จะเป็นผู้นำที่ดี มากไปก็ไม่ได้ น้อยไปก็ไม่ดี

วันนี้เอาประเด็นเรื่องภาวะผู้นำมาคุยกันอีกสักวัน ถ้าท่านผู้อ่านเคยมีประสบการณ์ในการทำงานกับผู้นำมาหลายคน เราจะเห็นสไตล์ของการเป็นผู้นำที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละคน บางคนก็สุดโต่งมากมาย บางคนก็ยอมไปทุกเรื่อง ซึ่งก็จะเกิดผลเสียตามมาจากภาวะผู้นำที่เรียกว่าสุดโต่งจนเกินไป เรียกได้ว่า มากไปก็ไม่ได้ ลูกน้องก็จะหาว่าโหดเกิน น้อยไปก็คุมคนอื่นไม่ได้อีก ถูกหาว่าอ่อนแอ ก็เลยมานั่งสรุปว่ามีประเด็นใดบ้างที่ผู้นำจะต้องระมัดระวัง และสร้างพฤติกรรมที่พอดีๆ ไม่มากไป หรือน้อยไป

  • ผู้นำจะต้องเข้มแข็ง แต่ถ้าเข้มแข็งมากจนเกินไป ก็จะกลายเป็นก้าวร้าวได้เช่นกัน ผู้นำในองค์กรบางคนคิดว่าการที่ตนเป็นผู้นำจะต้องแสดงออกถึงความเข้มแข็งของตนเองให้ลูกน้องเห็น ก็เลยมักจะใช้วาจาหยาบคาย เสียงดัง พูดคุยกันทีไร ก็เป็นการขึ้นเสียง และเอะอะโวยวายมากกว่า แต่เขากลับคิดว่านี่แหละคือความเข็มแข็งของผู้นำ ซึ่งจุดนี้มันก็เลยความเข้มแข็งไปเรียบร้อยแล้ว ความเข้มแข็งในที่นี้ก็คือ มีจุดยืนของตนเอง ไม่เอียงไปเอียงมาแบบคนที่ไม่มีหลักการ ไม่ใช่ใครพูดอะไรก็เชื่อไปหมด ขาดความเป็นตัวของตัวเอง ดังนั้นผู้นำที่ดีจะต้องเข้มแข็งแต่ไม่ก้าวร้าว
  • ผู้นำจะต้องมีจิตใจที่ดี ประเด็นนี้ก็เช่นกัน ถ้าใจดีมากเกินไปก็มีปัญหาตามมาได้เช่นกัน เช่น ผู้นำบางคนถูกสอนว่าการเป็นผู้นำที่ดีนั้นจะต้องมีจิตใจที่ดี อ่อนโยน พอดีมาก ๆ เข้า ก็เข้าข่ายอ่อนแอกันเลย จนพนักงานต่างก็นินทาผู้นำว่า เป็นคนที่ยอมไปหมด ใครจะว่าอะไร ใครจะขออะไร ก็ให้หมด ใจดีเกินไปจนเกิดความขัดแย้ง และความไม่เป็นธรรมขึ้น ดังนั้นผู้นำที่ดีจะต้องมีจิตใจดี อ่อนโยน แต่ไม่ถึงกับอ่อนแอ
  • ผู้นำที่ดีต้องกล้าตัดสินใจ กล้าได้กล้าเสีย และกล้าตัดสินใจในสิ่งที่ตนจะต้องตัดสินใจ ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง หรือไม่กล้าเสี่ยง แต่ก็อีกเช่นกันที่บางคนก็กล้ามากไปหน่อย จนกลายเป็นคนที่มุทะลุก็มี แทนที่จะพิจารณาให้รอบคอบก่อนค่อยตัดสินใจ กลับลุยแหลก คิดเร็วทำเร็วด้วยความไม่รอบคอบ และด้วยความคึกคะนองมาจนเกินไป กล้ามากไปหน่อยก็เลยทำให้คนอื่นมองว่าเป็นผู้นำที่มุทะลุไม่รอบคอบ แต่ถ้าไม่กล้าตัดสินใจเลย ก็จะมีปัญหาตามมาอีกเช่นกัน เช่น ต้องรอข้อมูล ต้องรอดูสถานการณ์ก่อน หรือบางผู้นำบางคนมักจะอ้างว่า รอดูคนอื่นก่อนว่าเขาจะทำอย่างไร ถ้าอ้างแบบนี้มากไป ก็จะกลายเป็นว่า ผู้นำคนนั้นไม่กล้าตัดสินใจ ไม่กล้าที่จะทำอะไรเลย มัวแต่รอคนอื่น แบบนี้จะเป็นผู้นำที่ดีได้อย่างไร
  • ผู้นำที่ดีต้องคิดอ่านอย่างรอบคอบ ต้องมีการเก็บข้อมูลต่างๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจ แต่ถ้ามากเกินไป ก็จะกลายเป็นถูกมองว่า คิดช้า ทำช้า หนักเข้าหน่อย ก็จะถูกมองว่า ไม่เคยคิดอะไรเลย ดังนั้นการรอบคอบมากเกินไป ก็อาจจะทำให้คนอื่นมองว่าเราเป็นพวกไม่คิดอีกก็เป็นได้
  • ผู้นำที่ต้องอ่อนน้อมถ่อมตน มีความเข้าใจผู้อื่น และไม่อวดเบ่ง คิดว่าตนเองเก่งแล้ว หรืออยู่เหนือกว่าคนอื่นแล้วก็เลยทำอะไรก็ได้ แต่ถ้าอ่อนน้อมถ่อมตนจนมากเกินไป ก็ทำให้เกิดปัญหาได้อีกเช่นกัน คนอื่นก็จะมองว่า ไม่มีความเข้มแข็งไปได้อีกเหมือนกัน แต่ถ้าไม่อ่อนน้อมเลย คนอื่นก็มองอีกว่า ผู้นำคนนี้เป็นพวกอวดดี เย่อหยิ่งทะนงตน ก็ทำให้คนอื่นไม่ชอบอีกเช่นกัน
  • ผู้นำที่ดีต้องมีอารมณ์ขัน แต่ถ้ามีมากเกินไป ก็จะถูกมองว่า ไร้สาระอีก หรือถ้าเอาทุกอย่างมาทำตลกไปหมด ผู้นำคนนั้นก็จะกลายเป็นตัวตลกในสายตาของคนอื่นได้ อาจจะทำให้ลูกน้องขาดความเชื่อถือไปโดยปริยาย แต่ถ้าไม่มีอารมณ์ขันเลย ลูกน้องก็จะมองว่าเครียดเกินไปหรือเปล่า

