อยากเป็น Talent ขององค์กร ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร

ช่วงนี้ไปที่ไหน ก็มีแต่คนพูดถึงคำว่า Talent กันเยอะไปหมด เช่น จะหา Talent อย่างไร จะเก็บรักษา Talent ขององค์กรไว้อย่างไร และจะมีการบริหารจัดการกลุ่มพนักงานที่เป็น Key Talent อย่างไรได้บ้าง ฯลฯ

พนักงานหลายคนขององค์กรเอง ก็ไม่เคยรู้เลยว่า คุณสมบัติของคนที่เป็น Key Talent ของบริษัทนั้น เป็นอย่างไร เห็นบางคนได้เป็น บางคนไม่ได้เป็น แล้วถ้าเราต้องการจะเป็น Talent เราต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง

ถ้าเอาแนวคิดทั่วไปของคุณสมบัติของคนที่เป็น Talent หรือ Key Talent นั้น จะขอใช้ Model ข้างล่างนี้เพื่ออธิบายให้เห็นภาพง่ายขึ้น

Model นี้จะประกอบไปด้วยคน 4 แบบ ลองมาดูกันว่าคนแบบไหนที่เป็นที่ต้องการขององค์กรมากที่สุด

Model นี้จะพิจารณาคนอยู่ 2 แกน ซึ่งประกอบไปด้วย แกนด้านผลงาน ซึ่งหมายถึงทั้งผลงาน และพฤติกรรมที่สร้างผลงานในปัจจุบัน ส่วนอีกแกนก็คือ ศักยภาพของพนักงาน ซึ่งก็คือ ผลงานในอนาคต ว่าพนักงานคนนี้มีแนวโน้มที่จะสร้างผลงานที่ดีในอนาคตได้หรือไม่ เราฝากอนาคตของหน่วยงานเรา ขององค์กรเรากับพนักงานคนนี้ได้หรือไม่ เป็นต้น

  • Star พนักงานประเภทแรก ก็คือ พนักงานที่มีทั้งผลงานดีมาก (ผลงาน+พฤติกรรม) อยู่ในเกณฑ์ที่สูงมาก คำว่าสูงในที่นี้ก็หมายถึงว่า ตั้งเป้าไว้อย่างไร พนักงานคนนี้สามารถทำได้เกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งพฤติกรรม หรือ Competency ก็อยู่ในเกณฑ์ที่เป็นตัวอย่างที่ดีมาก ๆ สำหรับพนักงานในองค์กรเอง ส่วนอีกด้านก็คือ ศักยภาพ คนที่เป็น Star จะเป็นคนที่มีศักยภาพสูงมาก ในที่นี้ก็หมายถึงองค์กรสามารถฝากผีฝากไข้ ฝากอนาคตขององค์กรไว้ที่คน ๆ นี้ได้อย่างสบายใจ ถ้าพนักงานคนใด ตกอยู่ในช่องนี้ ก็ถือได้ว่าเขาเป็นกลุ่มคนที่มีศักยภาพสูงในองค์กร หรืออาจเรียกเขาว่า Star Talent ก็ได้
  • Workhorse คนประเภทที่ 2 นี้ ภาษาไทยเราเรียกว่า พวกม้างาน หรือ ม้าใช้ ถ้าดูจากแกนสองแกน คนกลุ่มนี้คือคนที่สามารถสร้างผลงานได้อย่างดีให้กับองค์กร เรียกว่าสั่งอะไรก็ได้หมด สามารถทำได้โดยไม่มีปัญหา แต่สิ่งที่คนกลุ่มนี้มีน้อยก็คือ ศักยภาพครับ คน ๆ นี้ องค์กรจะไม่สามารถฝากฝังอะไรที่เป็นการสร้างอนาคตได้มากนักเมื่อเทียบกับ Star เข้าข่ายว่า สั่งงานอะไร ทำได้หมด ไม่ว่าจะยากหรือจะง่าย ถ้าเป็นคำสั่งให้ทำ จะทำได้เลย แต่จะให้คิดและวางแผนอนาคตของบริษัท จะยังทำไม่ได้ และยังต้องพัฒนาต่อยอดขึ้นไป เพื่อจะได้เป็น Star Talent ตัวจริง
  • Problem Child หรือ Question mark กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่จัดอยู่ในคนที่มีศักยภาพ แต่ผลงานยังไม่ออกมาให้เห็นได้ชัดเจน คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ก็คือ คนที่เราเพิ่งรับเข้ามาทำงาน เนื่องจากเราเห็นศักยภาพของคน ๆ นี้ว่าน่าจะพอทำงานนี้ได้ เรียกได้ว่ามีหน่วยก้านดี แต่เนื่องจากเพิ่งรับเข้ามาใหม่ ผลงานก็ยังไม่เห็นชัดเจน คนๆ นี้จะต้องพัฒนาต่อ อยู่ที่ว่าเขาจะสามารถพัฒนาต่อไปในช่องไหนได้บ้าง จะไปเป็น star workhorse หรืออีกมุมหนึ่ง คนประเภทนี้อาจจะเป็นพนักงานที่อยู่กับเรามานาน มีทักษะความรู้ที่พร้อมมาก มีศักยภาพที่น่าสนใจ แต่กลับไม่มีผลงานที่เห็นเด่นชัด มักจะเกิดกับพนักงานเก่ง ๆ ที่หมดไฟในการทำงานไปแล้ว ดังนั้น ถ้าอยากพัฒนาคนกลุ่มนี้ให้เป็น Talent ตัวจริง ก็คงต้องเสริมในเรื่องของแรงจูงใจในการสร้างผลงานที่ดีให้ได้อย่างต่อเนื่องก่อน
  • Deadwood คนประเภทนี้ก็คือคนที่ไม่มีทั้งผลงาน ไม่มีทั้งศักยภาพ มอบหมายงานอะไรให้ ก็ไม่สามารถทำได้เลย ไม่ว่าจะง่ายสักแค่ไหนก็ตาม อีกทั้งยังไม่สามารถฝากอนาคตของการทำงานไว้กับเขาได้เลย เข้าข่ายที่ว่า เป็นไม้ตายซาก เอาไปปลูกที่ไหนก็ไม่ขึ้น

คำถามก็คือ ถ้าเราเป็นผู้บริหารขององค์กร เราต้องการคนแบบไหน เราจะรักษาคนแบบไหนดี ผมเชื่อว่า 100% ตอบเหมือนกันว่า คนแบบ Star นั่นเอง รองลงมาก็คือ แบบ Workhorse ส่วน Deadwood เราคงไม่ต้องการเก็บไว้อย่างแน่นอน ก็อาจจะต้องมีการวางแผนพัฒนากันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้กลายเป็น Workhorse ให้ได้ สุดท้ายถ้าพัฒนากันไม่ได้จริง ๆ ก็คงต้องจากกันไปด้วยดี

และเพื่อตอบคำถามว่า ถ้าเราอยากเป็นพนักงานที่องค์กรขาดไม่ได้ อยากเป็น Star Talent นั่นแปลว่าเราจะต้องเป็นพนักงานที่ตกอยู่ในช่อง Star ให้ได้ เพื่อให้องค์กรอยากที่จะเก็บรักษาเราไว้ทำงาน และเป็นที่ต้องการตัวของตลาด

การที่เราจะเป็น Star ได้นั้น เราจะต้องสร้างผลงานให้ได้เกินกว่าเป้าหมาย หรือความคาดหวังของนาย และขององค์กร ทำให้นายรู้สึก Surprise ในผลงานของเราบ่อยๆ (Surprise ในแง่ดีนะครับ) รวมทั้งมีพฤติกรรมในการทำงานที่ดี และเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับพนักงานคนอื่นๆ ในบริษัทได้ อีกทั้งยังต้องเป็นคนที่สามารถฝากอนาคตขององค์กรไว้กับเราได้ ก็คือ มีศักยภาพนั่นเอง คนที่มีศักยภาพก็คือ คนที่สามารถคิดอะไรใหม่ๆ ได้ตลอด ไม่ทำงานอยู่กับแนวทางเดิม ๆ สามารถแก้ไขปัญหาในการทำงานได้ทุกอย่าง ไม่ว่าปัญหานั้นจะยากสักแค่ไหนก็ตาม รวมทั้งสามารถปรับตัวเองให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในองค์กร ไม่ใช่เป็นคนต่อต้านการเปลี่ยนแปลงที่ดี ๆ นั้นซะเอง

ก็น่าจะพอได้ไอเดียง่าย ๆ ในการพัฒนาตัวเองให้เป็น Star Talent ขององค์กรกันนะครับ

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

บลอกที่ WordPress.com .

Up ↑

%d bloggers like this: