มีท่านผู้อ่านหลายคนรวมทั้งลูกค้าที่คุ้นเคยกัน ถามผมเสมอว่า การเป็นหัวหน้างานที่ประสบความสำเร็จนั้น ดูจากอะไร และพื้นฐานในการที่เราจะเป็นหัวหน้างานที่ดีได้นั้นต้องมีปัจจัยอะไรบ้าง ผมเชื่อว่ามีนักบริหารที่เป็นกูรูหลายคนได้เคยเขียน เคยพูดถึงเคล็ดลับในการเป็นหัวหน้างที่ประสบความสำเร็จมากมาย ต่างคนต่างก็สรุปปัจจัยต่างๆ ออกมาหลายอย่างมาก จนคนที่รับข้อมูลมาก็นั่งสับสนว่า ในการเป็นหัวหน้างานที่ประสบความสำเร็จนั้นทำไมมันช่างยากเย็นแสนเข็ญซะเหลือเกิน
หลาย ๆ ตำราบอกว่าการเป็นหัวหน้างานที่ดี หรือผู้จัดการที่ประสบความสำเร็จได้จะต้องมีทักษะในด้านต่างๆ อย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการวางแผน การจัดงาน การมอบหมายงาน และการควบคุมงาน ฯลฯ (แล้วแต่เจ้าของตำราจะกำหนดขึ้นมา) แต่ผมกลับมองว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นบทบาทของการเป็นหัวหน้างานและเป็นผู้จัดการ ก็คือ เป็นหน้าที่ที่ของคนที่เป็นหัวหน้าหรือผู้จัดการจะต้องทำอยู่แล้ว การทำหน้าที่แบบนั้นได้ดี ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นหัวหน้างานที่ประสบความสำเร็จและทำงานได้ตามที่ได้รับมอบหมายเสมอไป
แล้วหัวหน้างานที่ประสบความสำเร็จจริงๆ จะต้องมีคุณลักษณะอย่างไรกันแน่
โดยปกติแล้วหน้าที่ของผู้จัดการ หรือหัวหน้างานทุกคนก็คือ การทำงานให้สำเร็จโดยผ่านลูกน้องของตนเอง ไม่ว่าหัวหน้างานคนนั้นจะอยู่ในระดับไหนก็ตาม ต้น กลาง หรือสูง ล้วนแล้วแต่ต้องทำงานให้สำเร็จโดยผ่านลูกน้องของตนเองทั้งสิ้น ดังนั้น ความสำเร็จในการทำงานก็มาจากการที่เราสามารถใช้ศิลปะในการจูงใจให้ลูกน้องยอมทำงานให้เราด้วยความเต็มใจ และพอใจ และการที่ลูกน้องจะทำให้เราด้วยความเต็มใจได้ แสดงว่าหัวหน้าต้องได้รับความเชื่อถือ และความไว้วางใจจากลูกน้องของตนเอง
ดังนั้น พื้นฐานความสำเร็จของการเป็นหัวหน้างานที่ดี และทำงานได้อย่างประสบความสำเร็จด้วยนั้น ก็คือ จะต้องได้รับความเชื่อถือ และการยอมรับ (Trust and Respect) จากลูกน้องของตนเอง ถ้าขาดสิ่งนี้เมื่อไหร่ ผลงานของลูกน้องไม่มีทางออกมาได้ดีอย่างแน่นอนครับ
“แล้วเราจะทำอย่างไรให้ลูกน้องมีความเชื่อถือเรา และให้การยอมรับเรา” การตอบคำถามนี้ ผมขอถามคำถามกลับว่า
“การที่เราให้การยอมรับนับถือ และให้การยอมรับคนใดคนหนึ่งนั้น คน ๆ นั้นจะต้องเป็นคนอย่างไร” ผมเชื่อเลยว่าทุกคนตอบได้เกือบหมดว่าคนที่เราให้การยอมรับคนนั้นต้องมีคุณลักษณะอย่างไร
