พนักงานรักองค์กรจริง หรือ ไปไหนไม่ได้กันแน่

ทุกองค์กรย่อมอยากที่จะให้พนักงานของตนนั้น มีความรักองค์กร ซึ่งความรักองค์กรนั้น คนส่วนใหญ่มักจะมองจากการที่พนักงานอยู่ทำงานกับบริษัทนานๆ ไม่เปลี่ยนงาน หรือย้ายงานไปไหน ยังคงอยู่ทำงานกับองค์กรไปเรื่อยๆ จนเกษียณอายุ

ประเด็นก็คือ การที่พนักงานไม่ลาออกจากองค์กรเลยนั้น แปลว่า พนักงานคนนั้นรักองค์กรจริงๆ หรือ หรือแปลว่า พนักงานคนนั้น ไม่สามารถที่จะไปไหนได้กันแน่

ลักษณะของพนักงานที่รักองค์กรจริงๆ เป็นอย่างไรบ้าง

  • เสนอแนวทางการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานที่ดีขึ้นอยู่เสมอ พนักงานที่มีความรักต่อองค์กรจริงๆ นั้น ไม่ใช่แค่เพียงอยู่นานเท่านั้น ยังเป็นคนที่ไม่ชอบอยู่นิ่ง มักจะชอบคิดอะไรใหม่ๆ และนำเสนอสิ่งที่ดีขึ้นๆ ให้กับบริษัทเสมอ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการทำงานแบบใหม่ๆ ระบบงานใหม่ๆ หรือเครื่องมือในการทำงานใหม่ๆ ที่จะทำให้งานของตน และของบริษัทพัฒนาไปได้อย่างต่อเนื่อง

  • เปลี่ยนปลงตนเองอยู่เสมอ พนักงานที่รักองค์กรจริงๆ มักจะเป็นคนที่ชอบการเปลี่ยนแปลง เวลามีอะไรดีๆ ต่อองค์กร ไม่ว่าจะเป็นระบบงานใหม่ๆ เข้ามา ก็มักจะชอบ และยินดีที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองให้เข้ากับระบบงานใหม่ๆ อยู่เสมอ ผิดกับพนักงานที่อยู่ทำงานนานๆ และอ้างว่ารักองค์กร ก็มักจะชอบต่อต้านการเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่มีผลกระทบต่อการทำงานของตนเอง เรียกว่า อย่ามาทำให้ตนเองต้องมีความยุ่งยากในการทำงาน หรือต้องเปลี่ยนแปลงตนเองในการทำงานเลย

  • องค์กรมีปัญหามักจะเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา พนักงานที่มีความรักองค์กรจริงๆ มักจะเป็นคนที่ชอบเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในเวลาที่องค์กรเกิดปัญหาต่างๆ ขึ้น โดยที่ไม่ต้องสั่งการอะไร พนักงานคนนี้ก็จะเสนอแนวทาง แนวคิดต่างๆ ในการแก้ไขปัญหา รวมทั้งบางครั้งก็ยอมที่จะเสียสละเวลา หรือทรัพยากรบางอย่างที่เป็นของส่วนตัว เพื่อมาทำให้องค์กรดีขึ้น

  • ทุ่มเททำงานให้กับองค์กรอย่างเต็มที่ คนที่รักองค์กรจริงๆ มักจะทำงานทุ่มเทให้กับองค์กร แบบว่า ไม่สนใจว่าจะได้เงินเดือนเท่าไหร่ สิ่งที่ทำให้กับองค์กรนั้นมักจะทำเกินกว่าเงินเดือนที่ได้รับอยู่เสมอ ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นคนที่มักจะให้ความช่วยเหลือแก่คนอื่นๆ ในองค์กรอยู่เสมอ โดยที่ไม่มีข้ออ้างว่า ธุระไม่ใช่ หรือนี่ไม่ใช่หน้าที่ความรับผิดชอบของตน