อ่านจบแล้วรู้สึกอย่างไรกันบ้างครับ ยากมั้ยครับในการที่จะเป็นผู้นำที่ดีสักคน มากไปก็ไม่ดี น้อยไปก็ไม่ได้ ก็คงต้องหาจุดกลางๆ ที่เหมาะสม ซึ่งความเหมาะสมนี้ก็คงกำหนดยาก อยู่ที่แต่ละคน อยู่ที่สภาพแวดล้อม และสถานการณ์ที่แตกต่างกันไปด้วยเช่นกัน

คนที่สามารถบอกเราได้ว่า เรามากไป หรือน้อยไป ก็คือ พนักงานในองค์กร ดังนั้นผู้นำที่ดีควรจะใช้พนักงานในองค์กรเป็นกระจกส่องตัวเองว่า เราเป็นอย่างไรในสายตาของพนักงาน และค่อยๆ ปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นผู้นำที่ดีขึ้นได้ มีผู้นำในโลกนี้หลายคน ที่ให้พนักงานในองค์กรประเมินภาวะผู้นำของเขาว่ายังขาดอะไร มีจุดบกพร่องในเรื่องอะไรบ้าง จากนั้นก็เริ่มต้นพัฒนาตนเองเพื่อแก้ไขจุดบกพร่องเหล่านั้นให้ดีขึ้น ให้เหมาะสมกับองค์กรตนเอง

ทางสายกลางดีที่สุดครับ

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

บลอกที่ WordPress.com .

Up ↑

%d bloggers like this: