คนที่เป็นผู้บริหาร และผู้นำองค์กร ย่อมจะได้อำนาจในการสั่งการและบริหารมาอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและเล็กนั้น ผู้บริหารระดับสูงถือว่าเป็นผู้ที่มีอำนาจเต็มในการบริหารจัดการ รวมถึงธุรกิจที่เป็น Family Business ก็มักจะให้อำนาจแก่ผู้บริหาร ซี่งปกติก็จะเป็นเจ้าของธุรกิจนั้น ๆ อยู่แล้ว ในการบริหารและตัดสินใจทำงานต่าง ๆ ของบริษัท
การใช้อำนาจที่ได้มานี้เองที่จะให้ผู้นำหรือผู้บริหารคนนั้นเป็นผู้นำที่ดีหรือผู้นำที่ไม่ดีได้ ก็อยู่ที่การใช้อำนาจที่มีอยู่ในมือไปในทางใด ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน เราได้รับทราบและศึกษาประวัติของทั้งผู้นำที่ดี และไม่ดี มาก็เยอะ แต่ในปัจจุบัน ก็ยังคงมีผู้นำที่ใช้อำนาจไปในทางที่ผิด ยิ่งไปกว่านั้นผู้นำบางคนก็ไม่รู้ (หรือแกล้งไม่รู้) เลยว่ากำลังใช้อำนาจที่มีอยู่ไปในทางที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งส่งผลต่อความรู้สึกของพนักงานเป็นอย่างมาก ยิ่งไปกว่านั้นยังส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของผู้นำคนนั้นอีกด้วย ลองมาดูสิ่งที่ผู้นำที่ไม่ดีทำกันว่า มีอะไรบ้าง
- สรรหาคัดเลือกคนในครอบครัวเดียวกันเข้ามาทำงาน ผู้นำบางคนพอได้ขึ้นสู่ตำแหน่งได้ไม่นาน ก็เริ่มออกลายโดยการเพิ่มว่าจ้างพนักงานที่มีนามสกุลเดียวกัน หรือ ญาติมิตรในครอบครัวเดียวกันเข้ามาทำงานมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด บางท่านก็ใช้อำนาจโดยตรงในการสั่งการให้ฝ่ายบุคคลรับเข้าทำงานทันที โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนใด ๆ ของบริษัท บางคนก็ใช้อำนาจในทางอ้อมบีบให้ฝ่ายบุคคลและหน่วยงานต้นสังกัดต้องรับเข้ามาทำงาน เพราะถ้าไม่ทำเช่นนั้นก็จะมีผลต่ออนาคตของผู้จัดการคนนั้นในบริษัท
- รับเพื่อนพ้องเข้ามาเป็นผู้บริหาร ผู้นำบางคนพอได้ดำรงตำแหน่งไม่นาน ก็เลิกจ้างผู้บริหารรอบข้างเดิมทั้งหมด และรับเอาเพื่อนพ้องน้องพี่เข้ามาดำรงตำแหน่งแทน ยิ่งไปกว่านั้น ในการบริหารงานก็ปล่อยปละละเลยกันไปเรื่อยๆ ให้เพื่อนแต่ละคนลุยกันไปเอง โดยไม่ใส่ใจอะไรมากนัก ลักษณะนี้ส่วนใหญ่พอบริหารไปสักพักก็จะเกิดปัญหาขึ้น และจะทะเลาะกันเอง ในเรื่องของผลประโยชน์ต่างๆ
- เลื่อนตำแหน่งให้กับคนสนิท ผู้นำบางคนพอได้ดำรงตำแหน่ง ก็จะดำเนินการหาช่องทางในการเลื่อนตำแหน่งให้กับลูกน้องเก่า หรือคนที่เคยทำงานด้วยกันมาก่อน หรือพนักงานที่อยู่ด้วยกันมานาน ผู้บริหารบางคนถึงกับตั้งตำแหน่งบริหารใหม่ให้เลยก็มี แล้วก็แต่งตั้งเพื่อนหรือลูกน้องคนสนิทเข้ามาทำงานในตำแหน่งบริหารนั้น ๆ โดยไม่สนใจเรื่องของผลงานใด ๆ ของแต่ละคนเลยว่าเหมาะสมหรือไม่ สนแค่เพียงว่าต้องการให้คนใกล้ชิดเข้ามาอยู่ใกล้ๆ ตัวก็พอ หลายครั้งที่ตำแหน่งใหม่นั้น แทบจะไม่มีความรับผิดชอบใด ๆ ในบริษัทเลย หรืออาจจะเป็นการสร้างตำแหน่งบริหารซ้อนตำแหน่งบริหารอีกที ก็ไม่รู้ว่าจะทำไปทำไม เพราะยิ่งทำแบบนี้ก็ยิ่งทำให้ระบบบริหารจัดการในองค์กรเละเทะมากขึ้นไปอีก จนพนักงานเองก็ไม่รู้ว่าตนเองต้องขึ้นตรงกับใครกันแน่ ใครเป็นผู้สั่งการกันแน่
- ขึ้นเงินเดือนให้กับคนที่ตนเองรักและชอบ ผู้นำบางคนพอถึงเวลาที่ฝ่ายบุคคลเสนอตัวเลขการขึ้นเงินเดือนประจำปีตามผลงานมาให้แล้ว พอพิจารณาดูรายละเอียด ก็เห็นว่าคนที่ตนเองรักและชอบนั้นได้รับการขึ้นเงินเดือนน้อยเกินไป ก็เลยมีการปรับตัวเลขกันใหม่ เพื่อให้คนที่ตนชอบนั้นได้รับการขึ้นเงินเดือนในอัตราที่ตนอยากจะให้ โดยไปดึงเอาส่วนของคนอื่นมาให้กับคนนี้
- ไม่ฟังความคิดเห็นของคนอื่นอีกต่อไป ผู้นำบางคนพอเริ่มมีอำนาจมากขึ้น ก็เริ่มที่จะไม่ฟังคนอื่น ไม่ว่าความคิดเห็นของคนอื่นจะดีเพียงใด แต่ถ้าขัดกับความคิดเห็นของตนเองแล้ว ความคิดเห็นนั้นก็จะกลายเป็นความคิดเห็นที่ใช้ไม่ได้อีกต่อไป
ถ้าผู้บริหารขององค์กร มีพฤติกรรมข้างต้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ ความเชื่อมั่นในตัวผู้นำคนนี้ของพนักงาน จะลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ พนักงานจะไม่อยากทำงานให้ เพราะทำไปแล้ว ผลประโยชน์ทุกอย่างก็ไปอยู่กับคนใกล้ชิดของผู้นำคนนั้น ยิ่งไปกว่านั้น พนักงานที่เก่งๆ และมีฝีมือ ก็จะทยอยกันลาออกจากบริษัทไปหมด เพราะทนไม่ได้ที่จะต้องทำงานให้กับผู้นำที่เห็นแก่ตัวแบบนี้
ยิ่งถ้าองค์กรนั้น เป็นธุรกิจครอบครัว และบริหารโดยเถ้าแก่ และเถ้าแก่ก็มีพฤติกรรมดังกล่าวอีก สุดท้ายองค์กรนั้นก็จะเริ่มอยู่ไม่ได้ และอาจจะต้องมีการปรับปรุงองค์กรขนานใหญ่ เพื่อให้ฟื้นคืนกลับมาอีกครั้ง แต่ถ้าพฤติกรรมของผู้บริหารยังคงเป็นแบบนี้ จะปรับองค์กรกี่ครั้ง ก็คงไม่แตกต่างจากเดิม
ดังนั้น หลาย ๆ ท่านที่จะขึ้นเป็นผู้นำ หรือที่เป็นผู้นำองค์กรอยู่แล้ว แม้ว่าท่านจะมีอำนาจเต็มในการบริหารจัดการก็จริง แต่ก็อยากให้ท่านเป็นผู้นำที่ดี ใช้อำนาจในทางที่ถูกต้อง นำพาองค์กรของท่านไปสู่ความสำเร็จ ด้วยการบริหารที่เป็นธรรมและโปร่งใส่ แล้วท่านจะเป็นผู้นำทั้งในตำแหน่ง และผู้นำของใครอีกหลาย ๆ คน แม้ว่าท่านจะไม่มีตำแหน่งผู้นำแล้วก็ตาม
ใส่ความเห็น