การดูแลรักษาพนักงานที่เป็น Star

จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ทำขึ้นในแนวทางของ Pareto ที่บอกว่า พนักงานที่มีฝีมือดีเยี่ยมของบริษัทเพียง 20% จะสามารถสร้างผลงานของบริษัทได้ถึง 80% แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าองค์กรของเรามีพนักงานส่วนใหญ่ฝีมือแบบกลางๆ หรือค่อนไปทางแย่ ผลก็จะออกมาตรงกันข้ามเลย ก็คือ พนักงาน 80% สร้างผลงานให้กับองค์กรเพียง 20% เท่านั้น ซึ่งถ้าเป็นแบบหลังแล้วล่ะก็ ในระยะยาวธุรกิจของเราก็คงเริ่มถอยหลังเข้าคลองไปเรื่อยๆ

สิ่งที่ผมต้องการจะบอกก็คือ การรักษาพนักงานที่เป็นพนักงานที่มีฝีมือดี ผลงานเยี่ยม หรือที่เรียกกันว่า Star ให้ยินดีและเต็มใจทำงานให้กับองค์กร เป็นสิ่งที่สำคัญมากเพราะ star เพียงไม่กี่คนนั้นสามารถสร้างผลงานที่ดีเลิศให้กับองค์กรได้มากกว่าพนักงานที่ผลงานไม่ดี และผมก็เชื่อว่าเกือบทุกองค์กรก็มีแนวคิดแบบนี้

แต่ในทางปฏิบัติที่เห็นมานั้น บริษัทส่วนใหญ่ทำในทางตรงกันข้ามเลย กล่าวคือ มักจะมีแผนงาน หรือวิธีการต่างๆ ออกมาเพื่อรักษาพนักงานทุกคนเหมือนๆ กัน ไม่มีความแตกต่างระหว่างพนักงานที่มีฝีมือดี ผลงานเยี่ยม ซึ่งก็เป็นผลทำให้ star ของเราเกิดความรู้สึกว่าสิ่งที่เขาได้จากองค์นั้น ไม่คุ้มกับผลงานที่เขาลงมือทำเลย

จากงานวิจัยในนิตยสารของ Harvard Business Review เดือนพฤษภาคมที่ออกมานั้น บอกไว้เลยว่า บริษัทส่วนใหญ่จะคิดเอาเองว่า พนักงานที่มีผลงานดี ฝีมือเยี่ยม เป็นคนที่รักและอยากทำงานกับองค์กรอยู่แล้ว มิฉะนั้นเขาคงไม่สร้างผลงานออกมาขนาดนี้ พอองค์กรต่างๆ คิดแบบนี้ มาตรการต่างๆ ที่ออกมาเพื่อรักษาพนักงาน ก็จะเป็นมาตรการสำหรับพนักงานที่ไม่ใช่ Star แต่องค์กรก็หวังไว้ว่า วันหนึ่งพนักงานเหล่านี้จะแปลงร่างเป็น Star ได้ด้วยมาตรการการรักษาพนักงานที่บริษัทออกมา

แต่จริงๆ แล้วเขาคิดผิดอย่างมหันต์ ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ พนักงานที่มีผลงานดี ฝีมือเยี่ยมนั้น ย่อมต้องการให้บริษัทดูแลเขาเป็นอย่างดีเช่นกัน เพราะปกติคนเราก็คาดหวังอยู่แล้วว่า สิ่งที่เราลงมือทำไปอย่างเต็มที่นั้น ย่อมจะได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับที่เราได้ลงแรงไป แต่บริษัทกลับไปดูแลพนักงานในระดับผลงานกลางๆ ไปถึงแย่

ไม่ว่าจะเป็นมาตรการการพัฒนาพนักงาน ซึ่งเน้นไปที่พนักงานที่มีผลงานไม่ดี จะทำให้เขามีผลงานดีขึ้น ก็เลยมีมาตรการในการส่งเขาไปอบรมพัฒนา ใส่วิชาความรู้ต่างๆ ให้เขา เพื่อจะได้ให้เขาเป็น Star อีกคนหนึ่ง หรือแม้แต่นโยบายทางด้านบริหารค่าจ้างเงินเดือน ก็เน้นไปที่การจูงใจพนักงานที่มีผลงานไม่ดี เพื่อกระตุ้นให้เขาสร้างผลงานที่ดีขึ้น โดยลืมกลุ่มพนักงานที่เป็น star ไปเลย เพราะคิดอยู่แค่ว่า พนักงานที่เป็น Star นั้นเก่งอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องไปพัฒนามาก และดูแลมาก

ผลสุดท้ายก็คือ พนักงาน Star ของบริษัทก็เริ่มมองหาลู่ทางใหม่ๆ ที่ดีกว่าที่เดิม เพราะเขาคิดว่าด้วยฝีมือที่ดีของเขานั้น มีทางไปอย่างแน่นอน ยิ่งในช่วงเศรษฐกิจขาลงแบบนี้ กลุ่ม Star จะเป็นกลุ่มที่หางานใหม่ได้ไม่ยากเลยครับ เพราะด้วยฝีมือ และผลงานที่ผ่านมา ย่อมทำให้หลายๆ บริษัทอ้าแขนรับเขาอย่างเต็มใจ ผลก็คือบริษัทเราก็จะเริ่มขาดแคลนคนเก่งๆ ไปเรื่อยๆ

ดังนั้นสิ่งที่ผมอยากจะให้ช่วยกันดูช่วยกันคิด ก็คือ มาตรการทางด้านการบริหารงานบุคคลของบริษัทเรานั้นเป็นมาตรการที่รักษาคนเก่งของเราไว้ หรือไล่คนเก่งออกไป ในปัจจุบันบริษัทที่ให้ความสำคัญกับการรักษาคนเก่งและมีฝีมือนั้น จะมีการวางรูปแบบการบริหารให้แตกต่างออกไปจากพนักงานธรรมดา ทั้งนี้ก็เพื่อให้เขามีความรู้สึกผูกพันและอยากสร้างผลงานให้กับองค์กรต่อไป

ถ้าเมื่อไรที่เราบริหารพนักงานธรรมดา และพนักงานที่ผลงานแย่ๆ ในรูปแบบเดียวกับพนักงานเก่งๆ สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ พนักงานเก่งๆ ก็จะย้ายที่เพื่อไปเก่งที่อื่นที่ไม่ใช่บริษัทนี้

1 thoughts on “การดูแลรักษาพนักงานที่เป็น Star

Add yours

  1. อืมเป็นแนวคิดที่ดีครับ
    แล้วถ้าการบริหารจัดการ คือ ให้กลุ่มกลางๆ ถึงล่าง มีฐานการตอบแทนเดียวกัน
    แต่สำหรับ กลุ่ม star เราก็วางไว้อีกแนวทางหนึ่ง จะดีไหมครับ หรือทำก็ให้เด่นไปเลย โดนไม่สนใจกลุ่มอื่น

    แล้วอีกอย่างครับ ผมอยากถามว่า สมมุติ HR อย่างที่ผมเป็นอยู่ ไม่ได้เป็น Stegic Partner อย่างที่แนวความคิดใหม่ๆ มีอยู่ เราจะทำไงเพื่อให้ไปยืนตรงจุดนั้นได้ครับ..เพราะบางอย่างที่ได้รับรู้ คือ เป็นคำสั่งลงมาแล้ว

ใส่ความเห็น

บลอกที่ WordPress.com .

Up ↑