เรื่องของการสรรหาคัดเลือกพนักงานใหม่ ก็ยังคงเป็นงานหลักของฝ่ายบุคคลในทุกวันนี้ เพราะนี่คืองานในขั้นตอนแรกๆ ของกระบวนการบริหารทรัพยากรบุคคลเลยก็ว่าได้ เรื่องของการหาคนเข้าทำงานนั้น ถ้ามองกันให้ลึกแล้ว เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากต่อองค์กร ถ้าเราไม่ให้ความสำคัญกับการสรรหาและคัดเลือกพนักงานแล้ว องค์กรก็จะได้พนักงานที่ไม่เหมาะสม มีคุณสมบัติไม่ตรงกับที่ต้องการบ้าง หรือได้มาแบบงงๆ ว่าเข้ามาได้อย่างไร ผลก็คือ ทำงานไม่ได้ ผลงานไม่ออก หัวหน้าก็เหนื่อยเหมือนเดิม แถมองค์กรเองก็ไม่กล้าที่จะให้พนักงานกลุ่มนี้ออกจากบริษัทอีก
เมื่อการสรรหาและคัดเลือกพนักงานมีความสำคัญแบบนี้ ทำไมองค์กรหลายแห่งถึงไม่เคยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เลย กลับปล่อยปละละเลย ไม่มีการกำหนดมาตรฐานของการคัดเลือกพนักงานไว้เลย โดยเฉพาะเรื่องของการสัมภาษณ์ผู้สมัคร พูดได้เลยว่า บางองค์กรนั้น มีผู้จัดการคนไหนว่าง ก็เรียกมาช่วยสัมภาษณ์หน่อย และการสัมภาษณ์แต่ละครั้ง ก็ไม่มีการวางมาตรฐานไว้เลย สุดท้าย ก็เลยมั่วครับ ได้คนแบบไม่ค่อยตรงกับที่บริษัทต้องการ
ผู้สมัครงานในยุคใหม่นั้น ไม่ได้มองแค่เพียงว่า เราเข้าไปให้บริษัทเลือกแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ผู้สมัครเองก็เป็นฝ่ายเลือกว่าจะทำงานกับบริษัทหรือไม่เช่นกัน คำถามคือ ผู้สมัครเลือกจากไหน คำตอบง่าย ๆ ก็คือ จากคนที่มาสัมภาษณ์เขานี่แหละครับ ถ้าคนมาสัมภาษณ์ถามอะไรก็ไม่รู้ ไม่มีประเด็น จับประเด็นไม่ได้ คำถามแบบไม่สมเหตุสมผล หรือมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ฯลฯ ก็ยิ่งทำให้ผู้สมัครสามารถตัดสินใจได้เลยว่า เขาจะทำงานกับบริษัทนี้หรือไม่
ดังนั้นเวลาที่บริษัทเราจะมีการสัมภาษณ์ผู้สมัคร ก็ต้องพึงระวังในเรื่องต่าง ๆ ต่อไปนี้ให้ดี
- ตัดสินใจเร็วไปหน่อย ว่าชอบหรือไม่ชอบ ผู้สัมภาษณ์ไม่ว่าจะอยู่ในระดับใดก็ตาม หัวหน้างาน ผู้จัดการ หรือผู้อำนวยการ ฯลฯ ต่างก็เป็นมนุษย์ปุถุชนคนหนึ่ง ซึ่งมี รัก โลภ โกรธ หลง อยู่ในตัวเอง การที่ผู้จัดการสัมภาษณ์พนักงาน บางครั้ง สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ แค่เพียงเห็นหน้าตา และท่าทางของผู้สมัคร ก็ด่วนตัดสินในไปแล้วว่า ไม่ชอบ ไม่ดี ไม่เหมาะสม ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้เริ่มคุยเลยด้วยซ้ำไป และเมื่อไหร่ที่ผู้สัมภาษณ์คิดแบบนี้ การสัมภาษณ์ก็จะกร่อยๆ ถามไปงั้นๆ ให้เป็นพิธี เพราะในใจคิดไว้แล้วว่า ไม่ชอบ และไม่อยากได้ ซึ่งหารู้ไม่ว่า ผู้สมัครบางคน อาจจะไม่มีหน้ากากอะไรมาปิดบัง ซึ่งทำให้เราเห็นว่า ดูไม่ค่อยดีนัก แต่เอาเข้าจริง กลับเป็นคนที่เก่งมาก ผมก็เคยพบกับผู้สมัครลักษณะนี้มาก่อน ก็คือ เข้ามาในห้องสัมภาษณ์แล้วดูไม่น่าประทับใจเลย เรียกได้ว่าไม่เกิดความประทับใจแรกพบเลย แต่เราก็สัมภาษณ์กันต่อ โดยไม่ได้คิดอะไร สุดท้ายผู้สมัครท่านนี้ กลับกลายเป็นคนที่มีความคิดที่ดี มีประสบการณ์ในการทำงานที่เหมาะสมกับงานของบริษัท และสุดท้ายผู้สมัครท่านนี้ก็หลายเป็น star ขององค์กรจนทุกวันนี้ ดังนั้นจงระวังเรื่องของการด่วนตัดสินใจบนพื้นฐานของความชอบ ไม่ชอบส่วนตัว เพราะจะทำให้เราเสียโอกาสที่จะได้พนักงานมือดีเข้ามาทำงานในองค์กรได้