  • ภูมิใจในความสำเร็จขององค์กร พนักงานที่รักและผูกพันกับองค์กรนั้น มักจะรู้สึกภาคภูมิใจไปกับองค์กรเวลาที่องค์กรประสบความสำเร็จในการทำงาน และจะรู้สึกแย่ รวมทั้งคอยปกป้ององค์กร เวลาที่มีใครมาด่าว่า หรือพูดถึงองค์กรในทางที่เสียหาย ผิดกับพนักงานที่อยู่ไปเรื่อยๆ แต่อ้างว่ารักองค์กร เวลาที่องค์กรประสบความสำเร็จอะไร ก็ไม่ค่อยจะสนใจ และใส่ใจ บางรายไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่า องค์กรประสบความสำเร็จในเรื่องอะไรบ้าง อีกทั้งเวลาที่มีคนอื่นมาให้ร้ายองค์กร ก็มักจะเข้าร่วมนินทาให้ร้ายองค์กรไปกับเขาด้วย ทั้งๆ ที่ตนเองก็ทำงานอยู่ในองค์กรนี้

ส่วนพนักงานที่อยู่นานอย่างเดียว และอ้างว่ารักองค์กร ส่วนใหญ่ก็มักจะมีพฤติกรรมตรงข้ามกับข้างต้นที่กล่าวมา แต่หลักๆ ก็น่าจะมีดังนี้

  • อยู่นาน แต่ไม่อยากเปลี่ยนแปลงอะไร เป็นประเภทกลัวว่าการเปลี่ยนแปลงจะทำให้ตนเองต้องยุ่งยาก และลำบากมากขึ้นในการทำงาน ทำงานแบบเดิมๆ มันก็ดีอยู่แล้ว ไม่รู้จะเปลี่ยนแปลงไปทำไม

  • อยู่เฉยๆ ไม่ใช่เรื่องของตน พนักงานที่อ้างว่ารักองค์กร ก็มักจะเป็นพวกที่เวลาองค์กรมีปัญหา ก็มักจะอยู่เฉยๆ ไม่เข้ามาช่วยเหลืออะไร ยิ่งไปกว่านั้นในบางครั้งยังทำให้องค์กรยิ่งแย่ไปกว่าเดิม เข้าทำนองว่าซ้ำเติมองค์กรตนเอง นอกจากนั้นมักจะมีทัศนคติแบบว่า ไม่ใช่เรื่องของฉัน ฉันไม่เกี่ยว เวลาที่องค์รประสบกับปัญหา ก็เผ่นก่อน โดยไม่สนใจว่า จะมีส่วนเข้ามาช่วยเหลือองค์กรได้อย่างไร

  • ชอบนินทาองค์กรให้คนอื่นฟัง พนักงานที่อยู่นานอย่างเดียว แต่ไม่รักองค์กรเลย ก็มักจะชอบนินทาองค์กรที่ตนเองทำงานอยู่นี่แหละครับ ให้คนอื่นฟังว่า ไม่ดีอย่างไร มีสิ่งที่ต้องปรับปรุงมากมาย โน่นก็ไม่ดี นี่ก็ไม่ใช่ ไม่มีอะไรดีเลยสักนิด แต่ก็แปลกที่ยังทำงานอยู่กับองค์กร ไม่ยอมไปไหน ส่วนใหญ่ก็เข้าข่ายที่ว่า ไปไหนไม่ได้ เพราะทัศนคติแบบนี้ คงไม่มีองค์กรไหนอยากรับเข้าทำงานแน่นอนครับ

การที่องค์กรของเราไม่ค่อยมีพนักงานลาออกเลย หรือตัวชี้วัดทางด้านอัตราการลาออกดีมาก ก็ไม่ได้หมายความว่า พนักงานของเราจะรักองค์กรทุกคนนะครับ ลองสังเกตพฤติกรรมของพนักงานดูก็ได้ครับ ว่าเข้าข่ายไหนตามลักษณะที่กล่าวมาข้างต้น

ถ้าส่วนใหญ่เข้าข่ายหลัง แสดงว่า พนักงานกลุ่มนี้ไม่มีที่จะไปมากกว่าครับ

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

บลอกที่ WordPress.com .

Up ↑

%d bloggers like this: