อัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ประกาศแล้ว อย่าลืมเตรียมตัวเรื่องการปรับผลกระทบที่เกิดขึ้น

minwage

ประกาศอย่างเป็นทางการก็ออกมาแล้วในเรื่องของการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ ในปี 2560 ปรับมากที่สุดก็คือ 10 บาทต่อวัน และลดหลั่นกันลงไปตามพื้นที่จังหวัดต่างๆ ซึ่งผลก็คือ ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป อัตราค่าจ้างขั้นต่ำก็จะไม่เท่ากันทั่วประเทศอีกต่อไป จะเริ่มมีการจ่ายที่แตกต่างกันเหมือนสมัยก่อนที่จะปรับเป็น 300 บาท ประเด็นที่ผมจะเขียนวันนี้ ไม่ได้มาบอกเรื่องของปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำกว่าที่ไหนปรับเท่าไหร่ เพราะผมเชื่อว่ามีแหล่งที่หาข้อมูลได้ไม่ยากนัก และหลายๆ ท่านเองก็ทราบเรียบร้อยแล้ว แต่สิ่งที่อยากจะเขียนก็คือ อย่าลืมเตรียมตัวเรื่องของการปรับค่าจ้างใหม่ และเรื่องของการปรับผลกระทบให้กับพนักงานเก่าที่เคยได้สูงกว่าอยู่แล้วด้วย

คงจะจำบทเรียนเมื่อครั้งที่เราปรับเป็น 300 บาททั่วประเทศได้นะครับ ว่ามันโกลาหลแค่ไหน พนักงานส่วนหนึ่งที่เคยได้รับค่าจ้างที่สูงอยู่แล้ว และไม่ได้รับการปรับผลกระทบ ผลก็คือ พนักงานใหม่เข้ามา ก็ได้ค่าจ้างเท่ากับพนักงานเก่าทันที ซึ่งจริงๆ แล้วพนักงานเก่าก็เป็นคนที่ทำงานได้ มีผลงาน และมีประสบการณ์ในการทำงานมานานกว่า แต่กลับไม่ได้รับการเหลียวแล ขวัญและกำลังใจในช่วงนั้นก็เลยระส่ำกันไปทั่ว

ในปี 2560 ที่จะถึงนี้ ก็จะเกิดเหตุการณ์ที่ใกล้เคียงกันอีก ดีตรงที่ว่า อัตราที่ปรับนั้นไม่ได้สูงมากมายเหมือนครั้งที่แล้ว ก็เลยทำให้การปรับผลกระทบให้กับพนักงานเก่าที่ทำงานมาก่อน ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรมากนัก เราลองมาดูกรณีตัวอย่างที่ผมทำมาให้ดูว่า เราจะปรับจากค่าจ้างเดิมที่พนักงานเคยได้ เป็นค่าจ้างใหม่ที่เท่าไหร่ดี ในกรณีที่ปี 2560 มีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่

slide1จากตัวเลขข้างต้น ค่าจ้างของพนักงานแต่ละคนควรจะปรับเป็นเท่าไหร่ดี สิ่งที่ต้องพิจารณาก่อนเลยก็คือ บริษัทมีงบประมาณเพื่อการนี้เท่าไหร่ ซึ่งงบประมาณนี้ไม่ควรที่จะเป็นเงินก้อนเดียวกับการปรับเงินเดือนประจำปีตามผลงาน เพราะถ้าเราเอาไปรวมกัน ก็เท่ากับว่า พนักงานจะได้เงินเดือนในกรณีตามผลงานน้อยลงไปอีก เพราะเป็นผลมาจากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ขยับขึ้นตามกฎหมาย ซึ่งในกรณีถ้าบริษัทไหนใช้งบประมาณอันเดียวกันกับการขึ้นเงินเดือนประจำปีตามผลงาน ก็ดูเหมือนจะเอาเปรียบพนักงานนิดๆ

