ออกแบบ Incentive ทำอย่างไรให้จูงใจพนักงานในการสร้างผลงานได้จริง

ระบบ Pay for Performance ที่หลายๆ ท่านอาจจะเคยได้ยินได้ฟังมาบ้างนั้น เป็นระบบการบริหารที่เน้นการจ่ายเงินรางวัลให้กับพนักงาน โดยอาศัยผลลัพธ์ของงานที่พนักงานทำได้มาเป็นพื้นฐานในการจ่าย วัตถุประสงค์ก็คือ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงานที่จะอยากสร้างผลงานให้ดีขึ้นเรื่อยๆ เรียกว่ายิ่งทำผลงานได้มาก ก็ยิ่งได้เงินรางวัลในส่วนนี้มากขึ้นเรื่อยๆ

แต่ในทางปฏิบัตินั้น หลายองค์กรมองว่า การขึ้นเงินเดือน และการให้โบนัสพนักงานนั้น เป็นเรื่องของ Pay for Performance ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่ผิดครับ เพียงแต่ ถ้าองค์กรใดที่พนักงานที่มีผลงานที่ดีกลับรู้สึกหมดแรงจูงใจทันทีที่ได้รับเงินเดือนขึ้น หรือได้รับโบนัสไปแล้ว นั่นก็แสดงว่า ระบบของบริษัทเรานั้น ไม่ใช่ Pay for Performance ที่แท้จริง

การบริหารเงินรางวัลอีกระบบหนึ่ง ที่เราเรียกกันว่า Incentive ก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่สอดคล้องกับผลงานของพนักงาน กล่าวคือ เป็นระบบที่ถูกออกแบบมาเพื่อที่จะกระตุ้น จูงใจให้พนักงานทำผลงานให้ได้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะได้รับเงินรางวัลตอบแทนในอัตราที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งระบบ Incentive นี้แหละครับ ที่เป็นเรื่องของ Pay for Performance ตัวจริง

แต่อย่างไรก็ดี การที่จะใช้ระบบ Incentive ให้ได้ผลดีนั้น จะต้องมีข้อควรคำนึงถึงดังต่อไปนี้

  • สร้างระบบ Incentive ที่เข้าใจง่ายๆ ไม่ซับซ้อนเกินไป ระบบ Incentive ที่ดีนั้น พนักงานผู้ปฏิบัติงานจะต้องเข้าใจระบบง่ายๆ และมองเห็นภาพตั้งแต่แรกที่ได้ฟังจบ รวมทังพนักงานเองยังสามารถที่จะคิดตามไปได้ด้วยว่า จะต้องทำอย่างไรจึงจะได้รับ Incentive นั้น ลองมาดูระบบ Incentive ของบริษัทหนึ่งดูนะครับ เขาเขียนว่า “พนักงานจะได้รับ Incentive ก็ต่อเมื่อ ยอดขายรวมของบริษัทมากกว่าเป้า 15% และยอดขายสินค้าที่รับผิดชอบ ต้องอยู่ในอัตรา 10% ของยอดขายรวม และเมื่อคำนวณเทียบต้นทุนแล้วจะต้องอยู่ในสัดส่วน 20% จึงได้ได้รับ Incentive 10% จากส่วนต่างของกำไรและต้นทุนการขายทั้งหมด ฯลฯ”  ยิ่งอ่านยิ่งงงครับ จริงๆ เขียนให้ง่ายๆ จะทำให้พนักงานเข้าใจได้ง่ายกว่า เช่น “พนักงานจะได้เงินรางวัลจำนวน 10% ของยอดขายส่วนที่เกินเป้าหมายที่กำหนด” เป็นต้น

  • กำหนดเป้าหมายที่เป็นจริงได้ เรื่องของการกำหนด Incentive ที่ดีนั้น เป้าหมายที่ตั้งให้กับพนักงาน จะต้องไม่ยากจนไม่สามารถไปถึงได้ เพราะถ้าพนักงานรู้สึกว่า ทำให้ตายก็ไม่มีทางได้ พนักงานจะเลิกทำงานนั้นไปเลย ซึ่งก็จะเกิดความเสียหายต่อผลงานในภาพรวมทั้งหมดของบริษัทได้ หรือ ในอีกกรณีหนึ่ง การกำหนด Incentive ที่ดีนั้น เป้าหมายจะต้องเชื่อมโยงกับงานโดยตรงของพนักงาน และสามารถวัดได้อย่างชัดเจน เช่น ถ้าไปผูก Incentive ให้กับพนักงานขาย โดยกำหนดเป้าหมายของราคาหุ้นของบริษัทจะต้องสูงขึ้นอีก xxx% แบบนี้พนักงานขายจะไม่รู้เลยว่า จะต้องทำอย่างไรที่จะทำให้ราคาหุ้นของบริษัทเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งก็จะยิ่งทำให้พนักงานรู้สึกว่า อย่าทำมันเลยดีกว่า เพราะไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร และเกี่ยวเนื่องกับงานที่ทำอย่างไร

  • อย่าเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์กลางคัน การกำหนด Incentive ที่ดี กฎเกณฑ์ต่างๆที่กำหนดไว้นั้นจะต้องกำหนดแล้วอย่าเปลี่ยนแปลงระหว่างทาง เพราะการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ต่างๆ จะทำให้พนักงานเกิดความสับสน ไม่รู้ว่าจะต้องทำงานอย่างไรดี ทำไปสักพัก ก็เปลี่ยนแปลงอีก บางแห่ง ทำงานยังไม่ทันจะครบกำหนดเวลา ก็มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการจ่าย Incentive นับสิบครั้ง ซึ่งสุดท้ายพนักงานก็เกิดความสับสน และไม่สนใจจะทำงานอีก เพราะไม่รู้ว่าทำไปแล้วจะได้อะไร และอะไรคือสิ่งที่แน่นอนกันแน่

  • จ่าย Incentive ตามกำหนดเวลา เมื่อพนักงานทำงานได้ตามเป้าหมาย หรือมากกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้แล้วก็ต้องจ่ายเงินรางวัลตามกำหนดเวลาที่วางแผนไว้ ไม่ควรจะเลื่อน หรือทำให้การจ่ายล่าช้าออกไป เพราะบางแห่ง อ้างว่าข้อมูลผลงานยังมาไม่ครบ ก็เลยยังไม่สามารถจ่ายได้ ก็เลยทำให้พนักงานรู้สึกไม่ถูกจูงใจในการสร้างผลงานต่อๆ ไป

การที่เราจะใช้ระบบ Incentive นั้น จริงๆ แล้วเป็นระบบที่ดี และเน้นไปที่การสร้างผลงานของพนักงาน ระบบ Incentive ที่ออกแบบดีๆ นั้น จะยิ่งทำให้พนักงานรู้สึกอยากทำงานต่ออีกหน่อย เวลาที่ทำได้ตามเป้าหมายแล้ว ก็ยังอยากที่จะทำต่อไปอีก เพราะมีระบบ Incentive กระตุ้นอยู่

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

บลอกที่ WordPress.com .

Up ↑

%d bloggers like this: