สวัสดิการที่ดี เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่หลายบริษัทต่างก็ให้ความสำคัญมากขึ้นในยุคนี้ เนื่องจากความต้องการของคนทำงานในสมัยใหม่นี้ ไม่ว่าจะเป็น Gen ไหนก็ตาม ต่างก็ต้องการทำงานกับองค์กรที่สนับสนุนชีวิตการความเป็นอยู่ทั้งด้านการทำงาน และด้านชีวิตส่วนตัวได้อย่างสมดุล
ผู้บริหารระดับสูง และ ฝ่ายบุคคล ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสวัสดิการ ต่างก็พยายามที่จะสร้างสรรค์ สวัสดิการใหม่ ๆ ที่มีความยืดหยุ่นให้กับพนักงานได้ใช้ เพื่อจะได้สร้างภาพลักษณ์ที่ดี และสร้างแรงดึงดูด และพลังในการเก็บรักษาคนเก่งไว้ให้ได้
หลายสวัสดิการที่จัดให้พนักงาน มาจากการผลการสำรวจความทผูกพันของพนักงาน และบริษัทเองก็พยายามที่จะจัดหาสวัสดิการที่ดี ให้กับพนักงานให้ได้ แต่บางครั้งผู้บริหารและ ฝ่ายบุคคลเองอาจจะมีประเด็นตรงที่ยังไม่แน่ใจว่า เราควรจะให้สวัสดิการนั้น ๆ แก่พนักงานดีหรือไม่ ก็เลยตัดสินใจแบบกั๊ก ๆ ไว้ เช่น
- อยากให้สวัสดิการในการซื้อเครื่องดื่มแก่พนักงาน แต่ให้แบบกั๊ก ๆ กล่าวคือ เครื่องดื่ม ราคาแก้วละ 50 บาท แต่ให้คูปองพนักงานในการไปซื้อเครื่องดื่มแค่ 20 บาท ซึ่งทำให้พนักงานต้องออกเพิ่มบางส่วน
- อยากให้สวัสดิการตรวจสุขภาพแก่พนักงาน แต่กลับเลือกโปรแกรมที่ถูกที่สุดเท่าที่จะเลือกได้ โดยไม่ได้พิจารณาจากช่วงอายุ หรือ ความจำเป็นของพนักงานเป็นหลัก จนทำให้พนักงานส่วนใหญ่รู้สึกว่า ได้มา ก็เหมือนไม่มีประโยชน์อะไรกับเขาเลย
- อยากให้สวัสดิการยืดหยุ่น เช่น การทำงานจากที่บ้านได้ แต่กลับมีกฎระเบียบว่า ถ้าใครทำงานจากที่บ้านเกินช่วงเวลาที่กำหนด จะมีผลต่อผลงาน และโบนัสประจำปี แบบนี้พนักงานก็งง ๆ ว่าแล้วจะมีสวัสดิการแบบนี้ไปทำไม
- ให้ประกันสุขภาพแก่พนักงาน แต่กลับมีเงื่อนไขมากมายตามมา ซึ่งพนักงานอ่านแล้วก็งงว่า แบบนี้จะให้ทำไม เพราะแทบจะไม่ได้ใช้แน่นอน สุดท้ายก็คือ เพื่อทำให้ค่าเบี้ยประกันถูกที่สุด
- ให้สิทธิพนักงานไปนวดเท้า นวดไทยได้ แต่ให้เป็นคูปอง 100 บาท แต่สปาคิดชั่วโมงละ 300 บาท พนักงานไปแล้วก็ต้องจ่ายเพิ่มเติม พนักงานก็มองว่า แบบนี้เหมือนบริษัทฮั้วกับร้านนวด เพื่อให้ร้านนวดมีรายได้มากขึ้น แต่พนักงานกลับต้องจ่ายเพิ่มเติม
นี่เป็นตัวอย่างบางส่วนที่เคยได้ยินจากพนักงานเวลาที่เราทำการสำรวจความผูกพันพนักงาน พนักงานมองว่า ถ้าบริษัทจะให้สวัสดิการนั้น ๆ จริง ๆ ก็ควรให้แบบเต็มที่ กล้า ๆ ให้หน่อย ไม่ใช่ให้แบบกั๊ก ๆ แบบนี้
แต่พอไปคุยกับทางฝ่ายผู้บริหาร ก็มีเหตุผลว่า เราให้เป็นเงินช่วยเหลือเพื่อให้พนักงานจ่ายน้อยลงไปบ้าง แต่ไม่ได้จะให้ทั้งหมด เพราะคำนวณดูแล้วปรากฏว่า เป็นต้นทุนที่สูงมาก ก็เลยให้บางส่วนเท่านั้น อย่างน้อยก็ให้บ้าง ดีกว่าไม่ได้ให้อะไรเลย
ฟังจากฝ่ายบริหารแล้วก็น่าเห็นใจอยู่เหมือนกัน พนักงานเองก็ตอบกลับว่า ถ้าคิดว่าให้แบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ แบบนี้อย่าให้เลยดีกว่า เพราะถ้าไม่ให้ พนักงานก็ไม่ต้องไปเสียเงินเพิ่ม แต่นี่ให้บางส่วนทำให้พนักงานต้องไปเสียเงินเพิ่มเติมอีก ฯลฯ
ก็เลยเถียงกันไปมาไม่รู้จบ ท่านผู้อ่านคิดอย่างไรกับกรณีแบบนี้
ผมคิดว่า เวลาที่บริษัทจะให้สวัสดิการแก่พนักงานในรูปแบบใหม่ ๆ นั้น เราควรจะต้องศึกษาถึงความต้องการของพนักงานให้ถ่องแท้ก่อน และถ้าบริษัทมีกำลังจ่ายมากพอก็ควรจะให้แบบเต็มจำนวนไปเลยจะสร้างความรู้สึกที่ดีให้กับพนักงานได้ดีกว่า ในกรณีที่สวัสดิการตัวนั้นมีมูลค่าต่อคนไม่ได้สูงนัก
แต่ถ้าบางสวัสดิการต้องใช้งบประมาณที่สูงมาก และบริษัทเองต้องการที่จะช่วยแบ่งเบาภาระบางส่วนให้กับพนักงาน แบบนี้บริษัทก็ควรจะต้องสื่อสารให้พนักงานทราบแบบตรงไปตรงมา ว่ามีนโยบายแบบนี้นะ พนักงานจะได้เข้าใจถึงเจตนารมณ์ของทางบริษัทมากขึ้น
และเมื่อพนักงานมีความเข้าใจเจตนาของบริษัทในการให้สวัสดิการ ก็จะลดความรู้สึกที่ไม่ดีลงไปได้
ใส่ความเห็น