ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ก็จะยังมีองค์กรที่มีผลประกอบการที่ดี และสามารถอยู่รอดได้ บางองค์กรสามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้ จนสามารถทำกำไรได้ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่มีปัญหา อย่างเช่นในปีนี้ที่โควิดยังอยู่กับเรา ก็มีหลายองค์กรที่เริ่มปรับตัวได้ และสามารถมีรายได้เข้ามามากขึ้น ปลายปีแบบนี้ ก็คงต้องเริ่มพิจารณากันแล้วว่า เราควรจะให้รางวัลผลงานพนักงานของเราอย่างไรดี โดยเฉพาะเรื่องของการขึ้นเงินเดือนประจำปีตามผลงาน
คำถามโลกแตกที่ผู้บริหารและ HR ของแต่ละองค์กรมักจะถามกันเสมอก็คือ ระยะห่างของเปอร์เซ็นต์ในการขึ้นเงินเดือนของพนักงานที่มีผลงานที่แตกต่างกัน ควรจะต่างกันประมาณสักเท่าไหร่ดี
วันนี้ผมก็เลยนำเอางานสำรวจค่าจ้างเงินเดือนในเรื่องนี้ ของทางต่างประเทศ มาแชร์ ให้อ่านกันเพื่ออาจจะสามารถใช้เป็นแนวทางในการกำหนดระยะห่างตรงนี้ได้
เพราะหัวใจในการตอบแทนผลงาน หรือที่เราเรียกว่า Pay for Performance โดยเฉพาะเรื่องของการขึ้นเงินเดือนนั้น อยู่ที่ระยะห่างของอัตราการขึ้นเงินเดือนนี่แหละครับ เอาง่ายๆ ว่า พนักงานที่มีผลงานที่ดีที่สุดของเรา ได้อัตราการขึ้นเงินเดือนแตกต่างกับพนักงานที่มีผลงานปกติมาตรฐานสักเท่าไหร่ และต่างกับพนักงานที่ผลงานแย่ที่สุดสักเท่าไหร่
นึกภาพ ถ้าเรากำหนดระยะห่างของอัตราการขึ้นเงินเดือนที่ชิดกันมาจนเกินไป เช่น คนเก่งสุด กับคนแย่สุดได้ขึ้นเงินเดือนต่างกันแค่ 1-2% แบบนี้พนักงานก็จะเรียนรู้ได้ว่า บริษัทไม่ได้เน้นการให้รางวัลตามผลงานอย่างแท้จริงเลย ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อการสร้างผลงานของพนักงานในปีต่อไปอย่างแน่นอน
แล้วระยะห่างตรงนี้ควรจะเป็นเท่าไหร่ ผมเอาผลการสำรวจของ Worldatwork ที่ทำไว้ในปี 2021 นี้ โดยเฉพาะในเรื่องของการกำหนดระยะห่างของของอัตราการขึ้นเงินเดือนตามผลงานระหว่างพนักงานที่ผลงานดีเยี่ยมที่สุด กับพนักงานผลงานมาตรฐานห่างเท่าไหร่ ย้ำอีกครั้งนะครับ ระหว่างพนักงานที่มีผลงานสูงสุด กับผลงานมาตรฐาน
- 40% ขององค์กรที่เข้าสำรวจ ให้ความห่างของอัตราการขึ้นเงินเดือนระหว่างพนักงานที่มีผลงานดีสุด กับผลงานมาตรฐานไว้ที่ x1.5 กล่าวคือ ถ้าผลงานเฉลี่ยได้อัตรา 5% ผลงานดีที่สุด ก็จะได้อยู่ที่ 5 x1.5 = 7.5
- 25% ขององค์กรที่เข้าสำรวจ อยู่ที่ x 1.25 ก็คือ ถ้าผลงานมาตรฐานได้ 5% ผลงานดีสุดจะได้ 5×1.25=6.25%
- 15% ขององค์กรที่เข้าสำรวจ อยู่ที่ x 2 คือ ผลงานมาตรฐาน 5% ผลงานดีสุดจะได้ 5 x 2= 10%
- 3% ขององค์กรที่เข้าสำรวจ อยู่ที่ x 3 คือ ผลงานมาตรฐาน 5% ผลงานดีสุดจะได้ 5 x 3 = 15%
ส่วนผลการสำรวจของบริษัทในประเทศไทย จะมีการคิดที่แตกต่างกันไป กล่าวคือ ของไทยจะให้ความแตกต่างระหว่างผลงานเป็นระยะห่างที่เท่าๆ กัน เช่น 1 .1.5 และสูงสุดคือ 2
เช่น ถ้าบริษัทนั้น ใช้ความห่างที่ 2 พนักงานที่มีผลงานได้มาตรฐานได้ขึ้นเงินเดือนที่ 5% (C) ผลงาน B จะได้ 5+2 =7% และ พนักงานผลงาน A จะได้ 7+2 = 9% เป็นต้น
ในประเทศไทยความห่างที่นิยมจะอยู่ที่ 1.5 ในปีที่ผ่านมา (ระหว่างผลงานนะครับ ไม่ใช่ พนักงานผลงานปกติ กับดีที่สุด) และเป็นการบวกขึ้นไปเท่าๆ กันในทุกระยะของผลงานที่แตกต่างกัน เช่น
องค์กรที่ใช้ระยะห่างที่ 1.5
ผลงาน | % ขึ้นเงินเดือน |
A | 8.0% |
B | 6.5% |
C | 5.0% |
D | 3.5% |
E | 0.0% |
ด้วยความห่างระหว่างผลงาน A กับ E ก็จะห่างกัน 8% ก็น่าจะเป็นการจูงใจพนักงานที่ทำผลงานดีให้อยากทำงานดีๆ ต่อไปอีก
หวังว่าข้อมูลในบทความนี้น่าจะพอเป็นแนวทางให้บริษัทของท่านผู้อ่าน กำหนดระยะห่างสำหรับอัตราการขึ้นเงินเดือนในแต่ละระดับผลงานได้อย่างมีนัยสำคัญนะครับ จะได้เป็นการ Pay for Performance อย่างแท้จริง
ใส่ความเห็น