จากบทความของ World at Work ในช่วงกลางปี 2022 ที่มีชื่อว่า The new world of work ที่ทำการสำรวจแนวโน้มของการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปขององค์กรต่าง ๆ ในช่วงหลังโควิด ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรนั้น บทความนี้มีความน่าสนใจมาก แม้ว่าจะเป็นการรวบรวมข้อมูลองค์กรต่าง ๆ จากโลกฝั่งตะวันตกเป็นหลัก แต่เราก็คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า ทางโลกตะวันออกเองก็ไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนัก เกี่ยวกับแนวคิดและแนวโน้มของการทำงานในยุคหลังโควิด
ผมสรุปประเด็นต่าง ๆ ที่น่าสนใจมาให้อ่านกันดังต่อไปนี้
ประเด็นแรกก็คือ แนวโน้มของการทำงานในยุคหลังโควิด ที่เปลี่ยนแปลงไป มีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังต่อไปนี้
- 82% ขององค์กรที่ทำการสำรวจ อนุญาต และมีการกำหนดนโยบายการทำงานแบบ Hybrid Working Schedule ให้กับพนักงานในองค์กร และให้พนักงานสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้
- 42% มีนโยบายให้พนักงานบางหน่วยงานต้องกลับเข้าทำงานในออฟฟิศ
- 8% ขององค์กร ให้พนักงานกลับเข้าทำงานตามปกติ และไม่มีนโยบายการทำงานแบบยืดหยุ่นใด ๆ
ประเด็นที่สองที่น่าสนใจก็คือ ธุรกิจอะไรบ้างที่ให้พนักงานทำงานแบบยืดหยุ่นได้อย่างเต็มที่ 5 อันดับแรก
- ธุรกิจด้าน IT เป็นธุรกิจที่มีแนวคิดและนโยบายให้พนักงานทำงานแบบยืดหยุ่นได้อย่างเต็มที่ เพราะตัวงานเองสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นที่จะต้องเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศ
- ธุรกิจด้าน Communication and Media ธุรกิจด้านนี้ก็สามารถที่จะทำงานกันจากที่ไหนก็ได้เช่นกัน ส่งมอบผลงานกันได้โดยไม่ต้องอาศัยออฟฟิศ
- ธุรกิจ Consulting and Professional Services ธุรกิจนี้ก็สามารถทำงานได้จากที่ไหนก็ได้ ออฟฟิศอาจจะมีไว้เพื่อให้พนักงานเข้ามาประชุม ระดมสมอง และคิดหาวิธีการใหม่ ๆ ในการทำงานกับลูกค้า
- ธุรกิจด้าน Energy
- ธุรกิจด้าน Real estate
ซึ่งโลกแห่งการทำงานหลังโควิดนั้น คงต้องเปลี่ยนแปลงไปในแนวทางการทำงานแบบยืดหยุ่นมากขึ้นอย่างแน่นอน จากที่เห็นในบ้านเราเอง ก็มีหลายบริษัทที่ยังคงรักษาสภาพการทำงานแบบยืดหยุ่นไว้ตลอดแม้ว่าจะหมดช่วงโควิดไปแล้ว และทำให้การทำงานแบบยืดหยุ่น เป็นการทำงานหลักขององค์กร โดยมีการกำหนดนโยบายและวิธีการอย่างชัดเจนมากขึ้น เพื่อให้พนักงานมีแนวทางในการทำงานที่สอดคล้องกัน
แต่สิ่งที่เป็นข้อกังวลของทั้งพนักงานและผู้บริหาร สำหรับการทำงานแบบยืดหยุ่น ก็คือ พนักงาน Burnout เนื่องด้วย
- สภาพการทำงานแบบยืดหยุ่น เป็นการทำงานได้ตลอดเวลา ต่อเนื่องในระยะยาว ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนเวลาใด พนักงานหลายคนที่ทำงานอย่างต่อเนื่องไม่มีการหยุดพัก เพราะไม่ได้เปลี่ยนสถานที่ทำงาน นั่งอยู่กับที่สามารถทำงานได้ เลยทำให้เกิดอาการเครียด และต่อเนื่องไปถึงอาการ Burnout
- แนวโน้มใช้เวลาทำงานนานมากขึ้นกว่าปกติ เพราะไม่ต้องเดินทาง ไม่ต้องเปลี่ยนสถานที่ และสามารถทำงานได้ตลอดเวลา
- ทำงานในช่วงวันหยุดต่าง ๆ พนักงานหลายคนติดงานมาก จนเกิดพฤติกรรมการทำงานตลอดเวลา แม้กระทั่งวันหยุดก็ยังคงเอางานขึ้นมาทำ โดยไม่มีการหยุดพัก
ด้วยลักษณะของการทำงานที่ยืดหยุ่นแม้จะมีข้อดีมากมาย แต่ก็มีด้านมืดที่ผู้บริหารและ HR ต้องพึงระวัง ถ้าเรากำหนดนโยบายการทำงานแบบยืดหยุ่นอย่างจริงจัง เราต้องมีการกำหนดแนวทางในการป้องกันการเหนื่อยล้าจากการทำงานไว้ด้วยเช่นกัน
ซึ่งนี่เป็นนโยบายที่ HR จะต้องช่วยผู้บริหาร และพนักงานไม่ให้เกิดอาการ Burnout ในการทำงาน และเพื่อให้การทำงานแบบยืดหยุ่นประสบความสำเร็จ และสร้างประสิทธิผลของมันได้อย่างเต็มที่
ใส่ความเห็น