เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสพูดคุยผ่านทางอีเมล์กับท่านผู้อ่านท่านหนึ่ง ซึ่งเปิดธุรกิจใหม่ เรียกได้ว่า เป็น Start-up คนหนึ่ง ที่ลงทุนทำธุรกิจ และมีการว่าจ้างพนักงาน เพียงแต่ยังไม่มีฝ่ายบุคคล เพราะพนักงานมีไม่กี่คนเท่านั้น แต่วันดีคืนดี พนักงานคนแรกของบริษัท เดินเข้ามาขอลาออกจากงาน ซึ่งก็ทำให้เจ้าของธุรกิจมือใหม่ท่านนี้ ตกใจมาก และเมล์มาคุยว่า ควรจะทำอย่างไรดี
ผมเชื่อว่า ชาว HR ที่ประสบการณ์ในการทำงานมานานพอ คงจะรู้สึกเฉยๆ กับกรณีที่พนักงานมาขอลาออกจากบริษัท เพราะเราจะรู้สึกว่ามันคือเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องธรรมชาติ ที่ต้องมีคนเข้าคนออก
แต่อย่างไรก็ดี เวลาที่พนักงานเดินเข้ามาและขอลาออกนั้น เราเองในฐานะ ผู้บริหารก็คงต้องมีแนวทางในการบริหารจัดการอย่างเป็นมืออาชีพด้วยเช่นกัน
- พูดคุยถึงสาเหตุของการลาออกในครั้งนี้ เรื่องแรกเลยที่ต้องทำก่อนก็คือ คงต้องหาสถานที่สงบๆ เงียบๆ ไม่มีใคร หรืออะไรมารบกวน แล้วนั่งคุยกับพนักงานที่ขอลาออกถึงสาเหตุ และความรู้สึกที่เกิดขึ้น สอบถามถึงปัญหาว่าเกิดอะไรขึ้น มีอะไรไม่สบายใจหรือเปล่า ฯลฯ อย่าเพิ่งตกใจแล้วทำอะไรไม่ถูก
- จะดึงให้อยู่ต่อหรือไม่ ก็ต้องพิจารณาให้ดี ถ้าจากการพูดคุยแล้วพบกว่า พนักงานจะออกไปทำงานแบบเดิม ตำแหน่งเดิม แต่ได้เงินเดือนสูงขึ้นกว่าเดิม นั่นเป็นการส่งสัญญาณบอกเราว่า ถ้าเราเสนอปรับแข่งกับบริษัทนั้นๆ ก็อาจจะทำให้พนักงานตัดสินใจอยู่ทำงานต่อกับเราก็ได้ แต่อย่างไรก็ดี การใช้วิธีการนี้ต้องใช้อย่างระมัดระวังอย่างมาก จะต้องพิจารณาให้ชัดเจนว่า พนักงานคนนี้เป็นคนที่มีคุณค่ากับเราจริงๆ ใช่หรือไม่ ถ้าใช่จริงๆ ก็คงต้องพิจารณาต่ออีกว่า มีวิธีการอื่นที่จะต่อรองอีกหรือไม่ เช่น การขยับตำแหน่งให้สูงขึ้น เมื่อสร้างผลงานได้ดี ซึ่งก็จะมีผลทำให้เงินเดือนสูงขึ้นได้ แต่เรื่องของการเสนอปรับเงินเดือนแข่งกับบริษัทอื่นนั้น เป็นเรื่องที่จะสร้างความไม่เป็นธรรมกับพนักงานคนอื่นได้ง่าย และที่สำคัญก็คือ ถ้าพนักงานคนนั้นไม่ได้มีดีอะไรมาก แล้วเราใช้วิธีนี้ เดี๋ยวอีกไม่นาน ก็จะมีพนักงานคนอื่นมาขอลาออก เพราะคิดว่า ขอลาออกเมื่อไหร่ เดี๋ยวนายก็ขึ้นเงินเดือนให้ตามที่เราต้องการ
- วางแผนไม่ให้งานสะดุด ระหว่างที่รอถึงวันสุดท้ายของการทำงาน ช่วงนี้ จะต้องวางแผนให้ดีว่า งานที่พนักงานคนนั้นทำอยู่นั้น จะสามารถแบ่งไปให้ใครทำก่อนได้บ้าง ในระหว่างที่กำลังหาพนักงานใหม่เข้ามา เพื่อไม่ให้เกิดการขาดช่วงของการทำงาน บางงานตัวหัวหน้าเองอาจจะต้องรับมาทำเอง บางงานก็แบ่งให้กับพนักงานในทีมได้
- อย่าลืมแสดงความยินดีกับพนักงาน ถ้าพนักงานไปดี หัวหน้าเองก็ควรจะแสดงความยินดีกับพนักงานอย่างจริงใจ เพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันไว้ ไม่แน่ว่าในอนาคต อาจจะกลับมาร่วมงานกันใหม่ได้ จะได้ไม่มีปัญหาต่อกัน ผู้จัดการบางคนรับไม่ได้ที่พนักงานลาออก ก็เลยพาลไม่พูด ไม่คุยกับพนักงานคนนั้นไปเลยก็มี ซึ่งแบบนี้แทนที่จะสร้างความรู้สึกดีๆ ให้กับพนักงานก่อนลาออก กลับไปสร้างความรู้สึกแย่ๆ ให้พนักงาน ลาออกไปพร้อมกับความรู้สึกไม่ดีต่อบริษัท
- ให้ระวังเรื่องของข้อมูลภายในบริษัท อีกเรื่องที่ดูแล้วอาจจะเหมือนไม่เชื่อใจพนักงาน แต่เรื่องแบบนี้ก็พูดยากครับ ทางที่ดีก็คือ สร้างมาตรการที่เป็นมาตรฐานไว้จะดีกว่า ก็คือ เรื่องของการเข้าถึงข้อมูลภายในบริษัท ถ้าเราทราบแล้วว่าพนักงานขอลาออก ปกติโดยมารยาทแล้ว พนักงานก็จะเข้าใจได้ในทันทีว่า เขาเองก็ไม่ควรจะเข้าไปยุ่งอะไรกับข้อมูลความลับของบริษัทอีกต่อไป ทางบริษัทเอง ก็คงต้องมีมาตรการในการขอข้อมูลที่มีอยู่ในมือพนักงาน ข้อมูลเอกสารการทำงานทั้งหมด และอาจจะต้องมีการเพิ่มผู้อนุมัติในการเข้าถึงข้อมูลบางอย่างในช่วงนี้ด้วยเช่นกัน
ผมเคยมีประสบการณ์กับลูกค้าบริษัทหนึ่ง ที่ ผู้จัดการฝ่ายบุคคลขอลาออก และผู้บริหารระดับสูงเองก็ด้วยความไว้ใจ และเชื่อใจว่า ผู้จัดการคนนี้คงไม่ทำอะไรไม่ดี เพราะก็ทำงานด้วยกันมานาน แต่หารู้ไม่ว่า เขาแอบเซฟ ข้อมูลภายในของบริษัทออกมามากมาย มีเข้ามาวันเสาร์อาทิตย์ โดยให้เหตุผลว่าเข้ามาเคลียร์งาน และถ่ายโอนงาน แต่จริงๆ แล้วเข้ามา Copy ข้อมูลของบริษัทไปใช้ นี่ดีว่า ไม่เข้ามาลบข้อมูลของบริษัทไปทั้งหมด
อย่างไรก็ดี เมื่อพนักงานมาขอลาออก ถ้าเป็นผู้บริหารมือใหม่ ก็คงต้องตั้งสติให้ดี และดำเนินการไปตามแนวทางที่ถูกต้อง เพื่อให้การลาออกนั้นเป็นการลาออกที่ดี ไม่มีปัญหาตามมาในอนาคต
ใส่ความเห็น