ในการทำงานทุกองค์กรล้วนแล้วแต่มีค่านิยม ความเชื่อ รวมไปถึงวัฒนธรรมการทำงานที่แตกต่างกันออกไป บางความเชื่อและค่านิยม ก็เป็นสิ่งที่ดีที่ควร บางความเชื่อก็ถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป บางความเชื่อก็ไม่ควรจะมีอีกแล้วในการทำงานยุคปัจจุบัน วันนี้เราลองมาดูค่านิยมและความเชื่อในการบริหารคนที่ไม่ควรจะมีอยู่ในองค์กรในยุคปัจจุบัน ถ้าเราต้องการให้การบริหารคนในองค์กรมีประสิทธิผลมากขึ้น
- เชื่อว่าพนักงานที่มีผลงานดี คือพนักงานที่ใช้ชั่วโมงการทำงานในบริษัทนานกว่าคนอื่น ความเชื่อนี้ยังมีอยู่ในองค์กรบ้านเราครับ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ นายมักจะมองพนักงานที่อยู่ทำงานดึกๆ ดื่นๆ ว่าเป็นพนักงานที่มีความทุ่มเทต่อองค์กร และมักจะให้ผลงานพนักงานกลุ่มนี้ในเกณฑ์ดีเสมอ ประเด็นคือ ยิ่งอยู่ดึก แปลว่าพนักงานทุ่มเทจริงๆ หรือ หรือจริงๆ ก็คือ พนักงานคนนั้นทำงานไม่เป็น เลยต้องเสียเวลาทำใหม่อยู่เรื่อยไป สุดท้ายก็เลยต้องใช้เวลานานกว่าคนอื่น
- เชื่อว่าพนักงานที่มาทำงานตรงเวลา และกลับบ้านตรงเวลาเป๊ะนั้น แปลว่าไม่มีความทุ่มเทต่อการทำงาน ความเชื่อนี้ เป็นผลมาจากความเชื่อแรกครับ นายบางคนชอบพนักงานที่มาทำงานแต่เช้าตรู่ มาตอกบัตรแต่เช้ามืด และถ้ายิ่งอยู่บริษัทดึกๆ ยิ่งดี นายกลุ่มนี้จะไม่ชอบพนักงานที่มาทำงานตรงเวลา และกลับตรงเวลา เพราะเขารู้สึกว่า ไม่มีความทุ่มเทใดๆ ให้กับองค์กรเลย
- เชื่อว่าพนักงานที่ดีคือ พนักงานที่เชื่อฟังคำสั่งของหัวหน้า นายและหัวหน้าชอบความเชื่อนี้มาก เพราะถ้ามีลูกน้องที่เชื่อฟัง ก็จะทำให้การทำงานราบรื่นดี สั่งอะไรก็ได้ไปหมด และหัวหน้าส่วนใหญ่ก็จะรักลูกน้องแบบนี้มากกว่า ลูกน้องที่ชอบคิดและเถียงในการทำงาน เถียงในที่นี้ก็คือ มีข้อเสนอแนะแปลกๆ ใหม่ๆ เพื่อทำให้งานดีขึ้น แต่เชื่อหรือไม่ว่า หัวหน้าบางส่วนไม่ชอบลูกน้องแบบนี้เลย เขาอ้างว่าบริหารยาก ไม่เชื่อฟัง สั่งอะไรก็ยากไปหมด ทั้งๆ ที่ลูกน้องเองมองว่าตนเองพยายามที่จะทำให้งานดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น อะไรที่ทำแล้วไม่ดี ก็พยายามคิดที่จะเปลี่ยนแปลง
- เชื่อว่าพนักงานยิ่งอยู่นาน ยิ่งรักองค์กร ความเชื่อนี้เกิดขึ้นกับเถ้าแก่ในหลายๆ องค์กรในอดีต เนื่องจากยังไม่มีการทำตัวชี้วัดผลงานชัดเจน ดังนั้น สิ่งที่เถ้าแก่เชื่อก็คือ พนักงานคนไหนที่อยู่กับองค์กรนานๆ นั้นแปลว่าเขารักองค์กร และจะต้องตอบแทนและเลี้ยงดูพนักงานกลุ่มนี้ให้ดีเป็นพิเศษ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว พนักงานอยู่นานๆ ไม่ได้แปลว่า รักองค์กรเสมอไปจริงมั้ยครับ บางคนอยู่นานเพราะไม่มีที่จะไป ก็เลยต้องอยู่ต่อไปเรื่อยๆ ยิ่งไปกว่านั้นบางคนยิ่งอยู่นานยิ่งขี้เกียจ ผลงานไม่ออกเลยก็มี แต่คนที่อยู่นานและรักองค์กร ทุ่มเททำงานให้องค์กรก็มีนะครับ ไม่ใช่ไม่มี
ความเชื่อเหล่านี้ ยังคงฝังรากลึกอยู่ในหลายองค์กรในบ้านเรา ทั้งๆ ที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แต่บางครั้ง ความเชื่อเหล่านี้ ก็เปลี่ยนแปลงได้ยากมากครับ เช่นเรื่องเวลาทำงาน ผมยังเห็นหลายองค์กรเชื่อเรื่องของ การทำงานแบบมี Productivity ก็คือ ทำงานนาน ๆ ใช้เวลาในองค์กรนานกว่าคนอื่น นั่งอยู่ที่โต๊ะตั้งแต่เช้ายันดึก แบบนี้เรียกว่าขยัน และมี Productivity ซึ่งปัจจุบันนี้องค์กรส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มองกันแบบนี้ ไม่ได้เชื่อแบบนี้กันอีกแล้ว
เรามองกันที่ผลลัพธ์ของงานที่ออกมาในบางงาน ที่ไม่ต้องกังวลในเรื่องของเวลาการทำงาน หรือสถานที่ทำงาน อาจจะมีบางงานที่มองกันที่เวลาในการทำงาน แต่ก็ไม่ได้แปลว่านั่งทำงานยิ่งนานยิ่งดี กลับกลายเป็นตรงกันข้ามว่า ยิ่งใช้เวลาทำงานน้อยลง แต่ได้ผลลัพธ์เท่าเดิม แบบนี้ถือว่ามี Productivity มากกว่า
ใส่ความเห็น