จากสูตรการปรับผลกระทบที่เกิดขึ้น ที่ผมเคยให้ไว้เมื่อครั้งปรับ 300 บาท ก็สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ครับ สูตรที่ว่าก็คือ

(((ค่าจ้างพนักงานในปัจจุบัน-อัตราขั้นต่ำเดิม)x ตัวคูณ) + อัตราขั้นต่ำใหม่) – ค่าจ้างพนักงานปัจจุบัน

ผลจากการคำนวณ จะเป็นเงินปรับที่พนักงานแต่ละคนพึงได้ และถ้าผลการคำนวณติดลบ ก็แสดงว่าพนักงานคนนั้นไม่อยู่ในข่ายที่ต้องปรับครับ ในกรณีนี้ผมใช้ตัวคูณที่ 0.7 ก่อนนะครับ

ผลที่ได้ก็จะเป็นดังภาพข้างล่างนี้ครับ จะมีติดลบ 1 คน ใช้งบ 38.50 บาท

slide2

แต่ถ้าเราเปลี่ยนตัวคูณเป็น 0.6 ผลการปรับก็จะเปลี่ยนไปดังนี้ครับ (จะมีติดลบเป็น 2 คน) ใช้งบ 30 บาท

slide3แสดงให้เห็นว่า การใช้ตัวคูณนี้ เป็นตัวปรับเงินงบประมาณที่ต้องใช้ได้ด้วย ในกรณีที่เรามีงบประมาณจำกัด ก็คงต้องมาปรับตัวคูณตัวนี้ให้น้อยลงไปเรื่อยๆ และดูผลรวมว่าได้ตามงบประมาณแล้วหรือยัง

นอกจากเรื่องงบประมาณแล้ว ตัวคูณตัวนี้ยังมีผลทำให้อัตราค่าจ้างของพนักงานเกิดความใกล้ชิดกันมากขึ้นด้วย กล่าวคือ ถ้าเรายิ่งใช้ตัวคูณที่น้อยลงมากเท่าไหร่ หลังจากที่ปรับแล้ว จะทำให้ค่าจ้างของพนักงานที่เคยต่างกันมาก จะเริ่มชิดกันมากขึ้นด้วย ซึ่งก็อาจจะเป็นผลทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมจากการปรับค่าจ้างขึ้นได้เช่นกัน

ลองสังเกตค่าจ้างของพนักงาน 1 กับพนักงาน 3 สิครับก่อนปรับ สองคนนี้ได้ค่าจ้างต่างกันที่ 10 บาท แต่หลังปรับถ้าเราใช้ตัวคูณ 0.7 สองคนนี้จะมีค่าจ้างต่างกันที่ 7 บาท แต่ถ้าใช้ 0.6 ก็จะทำให้สองคนนี้มีค่าจ้างที่แตกต่างที่ 6 บาท ก็ยิ่งเกิดอาการชิดกันมากขึ้นนั่นเองครับ แต่ข้อดีสำหรับบริษัทก็คือ ใช้งบประมาณน้อยลง

ตัวคูณที่นิยมใช้กันมากก็จะมีอยู่ 2 ตัว คือ 0.6 และ 0.7 ครับ เพราะทำให้ค่าจ้างยังคงแตกต่างกัน และไม่ได้ชิดกันมาก ตัวคูณที่ไม่นิยมใช้กันเลยก็คือ ต่ำกว่า 0.5 ครับ เพราะทำให้หลังปรับแล้ว ค่าจ้างของพนักงานเกิดความใกล้กันมากขึ้น ทำให้รู้สึกว่า ทำไมจากเดิมที่เคยต่างกันพอควร แต่พอปรับแล้วกลายเป็นเด็กใหม่มาใกล้เด็กเก่ามากขึ้น อันนี้ก็ต้องให้ HR พิจารณาความเหมาะสมว่าจะใช้ตัวคูณตัวไหนดี

ที่ต้องย้ำอีกเรื่องก็คือ สูตรปรับผลกระทบที่ให้ไว้ข้างต้นนั้น จะใช้ก็ต่อเมื่อ บริษัทไม่มีนโยบายปรับค่าจ้างให้พนักงานทุกนะครับ กล่าวคือ ใครที่ได้ค่าจ้างที่สูงมากๆ อยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องปรับ สังเกตจากผลการปรับข้างต้น พนักงานที่มีค่าจ้างสูงกว่า (ก่อนปรับ) ก็ยังคงมีค่าจ้างที่สูงกว่า (หลังปรับ) จะไม่มีทางที่จะทันกันได้เลย แต่ก็ต้องระวังช่วงตัดของพนักงานที่ผลการคำนวณติดลบว่ามันพอที่จะอธิบายได้มากน้อยแค่ไหน

แต่ถ้าบริษัทไหนประกาศเลยว่า ให้ทุกคนที่เป็นรายวันได้ปรับเท่ากันหมดตามจำนวนเงินที่ปรับขึ้น เช่น ให้ทุกคนที่เป็นรายวันได้เพิ่มอีก 10 บาทไปเลย (กรณีที่เป็นเขต กทม. และปริมณฑล) ก็ไม่ต้องใช้สูตรนี้เลยครับ เพราะให้อยู่แล้วทุกคนคนละ 10 บาท

ก็ลองเอาไปใช้ประโยชน์ดูนะครับ HR อาจจะใช้ตัวคูณสัก 2-3 ตัว ทำเป็นทางเลือกให้ผู้บริหารพิจารณาก็ได้ครับ

15 thoughts on “อัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ประกาศแล้ว อย่าลืมเตรียมตัวเรื่องการปรับผลกระทบที่เกิดขึ้น

Add yours

  1. สวัสดีค่ะ จะขอสอบถามเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวันที่ปรับเป็น 310 บาทต่อวันของแรงงานในจังหวัดกรุงเทพฯ ในกรณีที่ทางเราให้เงินเดือนพนักงานที่ฐานเงินเดือน 9,000 บาท และค่าโทรศัพท์เหมาจ่ายทุกเดือน 500 บาท ไม่นับเบี้ยเลี้ยง ซึ่งในแต่ละเดือนจะเฉลี่ย 12,000-18,000 บาท อยากทราบว่า ถ้าเราไม่ปรับฐานเงินเดือนพนักงานเป็น 9,300 บาท (310*30) เราจะมีความผิดตามกฏหมายรึเปล่าคะ

    1. กรณีนี้ผิดครับ เพราะเราระบุชัดเจนแล้วว่า ฐานเงินเดือน 9,000 บาทน่ะครับ ตอนนี้ฐานที่ 9,000 จ่ายไม่ได้แล้วในปี 60 เพราะปรับเป็นฐานใหม่ที่ 9,300 ครับ

    1. กำหนดขึ้นมาเป็นตัวคูณครับ เพื่อทำให้มีการปรับแบบผลกระทบไล่กันไปได้ครับ คือ พนักงานที่ค่าจ้างสูง ก็ได้ปรับน้อย พนักงานที่ค่าจ้างน้อยก็ได้ปรับมาก เพื่อเข้าสู่อัตราค่าจ้างใหม่ที่กำหนดไว้ครับ ลองอ่านบทความเก่าๆ ที่ผมเคยเขียนและตอบประเด็นนี้ไว้นะครับ ตามลิงค้นี้เลยครับ http://wp.me/pBmlU-Kr

  2. ขอบคุณมากเลยค่ะอาจารย์ กำลังทำการบ้านเรื่องนี้อยู่พอดีเลยค่ะ จากบทความที่อาจารย์ให้มาสามารถตอบโจทย์ได้เลยค่ะ ที่โรงงานมีพนักงาน 2 ประเภท คือ รายเดือน/รายวัน ก็คงต้องปรับทั้งสองกลุ่ม แต่สำหรับพนักงานที่ค่าจ้างสูงกว่าอยู่แล้ว อาจจะปรับประจำปีอย่างเดียวค่ะ

    ขอบพระคุณมากค่ะ

  3. สอบถามหน่อยครับ คือผมเป็นพนักงานรายวันได้วันละ 330 ตั้งแต่รัฐมีนโยบายปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 305-310 ตามจังหวัด ที่กำหนด คือผมอยู่สมุทรปราการ ซึ่งผมต้องปรับเป็น 340 ถูกไหมครับ แต่ตั้งแต่มกราคมจนถึงกุมภาพัน ผมยังไม่มีการปรับขึ้นเลยสักนิด แล้วพนักงานคยอื่นเค้าปรับกันหมดแล้ว แบบนี้ถือว่าบริษัทผิดใช่ไหมครับ ผมสามาตรฟ้องกรมแรงงานได้ใช่ไหมครับ ขอคำแนะนำด้วยครับ..

  4. หากที่บริษัทปรับเฉพาะคนที่เงินเดือน 9000 บาทเป๊ะๆให้เป็น 9300 แต่คนที่ได้ 9350 หรือ 9300 ตั้งแต่ต้น ไม่ปรับครับผม อันนี้บริษัทสามารถทำได้หรือไม่ ? ครับ ซึ่งทำให้พนักงานบางส่วนไม่พอใจมากครับผม เพราะมีพนักงานที่ได้ประเมินอัตราค่าจ้างใหม่ ทำงานมาปีกว่า ได้มา 400 บาท แล้วพวกที่เพิ่งเข้างานมาอายุงานแค่ 2 เดือน ได้ปรับเป็น 9300 บาททันที แต่พวกที่ปรับไปก่อนหน้านี้ก็ งง ว่าทำไมเค้าไม่ได้ปรับฐานด้วยครับ

    1. ถ้าว่ากันตามกฎหมาย บริษัทไม่ได้ทำผิดกฎหมายอะไรนะครับ เพราะไม่ได้จ่ายต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ที่กำหนดไว้
      แต่ถ้าว่ากันตามหลักบริหารค่าจ้างเงินเดือน ในเรื่องของความเป็นธรรมในการบริหารค่าจ้างเงินเดือน อันนี้ก็อาจจะไม่ค่อยเป็นธรรมเท่าไหร่สำหรับพนักงานเก่า
      แต่ก็คงต้องอยู่ที่นโยบายของบริษัทและผู้บริหารของบริษัทด้วยว่า ให้ความสำคัญในเรื่องเหล่านี้มากน้อยเพียงใดครับ

      ขอบคุณมากครับ

  5. สอบถามเกี่ยวกับฐานเงินเดือนพนักงานใหม่หน่อยค่ะพอดีไม่มีความรู้ด้านhr แล้วมีพนักงานมาสมัครงานรายเดือนด้วยความที่ไม่รู้เลยให้ค่าจ้างแค่9,000 ผ่านโปรจะเพิ่มให้ ตามที่บริษัทกำหนด อย่างงี้ผิดกฎหมายมั่ยค่ะ

    1. บริษัทอยู่ กทม. หรือเปล่าครับ ถ้าใช่ก็ผิดกฎหมายครับ เพราะตอนนี้ค่าจ้างขั้นต่่ำอยู่ที่ 310 บาทต่อวัน คิดเป็นรายเดือนก็อยู่ที่ 9,300 บาทต่อเดือนครับ ส่วนเงินเดือนที่ให้นั้น จะสามารถดึงดูด หรือรักษาพนักงานให้ทำงานได้หรือไม่นั้น อันนี้ตอบยากครับ เพราะต้องมาดูว่า เป็นตำแหน่งอะไร และตลาดจ่ายอยู่เท่าไหร่ ถึงจะสามารถกำหนดอัตราเงินเดือนที่แข่งขันกับตลาดได้ครับผม

    1. ถ้าเป็นรายเดือนจริงๆ ก็ถือว่า ผิดนะครับ ถ้าจ่ายน้อยกว่า 9,000 บาทครับ

ส่งความเห็นที่ ยุพดี ยกเลิกการตอบ

บลอกที่ WordPress.com .

Up ↑