วันนี้ขอเป็นอีกเรื่องที่เกี่ยวกับความเชื่อเรื่องของ Generation แต่เป็น Generation รุ่น Baby Boomer ซึ่งปัจจุบันก็น่าจะเริ่มเกษียณอายุกันไปแล้ว และอาจจะมีการต่ออายุกันบ้างในบางองค์กร และก็เริ่มมี Gen X ที่เริ่มเข้าสู่วัยใกล้เกษียณอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งในยุคนี้ ที่คนรุ่นใหม่น้อยลง เริ่มเข้าสู่สังคมแบบ Aging Society มากขึ้น หลายองค์กรก็เริ่มที่จะคิดถึงนโยบายการจ้างพนักงานที่เกษียณอายุแล้วให้เข้ามาทำงาน เพราะหลายคนยังคงมีพลังในการทำงานมากมายเหลือเฟือ ประสบการณ์ล้นเหลือ และยังคงเต็มใจที่อยากจะทุ่มเททำงานอยู่
แต่ก็มีความเชื่อบางอย่างที่ยังคงค้างคาในใจผู้บริหาร และ HR ในบางกลุ่มว่า คนรุ่นเก่า ๆ นั้น มักจะมีปัญหาในการทำงาน ความเชื่อเหล่านี้มีอะไรบ้างเราลองมาดูกันครับ
- ความเชื่อที่ 1 พนักงานที่อายุมากๆ จะกลัวการเปลี่ยนแปลง คนรุ่นใหม่ที่ทำงานในองค์กรที่เปลี่ยนแปลงบ่อยๆ มักจะมีความเชื่อว่า พนักงานรุ่นก่อนๆ ที่มีอายุมากๆ นั้น จะเป็นคนที่กลัวการเปลี่ยนแปลง และไม่ชอบที่จะเปลี่ยนแปลงอะไร อยากอยู่ทำงานแบบเดิมๆ ไปเรื่อยๆ
- ข้อโต้แย้ง เมื่อได้สอบถามจากพนักงานกลุ่มนี้ พร้อมกับงานวิจัยที่เขาสอบถามกลุ่ม Baby Boomer และพนักงานที่ใกล้เกษียณอายุมา ก็พบกว่า เกือบ 80% ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า พวกเขาไม่ได้กลัวการเปลี่ยนแปลงเลย เพราะในช่วงชีวิตของเขา ก็พบกับการเปลี่ยนแปลงมาเยอะ ไม่เห็นต้องกลัว แต่ที่ไม่ค่อยเปลี่ยน ก็เพราะองค์กรไม่มีใครมาบอกเขาว่า จะต้องเปลี่ยนแปลงอะไรอย่างไรบ้าง มีแต่บอกว่าให้อยู่แบบนี้แหละ ไม่ต้องเปลี่ยนอะไร เพราะอายุเยอะแล้ว แต่ถ้าผู้บริหารมาบอกตรงๆ ว่ามีการเปลี่ยนแปลงการทำงานต่างๆ ก็ยินดีที่จะเปลี่ยนแปลงตาม แถมยังย้ำอีกว่า คนรุ่นเก่าเปลี่ยนแปลงตัวเองได้เร็วกว่าคนรุ่นใหม่ด้วยซ้ำไป
- ความเชื่อที่ 2 พนักงานที่อายุมากๆ นั้น แก่เกินไปแล้วที่จะทำงานในองค์กร คนรุ่นใหม่มองพนักงานกลุ่มนี้ว่า มีอายุมากเกินไปที่จะมานั่งทำงานในองค์กรแล้ว ควรจะปล่อยให้คนรุ่นหลังเขาทำงานกันจะดีกว่า น่าจะไปพักผ่อนได้แล้ว ด้วยร่างกายที่ช้าลง การตอบสนองต่างๆ ที่ไม่ทันใจ ฯลฯ จะทำให้การทำงานออกมาไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
- ข้อโต้แย้ง คนรุ่นนี้ให้เหตุผลว่า แม้ว่าร่างกายจะแก่ลงทุกวัน การตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ ช้าลงไปมาก แต่สิ่งหนึ่งที่ยังใช้การได้ดีอยู่เสมอ ก็คือ สมองและประสบการณ์ในการทำงานที่ผ่านมา และข้อพิสูจน์ทางการแพทย์ ก็ยืนยันเช่นกันว่า คนที่อายุ 60 ปีนั้น ยังมีสมองที่แข็งแรง และคิดได้ฉับไว ไม่ต่างกับคนหนุ่มสาวเลย ขอเพียงแค่เข้าใจและใช้งานคนกลุ่มนี้ให้ถูกจริต ให้คุณค่ากับประสบการณ์ที่ผ่านมา รับฟังสิ่งที่เสนอ เพราะคนกลุ่มนี้จะอ่านเยอะ ฟังเยอะ ได้อะไรเข้ามาในสมองเยอะ ซึ่งจะทำให้เกิดผลงานที่โดดเด่น และดีกว่าคนรุ่นใหม่แน่นอน
- ความเชื่อที่ 3 พนักงานอายุมากๆ ไม่มีความสามารถทางเทคโนโลยีใหม่ ๆ คนรุ่นใหม่ที่โตขึ้นมาพร้อมกับความเจริญทางเทคโนโลยีในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ แทบเล็ต โทรศัพท์มือถือ และแอพต่างๆ จะมีความคุ้นเคย และสามารถเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ได้เร็ว พร้อมกันนั้นก็เห็นคนรุ่นพ่อแม่ที่ไม่คุ้นกับเทคโนโลยีเลย จะทำอะไรก็ดูงกๆ เงิ่นๆ ไปหมด ก็เลยสรุปเอาเองเลยว่าคนรุ่นนี้ไม่มีความสามารถทางเทคโนโลยีเลย
- ข้อโต้แย้ง คนรุ่นเก่าก็ให้เหตุผลว่า สมัยที่เขาเติบโตขึ้นมานั้น มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมมากมาย มีการเดินขบวนเรียกร้องสิ่งต่างๆ มากมาย มีการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม บางคนก็เคยเข้าร่วมรบสงครามต่างๆ มาแล้ว ซึ่ง คนรุ่นนี้ก็บอกว่า เขาเองทำเรื่องใหญ่ๆ มาเยอะ เข้าร่วมสงครามก็มีแล้ว แค่เรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ แค่นี้ จะไปกลัวอะไร เขาสามารถเรียนรู้ได้อย่างไม่ยากเย็น และเท่าที่ผมเห็น ก็เป็นจริงอย่างที่คนรุ่น Baby boomer กล่าวไว้เลย เห็นมากับตาว่าผู้บริหารรุ่นใกล้เกษียณหลายคนที่เคยพบเจอมา เป็นคนที่สามารถใช้คอมพิวเตอร์ได้ ใช้ ipad ได้อย่างคล่องแคล่วทีเดียว อีกทั้งยังติดตามเทคโนโลยีกันอย่างจริงจัง AI หรือ Chat GPT เรียกว่า สามาถนำมาใช้ในการทำงานได้ดีกว่าเด็กรุ่นใหม่บางคนที่แทบจะไม่รู้จักสิ่งเหล่านี้ก็เลยก็มี เรียกว่าเด็กรุ่นใหม่ยังอายถ้าได้เห็น
จากความเชื่อ 3 ประการที่คนรุ่นเก่าๆ ในองค์กรถูกคนรุ่นใหม่มองนั้น จากเหตุผลที่กล่าวมา ก็แสดงให้เห็นว่า เป็นเรื่องที่ไม่จริงไปซะทุกคน ย้ำนะครับว่า ไม่ใช่ทุกคน เราคงต้องมีวิธีการพิจารณาและคัดเลือก คนที่เหมาะสมเช่นกัน เหมือนคนรุ่นใหม่เอง ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะเต็มใจทำงาน หรือเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เช่นกัน
คนรุ่นเก่าๆ มีประสบการณ์ที่มากมาย ผ่านสิ่งต่างๆ มาเยอะมาก สามารถที่จะให้คนรุ่นใหม่เรียนลัดได้ โดยที่ไม่ต้องไปลองผิดลองถูกใหม่อีกครั้ง จะได้ไม่เสียเวลาในการเรียนรู้ เราก็สามาถเรียนรู้จากคนรุ่นเดิมได้ อีกทั้งก็ไม่ได้กลัวการเปลี่ยนแปลง ไม่ได้เป็นคนที่ไม่มีแรงทำงานแล้ว และไม่ใช่คนที่กลัวเทคโนโลยีเลย
ตรงกันข้าม ถ้าองค์กรมีวิธีในการบริหารจัดการที่ดี มีการสื่อสารภายในที่ดี ถึงนโยบายต่างๆ ขององค์กร และไม่มองว่า คนแก่คือคนที่ทำงานไม่ได้แล้ว และมีข้อจำกัดมากมาย ถ้าเราสามารถเปลี่ยนมุมมองจากเดิม มามองมุมใหม่ได้ องค์กรก็จะมีการประสานและเชื่อมโยงคนหลายๆ รุ่นเข้าไว้ด้วยกันได้อย่างไม่ยาก
ใส่ความเห็น