ทำไม CEO กับ Employee Engagement จึงมองกันไปกันคนละทาง

พูดถึงเรื่องของความรู้สึกผูกพันของพนักงานกับองค์กร หรือที่เรียกกันว่า Employee Engagement นั้น ฝ่ายบุคคลส่วนใหญ่มักจะมองว่ามีความสำคัญต่อผลงานขององค์กรเป็นอย่างมาก ถ้าองค์กรสามารถสร้างความผูกพันให้เกิดขึ้นกับพนักงานส่วนใหญ่ขององค์กร และพนักงานที่เป็น Talent ขององค์กร ก็จะทำให้ผลงานขององค์กรก้าวกระโดดไปได้อย่างดี อีกทั้งพนักงานก็ยังมีความสุขในการทำงานในองค์กรอีกด้วย

ดังนั้น ฝ่ายบุคคลขององค์กรในปัจจุบันจึงพยายามที่จะนำเสนอ และขายความคิดเรื่องของ การสร้างความผูกพันของพนักงานในองค์กรให้กับ CEO ของตน เพื่อที่จะช่วยกันสร้างสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นกับบริษัท

แต่ CEO ประมาณ 60% กลับมองว่า เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ไกลตัว และเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในทฤษฎีเท่านั้น ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นในทางปฏิบัติเลย ก็เลยไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากนัก สาเหตุที่ทำให้ CEO คิดแบบนี้ก็เนื่องมาจาก

  • มองว่า Engagement เป็นเรื่องไกลตัว ใช้เวลาในการสร้างนานเกินไป CEO ส่วนใหญ่เข้ามาทำงาน ก็ต้องมีการตกลงผลงานกับกรรมการของบริษัทว่าในแต่ละปีจะต้องสร้างผลงานอะไรบ้าง ต้องได้กำไรเท่าไหร่ ยอดขายต้องเป็นเท่าไหร่ พอเห็นดังนั้น สิ่งที่ CEO ดำเนินการก็คือ พยายามสร้างผลงานในระยะสั้นๆ ที่ตกลงกับทางกรรมการบริษัทไว้ โดยไม่สนใจว่า การสร้างฐานความมั่นคงในการทำงานของพนักงานนั้น มีความสำคัญมาก แม้ว่าจะต้องใช้เวลาสร้างนานมาก แต่ผลจะคุ้มค่ามากมาย แต่อย่างว่า CEO ก็พยายามสร้างผลงานระยะสั้นๆ เพื่อที่จะได้ให้คณะกรรมการมองเห็นถึงผลงานที่เป็นรูปธรรมมากกว่าการสร้างความผูกพันของพนักงานซึ่งเป็นนามธรรมเกินไป จับต้องแทบไม่ได้เลย

  • มองว่า Engagement เป็นเพียงสิ่งในอุดมคติ CEO ที่เข้ามาบริหารองค์กรบางส่วนก็มองว่า การที่ทำให้พนักงานรู้สึกผูกพันต่อองค์กรนั้นเป็นเรื่องที่มีในอุดมคติเท่านั้น ในทางปฏิบัติไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นได้จริง พนักงานเข้ามาทำงาน ต่างก็ต้องการเงินเดือน และค่าตอบแทนต่างๆ เป็นรางวัลในการทำงาน ดังนั้น ให้แค่เงินเดือนและสวัสดิการให้เพียงพอแก่พนักงานก็น่าจะเพียงพอที่จะทำให้พนักงานสร้างผลงานให้กับองค์กรได้ ไม่เห็นจำเป็นต้องไปลงทุนสร้างความผูกพันอะไรให้มันยุ่งยาก อีกทั้งก็ไม่รู้ว่าจะสร้างสำเร็จได้จริงหรือเปล่าด้วย