- ปล่อยการสัมภาษณ์ให้เป็นไปตามยถากรรม อีกประเด็นที่ต้องระวังก็คือ การสัมภาษณ์พนักงานนั้น เราทำขึ้นเพื่อที่จะได้รู้จักผู้สมัครงานมากขึ้น ดังนั้น เราควรจะใช้เวลาในช่วงนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการไม่ปล่อยให้การพูดคุยกันนั้นเป็นไปแบบไม่มีทิศทางอะไร ใครอยากถามอะไร ก็ถาม ใครอยากรู้เรื่องอะไรจากผู้สมัคร ก็ถามกันไป โดยไม่มีการตั้งเป้าหมายไว้ว่า เราจะสัมภาษณ์เพื่อที่จะได้คำตอบอะไรบ้าง ดังนั้นการสัมภาษณ์ที่ดี และได้ผล ก็คือ ต้องมีการกำหนดและหาพฤติกรรมบางอย่างของตำแหน่งงานนั้นที่ผู้สมัครจะต้องมี และแสดงออกให้เห็นในระหว่าสัมภาษณ์ จากนั้นก็ต้องนั่งกำหนดแนวคำถามที่จะใช้ เพื่อให้สอดคล้องกับสิ่งที่เราต้องการทราบ ส่วนในการสัมภาษณ์จริงนั้น ก็อาจจะมีการพูดคุยเรื่องอื่นๆ บ้าง นอกเรื่องบ้าง ก็ให้เป็นไปตามธรรมชาติ และต้องไม่ลืมที่จะแทรกคำถามต่างๆ ที่เราเตรียมไว้ ให้เป็นธรรมชาติ และพยายามใช้คำถามเหล่านี้กับผู้สมัครทุกคน จะได้เปรียบเทียบกันได้ว่าใครเหมาะสมที่สุด
- จงเตรียมตัวก่อนสัมภาษณ์เสมอ ในการสัมภาษณ์ผู้สมัครเพื่อให้ได้ข้อมูลที่สามารถตัดสินใจเลือกได้นั้นจะต้องมีการเตรียมตัวก่อนล่วงหน้าทุกครั้งที่จะมีการสัมภาษณ์ พยายามวางแผนการสัมภาษณ์กันเลยว่าใน 1-2 ชั่วโมงที่เราจะคุยกับผู้สมัครนั้น จะคุยอะไรบ้าง แบ่งเป็นกี่ช่วง เช่น ช่วงเริ่มต้น จะคุยอะไร ช่วงเนื้อหาจริงๆ จะต้องถามอะไรคุยอะไร และช่วงสรุป จะต้องปิดประเด็นอะไรให้ได้บ้าง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ถ้ามีการเตรียมพร้อมกันก่อนล่วงหน้า ก็จะทำให้เวลาที่เราใช้ในการสัมภาษณ์ผู้สมัคร เป็นเวลาที่คุ้มค่า และได้ข้อมูลที่ครบถ้วน พร้อมในการตัดสินใจว่าจะเลือกใครดี
- คนสัมภาษณ์ควรจะได้รับการอบรมในเรื่องนี้ และเป็นตัวแทนที่ดีของบริษัท ประเด็นนี้สำคัญไม่แพ้กัน คนที่สัมภาษณ์เพื่อคัดเลือกพนักงานเข้าทำงานนั้น จะต้องเป็นคนที่รู้วัฒนธรรมองค์กรอย่างดี มองคนออก และสามารถตั้งคำถามได้อย่างต่อเนื่องอย่างมีชั้นเชิง และสอดคล้องกับค่านิยมองค์กร และคุณสมบัติต่าง ๆ ของตำแหน่งงานที่กำลังหาอยู่ หลายองค์กรมีการกำหนดกฎเกณฑ์ชัดเจนเลยว่า ใครที่จะมาสัมภาษณ์ผู้สมัครจะต้องผ่านการอบรมเรื่องเทคนิคการสัมภาษณ์ และได้รับการรับรองว่า เป็นผู้บริหารที่มี Core value ขององค์กร และมีผลงานในระดับดี เพื่อที่จะได้เฟ้นหาพนักงานมือดีเข้ามาทำงานด้วยเช่นกัน
อย่าคิดว่าการสัมภาษณ์ผู้สมัครนั้นเป็นเพียงพิธีการอย่างหนึ่ง ก็เลยคิดว่า ใครก็ได้ที่ว่างก็มาสัมภาษณ์ได้หมด และจะถามอะไรก็ถามไปให้หมดเวลาไป ถ้าคนไหนไม่ชอบ ก็ถามน้อยหน่อย คนไหนชอบ ก็ถามเยอะหน่อย เพราะถ้าองค์กรใดสัมภาษณ์ผู้สมัครด้วยวิธีนี้ รับรองได้เลยครับว่า จะไม่มีทางที่จะได้พนักงานที่ตรงและเหมาะสมกับองค์กรได้เลย ซึ่งจะมีผลกระทบต่อผลงานขององค์กรในระยะยาวอีกด้วย เพราะถ้าพนักงานที่เราหามานั้นไม่เหมาะกับเราจริงๆ เขาอาจจะส่งต่อความไม่เหมาะนั้นให้กับคนอื่น ซึ่งจะมีผลต่อผลงานขององค์กรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย
เตรียมตัวกันสักหน่อย เพื่อผลที่ดีในระยะยาวดีกว่าครับ
ใส่ความเห็น