ค่าตอบแทนเพื่อจูงใจผลงานพนักงาน มีกี่ประเภท อะไรบ้าง

เครื่องมือด้านค่าตอบแทนที่ใช้ในการกระตุ้น และสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงานเพื่อสร้างผลงานที่ดีมีอะไรบ้าง ที่นอกเหนือจากการขึ้นเงินเดือนประจำปีตามผลงาน

จากผลการวิจัยของ world at work ซึ่งเป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงด้านการบริหารค่าตอบแทน ได้ทำวิจัยชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับ Variable Pay ซึ่งมีองค์กรประมาณ 77% ที่เข้าสำรวจในสหรัฐอเมริกา และยุโรป ได้ระบุว่า องค์กรมีการจัดทำ Variable Pay เพื่อใช้ในการสร้างแรงจูงใจทางด้านผลงานของพนักงาน

  • Bonus คือ การจ่ายโบนัสตามผลงาน ซึ่งเป็นโปรแกรมปกติในการกระตุ้นผลงานพนักงาน และยังมีการให้โบนัสประเภทอื่นเพิ่มเติมด้วยเช่น การให้ Sign-on Bonus เพื่อกระตุ้นและจูงใจให้พนักงานตัดสินใจมาเริ่มงานกับทางบริษัทได้เร็วขึ้น อีกทั้งยังมีการให้ Retention Bonus สำหรับพนักงานที่เป็น Key Talent ขององค์กร เพื่อให้เขายังคงอยู่สร้างผลงานให้กับองค์กรอย่างต่อเนื่อง

  • Recognition Program นอกจากการให้คำชม และรางวัลที่จับต้องไม่ได้แล้ว องค์กรยังให้ Recognition Program ที่เป็นตัวเงิน ซึ่งจะคล้ายๆ กับ Spot Bonus ที่ให้ในกรณีที่พนักงานสามารถสร้างผลงาน หรือทำงานได้อย่างโดดเด่นในแต่ละช่วงเวลา คล้ายๆ เป็นเงินรางวัลพิเศษ

  • Individual Incentive เงินรางวัลผลงานโดยตรง เป็นการให้เงินรางวัลที่เชื่อมโยงกับผลงานโดยตรงของพนักงาน ปกติเรามักจะให้ Incentive กับพนักงานขาย แต่ปัจจุบันนี้เราสามารถออกแบบระบบ Incentive ให้กับพนักงานในหน่วยงานต่าง ๆ ได้กว้างมากขึ้น

ในเมืองไทย เครื่องมือทางด้านการบริหารค่าตอบแทนที่นิยมใช้ในการกระตุ้นผลงานของพนักงานก็จะมีอยู่ 2 รายการหลักๆ ก็คือ การขึ้นเงินเดือนตามผลงาน และโบนัสตามผลงาน

ยังมีองค์กรจำนวนไม่มากนักที่มีการออกแบบระบบ Incentive เพื่อใช้ในการกระตุ้นผลงานของพนักงานที่ไม่ใช่ด้านการขาย

นอกจากนั้น การใช้ Sign-on Bonus และ Retention Bonus ก็ถือว่ายังมีน้อยอยู่ เมื่อเทียบกับองค์กรในต่างประเทศ

ซึ่งหลังจากที่โควิดผ่านไป ผมเชื่อว่าน่าจะมีองค์กรที่นำเอาระบบค่าตอบแทนจูงใจเหล่านี้มาใช้กับองค์กรของตนเองมากขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะสร้างแรงจูงใจและกระตุ้นให้พนักงานสร้างผลงานที่ดีอย่างต่อเนื่องให้กับองค์กรต่อไป

แม้ว่าอาจจะมีนักวิชาการหลายคนมองตรงข้ามว่า ค่าตอบแทนที่เป็นตัวเงิน นั้นสามารถกระตุ้นผลงานได้แค่เพียงระยะสั้น ๆ เท่านั้น ไม่สามารถใช้ได้ในระยะยาว ๆ เหมือนกับแรงจูงใจที่เกิดขึ้นจากภายในตัวพนักงานเอง เช่น ความรัก ความชอบในงานที่ตนทำอยู่

แต่อย่างไรก็ดี ในมุมของผมเอง ผมคิดว่า เราคงต้องออกแบบทั้งค่าตอบแทนที่เป็นตัวเงิน และไม่ใช่ตัวเงินอย่างสมดุลกันในการที่จะสร้างแรงจูงใจของพนักงานให้ได้ทั้งในระยะสั้น และระยะยาวนั่นเอง

ใส่ความเห็น

บลอกที่ WordPress.com .

Up ↑