  • มองว่าพนักงานหาเมื่อไหร่ก็ได้ CEO บางคนมองเรื่องของการบริหารคนเป็นเรื่องที่ง่ายมาก ไม่พอใจพนักงานคนใด หรือพนักงานคนไหนที่ผลงานไม่ดี ก็ไล่ออกไป แล้วหาใหม่ ก็แค่นั้น ไม่เห็นต้องไปทำอะไรที่มันยุ่งยากเลย มีคนต้องการทำงานกับบริษัทมากมาย เราจะไปหาเมื่อไหร่ก็ได้ แล้วทำไมต้องลงทุนตั้งงบประมาณตั้งมากมาย สำหรับมานั่งวัดความผูกพันของพนักงาน แถมยังต้องจ้างที่ปรึกษาแพงๆ มาเพื่อที่จะมาบอกเราว่า องค์กรของเรานั้น พนักงานยังไม่มีความผูกพันเลย ถามหน่อยเถอะว่า พนักงานที่ผูกพันกับองค์กรนั้นมีจริงๆ หรือ องค์กรเราก็เป็นแบบนี้ ใครไม่อยากอยู่ ก็ไป เราก็หาใหม่ นี่ก็คือ วัฏจักรปกติของการบริหารองค์กร สรุปแล้วก็คือไม่ต้องไปสนใจเรื่องของ Engagement มากนัก ทำงานสร้างผลงานดีกว่า

  • มองว่า Engagement เป็นงานของฝ่ายบุคคล CEO บางคนเชื่อว่า งานในการสร้างความผูกพันของพนักงานในองค์กรนั้นเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของฝ่ายบุคคลแต่เพียงผู้เดียว CEO และผู้บริหารคนอื่นๆ ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับงานนี้ ก็เลยไม่ต้องทำอะไร ไม่สนับสนุนอะไร ต่างกันต่างก็ทำงานกันไป โดยไม่สนใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างกับการสร้างความผูกพันของพนักงานต่อองค์กร เพราะคิดกันไปในทางเดียวกันว่า นี่คืองานของ HR

ด้วยสาเหตุดังที่กล่าวมาข้างต้น ก็เลยทำให้องค์กรไม่ค่อยที่จะประสบความสำเร็จกับการสร้างความผูกพันของพนักงานมากนัก CEO บางคนก็พูดชัดเจนว่า พนักงานเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดในการสร้างความสำเร็จให้กับองค์กร แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ทำอะไรที่จะส่งเสริมให้พนักงานเกิดขวัญและกำลังใจในการทำงาน รวมทั้งเกิดความรู้สึกรักและผูกพันต่อองค์กรด้วยเลย

CEO ที่คิดแบบนี้ เชื่อมั้ยครับว่า ตัว CEO เองก็ยังไม่ผูกพันต่อองค์กรที่ตนเองบริหารอยู่เช่นกันครับ

2 thoughts on “ทำไม CEO กับ Employee Engagement จึงมองกันไปกันคนละทาง

Add yours

  1. อาจารย์คะ ประโยคนี้ สร้างสภาพแวดล้อมที่ใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของแต่ละคน คือ การทำอะไรในองค์กรคะ ไม่เข้าใจ วัดด้สนการสร้างระบบในสมบูรณ์ในปีที่ 1 และ ปีที่ 2 ใช้งานระบบ ปีที่ 3 ปรับปรุงระบบ แล้วมันคือ ระบบอะไร ไม่เข้าใจเลยค่ะ

    1. สวัสดีครับ

      รบกวนสอบถามเพื่อความแน่ใจนะครับ ว่าประโยคที่ว่า ไม่เข้าใจนั้น อยู่ตรงไหนของบทความครับ ผมพยายามหาแต่หาไม่เจอครับ รบกวน Copy ประโยค ที่ไม่เข้าใจมาก็จะดีครับ จะได้ตอบถูกประเด็นครับผม บทความชื่อ ทำไม CEO กับ Employee Engagement จึงมองกันไปกันคนละทาง ถูกต้องใช่มั้ยครับ

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

บลอกที่ WordPress.com .

Up ↑

%d bloggers like this: