที่ไม่ดีออกไปจากตัวเองให้มากที่สุด และโยนความผิดทั้งหมดให้กับลูกน้องของตนเอง หัวหน้างานแบบนี้จะมีลูกน้องให้ความเชื่อถือจริงหรือ
- หวงวิชา หัวหน้าอีกประเภทหนึ่งที่ไม่เคยมีลูกน้องคนไหนเชื่อถือเลยก็คือ หัวหน้าประเภทหวงวิชา ก็คือตนเองเป็นหัวหน้าที่เก่ง มีความรู้ในการทำงานอย่างดี มีความเชี่ยวชาญ แต่กลับไม่ค่อยยอมสอนเทคนิคการทำงานเหล่านั้นให้กับลูกน้องของตน โดยคิดไปเองว่า ถ้าสอนไปแล้ว ตนเองก็จะหมดความสำคัญไป และกลัวลูกน้องจะเก่งกว่า และประสบความสำเร็จมากกว่าตนเอง ก็เลยกั๊กความรู้ทั้งหมดที่มีไว้กับตนเอง ลูกน้องที่ทำงานกับหัวหน้าแบบนี้ก็จะไม่เคยได้รับการพัฒนาอะไรเลย ทำอะไรก็ทำอยู่อย่างนั้น ไม่เคยเก่งขึ้น ผิดก็ผิดอยู่แบบนั้น ลูกน้องเองก็คงค่อยๆ หมดความเชื่อถือในตัวหัวหน้าลงไปเรื่อย ๆ
- ไม่เคยฟังสิ่งที่ลูกน้องพูด หัวหน้าแบบนี้ มักจะเชื่อว่าตนเองเป็นนักฟังที่ดี เวลาที่ลูกน้องมาพูดอะไรให้ฟัง ก็มักจะทำทีเป็นฟังอย่างตั้งใจ และพยายามที่จะทำให้ลูกน้องรู้ว่าเขากำลังฟังอยู่ โดยมักจะพูดคำว่า “เข้าใจ เข้าใจ” แต่จริงๆ แล้วไม่เคยคิดจะเข้าใจในสิ่งที่ลูกน้องสื่อมาเลยด้วยซ้ำไป หรือบางคนก็มักจะดัดบทคำพูดของลูกน้องเพราะเบื่อที่จะฟัง และมักจะพูดว่า “เรื่องนี้ผมเคยเจอมาก่อนแล้ว แค่นี้เอง….” หรือบางคนก็ทำงานไปด้วย และทำเหมือนฟังไปด้วย เวลาที่ลูกน้องพูดจบ ก็มักจะถามลูกน้องว่า “ประเด็นเมื่อกี้นั้นช่วยเล่าให้ฟังอีกได้มั้ย” เป็นแบบนี้ซ้ำๆ จนลูกน้องก็เริ่มระอา และไม่อยากที่จะเอาเรื่องราวต่างๆ มาคุยกับหัวหน้าอีกเลย เพราะขาดความเชื่อถือในตัวหัวหน้านั่นเอง
ทั้ง 5 ข้อนี้อาจจะดูเหมือนเป็นเรื่องเล็ก ๆ ไม่ใช่หลักการทฤษฎีอะไร แต่พฤติกรรมทั้ง 5 ข้อนี้ ถ้ามีอยู่ในตัวหัวหน้าสัก 2 พฤติกรรม รับรองได้ว่า หัวหน้าคนนั้นจะไม่ได้รับความเชื่อถือจากลูกน้องในทีมเลยสักคนเดียว
แล้วแบบนี้ผลงานจะออกมาดีได้อย่างไร Teamwork จะออกมาดีได้อย่างไร และพนักงานจะอยากทำงานด้วยจริงหรือไม่ ยิ่งเด็กรุ่นใหม่ มาเจอกับหัวหน้างานที่มีพฤติกรรมแบบนี้ ผมเชื่อว่า ไม่มีเด็กรุ่นใหม่คนไหนอดทนทำงานด้วยได้อย่างแน่นอน
ใส่ความเห็น