องค์การแห่งการเรียนรู้ กับผู้รู้(ไปซะทุกอย่าง)

มีหลายองค์กรที่พยายามที่จะสร้างองค์กรของตนเองให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ มีการสร้างระบบการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่ดี เพื่อให้ความรู้ต่างๆ ที่มีอยู่ในองค์กรนั้น กระจายไปสู่พนักงานทุกคน ทั้งนี้ก็เพื่อให้พนักงานสามารถที่จะใช้ความรู้ดังกล่าวไปใช้ในการสร้างผลงานของตนให้ดีขึ้นอยู่เสมอ

แต่ประเด็นในเรื่ององค์กรแห่งการเรียนรู้กลับมามีปัญหาขาดตอน ขาดช่วง และไม่มีการสานต่อในเรื่องของความรู้ต่างๆ สิ่งที่ผมได้พบมาก็คือ องค์กรที่สร้างระบบการเรียนรู้ภายในนั้น จะต้องมี 2 ฝ่าย ก็คือ ฝ่ายที่ให้ความรู้ และฝ่ายที่รับเอาความรู้ไปใช้

ฝ่ายที่ให้ความรู้นั้น องค์กรที่เน้นการเรียนรู้อย่างจริงๆ จังๆ จะมีการสรุปและแชร์ความรู้ต่างๆ ที่เป็นความรู้ที่สำคัญขององค์กร โดยนำเอาความรู้เหล่านี้ เข้าระบบ e-learning ต่างๆ รวมทั้งมีการวางระบบแลกเปลี่ยนความรู้ต่างๆ เพื่อที่พนักงานคนไหนที่อยากรู้เรื่องอะไร ก็จะมีแหล่งความรู้เหล่านี้พร้อมที่จะให้พนักงานคนนั้นได้เรียนรู้กันจริงๆ เพื่อนำความรู้นั้นไปใช้ในการปฏิบัติงานและสร้างผลงานที่ดีขึ้น

ในปัจจุบันมีหลายคนในองค์กรที่พยายามที่จะให้ความรู้ เท่าที่ผมได้พบกับลูกค้าหลายๆ บริษัทมานั้น ปัจจุบันบรรดาผู้จัดการทั้งหลายต่างก็ยินดีที่จะสรุปองค์ความรู้ต่างๆ ที่เขามีโดยไม่หวงวิชาแต่อย่างใดครับ ทั้งนี้เพื่อนำองค์ความรู้เหล่านั้นมาถ่ายทอดต่อไปยังพนักงานรุ่นต่อๆ ไป เพื่อไม่ให้ความรู้ขององค์กรขาดหายไป

ด้วยเหตุนี้เององค์กรที่สร้างระบบการเรียนรู้ที่ดีนั้น จะมีองค์กรความรู้มากมาย ที่สรุปออกมาจากเหล่าบรรดาผู้รู้ในองค์กร และเป็นแหล่งความรู้ที่มีคุณค่าต่อพนักงานมากมายทีเดียว

แต่ปัญหากลับเกิดขึ้นกับอีกฝ่ายหนึ่ง ก็คือ ฝ่ายผู้รับเอาความรู้ไปใช้ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ผู้ที่จะต้องรับเอาความรู้ไปใช้นั้นกลับมีทัศนคติที่เรียกว่า “ฉันรู้แล้ว” ดังนั้นก็เลยไม่มีใครสนใจที่จะนำเอาความรู้ที่ผู้ให้มานั้นไปใช้เลยแม้แต่เพียงนิดเดียว

ตัวอย่างเช่น พนักงานบางคน มีความเชี่ยวชาญในการทำงานหนึ่งๆ อย่างมาก และความรู้นั้นก็เป็นความรู้ที่ต้องนำมาถ่ายทอดต่อไปให้กับพนักงานคนอื่นๆ ความรู้เหล่านั้นก็ถูกสรุปและใส่เข้าไปในระบบการเรียนรู้ของบริษัท แต่เชื่อมั้ยครับว่า แทบจะไม่มีใครเข้าไปเปิดอ่าน และศึกษาความรู้เหล่านั้นเลย ด้วยเหตุผลว่า “ฉันรู้หมดแล้ว” หรืออีกมุมหนึ่งก็คือ คนในด้วยกันเองไม่ค่อยน่าเชื่อถือเท่าไร ก็เลยไม่มีใครไปสนใจความรู้เหล่านั้นเลย มันน่าเสียดายมากๆ เลยนะครับ

คนที่มีทัศนคติที่บอกกับตัวเองอย่างเดียวว่า “ฉันรู้แล้ว” จะทำให้เขาเองเกิดความไม่รู้มากขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะในปัจจุบันความรู้ใหม่ๆ มีมากขึ้น มีการแตกยอดออกไปมากมาย ดังนั้นคนที่มีทัศนคติที่เชื่อว่า ตนรู้แล้ว ก็จะวนเวียนอยู่กับความรู้แบบเดิมๆ ซึ่งก็แปลว่า ไม่ได้รู้มากขึ้นเลย

ทิฐิของคนเราที่ทำให้คนเราปิดตัวเองจากการเรียนรู้ภายในองค์กรก็มีดังนี้ครับ

  • ฉันทำมาเยอะแล้ว คนอื่นทำน้อยกว่า จะมารู้มากกว่าได้อย่างไร
  • ฉันเป็นรุ่นพี่ เรียนจบมาก่อน วัยวุฒิก็มากกว่า ทำไมต้องมาเรียนรู้กับรุ่นน้อง หรือรุ่นลูก
  • นายคนนี้มันไม่ได้เรื่อง ทำไมฉันต้องไปเรียนรู้จากคนแบบนี้ด้วย
  • ฉันเรียนรู้มาหมดแล้ว ทำไมต้องเรียนรู้อะไรเพิ่มเติมอีก แค่นี้ก็พอแล้ว

ถ้าคนในองค์กรของท่านมีทัศนคติแบบนี้มากเกินกว่าครึ่งหนึ่งขององค์กร ผลที่จะเกิดขึ้นก็คือในองค์กรจะมีแต่ผู้รู้เต็มไปหมด แล้วจะไม่มีใครที่อยากจะเรียนรู้จากใครเลย เพราะมัวแต่คิดว่าตนเองรู้แล้วนั่นเองครับ สิ่งที่เราต้องทำก็คือเปิดใจให้กว้างเพื่อรับความรู้ หรือมุมมองใหม่ๆ จากคนอื่นบ้าง เราอาจจะเปลี่ยนคนอื่นไม่ได้ แต่เราเปลี่ยนตัวเราเองได้นะครับ เปลี่ยนตัวเองให้เปิดใจกว้าง ยอมรับความรู้แม้จะเป็นความรู้เดิมๆ ที่เราเคยรู้มาแล้ว แต่ถ้าเราเปิดใจกว้าง เราอาจจะเห็นมุมมองใหม่ๆ ที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนในความรู้เก่าๆ นั้นก็ได้นะครับ

1 thoughts on “องค์การแห่งการเรียนรู้ กับผู้รู้(ไปซะทุกอย่าง)

Add yours

ใส่ความเห็น

บลอกที่ WordPress.com .

Up ↑