ผมขอสรุปด้วยคำง่ายๆ คำเดียว คือคำว่า “จริงใจ” ครับ การสร้างความยอมรับนับถือให้เกิดขึ้นในกลุ่มลูกน้องของเรานั้น สิ่งที่เราต้องทำก็คือการให้ความจริงใจแก่ลูกน้องของเราทุกคน คนเราทุกคนรับรู้ได้นะครับว่าเราจริงใจกับเขาหรือเปล่า แค่มองตา และได้คุยกันแค่ไม่กี่คำก็รู้แล้วล่ะครับว่าเขาจริงใจกับเราหรือเปล่า
ลูกน้องเราเองก็เช่นกัน เขารับรู้ได้ว่าเราจริงใจกับเขาหรือเปล่า ถ้าเราจริงใจ และไม่ใช่แค่จริงใจด้วยคำพูดอย่างเดียว การกระทำก็บ่งบอก และแสดงให้เขาเห็นอย่างที่เราพูดทุกอย่าง ถ้าเราทำได้แบบนี้อย่างบริสุทธิ์ใจแล้ว ผมคิดว่าไม่มีลูกน้องคนไหนที่จะเกลียดหัวหน้าแบบนี้ลงหรอกครับ ตรงกันข้าม เขาจะทำงานให้เราอย่างสุดความสามารถ
ความจริงใจที่เราให้ มันจะแสดงออกในการกระทำทุกอย่างของเราที่มีต่อลูกน้องของเรา แม้ว่าหัวหน้าจะมีการตำหนิลูกน้องบ้าง แต่ถ้าตำหนิด้วยความจริงใจ ด้วยความให้เกียรติ และต้องการให้ผลงานดีขึ้นจริง ๆ ผมเชื่อว่าลูกน้องเองก็ยอมรับ เพราะรู้ว่านายไม่ได้มีเจตนาร้ายอะไรกับเขาเลย เหมือนกับแม่ที่ตำหนิหรือทำโทษลูก ก็ไม่ได้มีเจตนาจะให้ร้ายลูกตนเองอยู่แล้ว เพียงแต่อยากให้เขาได้ดี ฉันใดฉันนั้นครับ
ในทางตรงกันข้าม หัวหน้าหรือผู้จัดการที่มองว่าตนเองนั้นมีอำนาจเต็มในการบริหารจัดการลูกน้อง ดังนั้นจะแสดงพฤติกรรมอย่างไรกับลูกน้องก็ได้ เช่น ด่าด้วยคำหยาบ ใช้ถ้อยคำรุนแรง ถึงพ่อถึงแม่ และใช้คำพูดดูถูกเหยียดหยามลูกน้องของตนเอง นี่เป็นการแสดงให้เห็นว่าเราไม่ยอมรับในตัวลูกน้อง และไม่ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ดังนั้นลูกน้องเองก็ย่อมจะไม่ให้เกียรตินาย และไม่อยากสร้างผลงานให้นายแบบนี้ด้วยเช่นกัน อย่างมากก็ทำแบบขอไปที เพื่อไม่ให้โดนด่า แต่ถ้าเมื่อไหร่มีโอกาสก็จะจากไปหาโอกาสที่ดีกว่าอย่างแน่นอน
ดังนั้น การมอบหมายงานด้วยความจริงใจ ตรวจสอบงานด้วยความจริงใจ พัฒนาลูกน้องของเราทุกคนด้วยความจริงใจ ชื่นชมผลงานด้วยความจริงใจ ตำหนิด้วยความจริงใจ เมื่อท่านจริงใจในการกระทำทุกอย่าง ท่านก็จะได้รับความจริงใจ และได้รับการยอมรับนับถือตามมา จากนั้น งานไม่ว่าจะยากแค่ไหน ลูกน้องก็ถวายหัวทำให้เราอย่างแน่นอนครับ
ขอให้ลองพิจารณาอย่างจริงใจนะครับ ว่าเรา จริงใจกับลูกน้องของเราทุกคนจริงๆ หรือเปล่าเท่านั้นเอง (คิดและพิจารณาให้ดีก่อนตอบตัวเองนะครับ) เมื่อทราบคำตอบแล้วก็จงให้ความจริงใจ และรักษาความจริงใจเหล่านี้ไว้ให้ดี แล้วท่านจะเป็นหัวหน้าที่ประสบความสำเร็จทั้งในเรื่องงาน และเรื่องคน
และคงไม่ต้องถามต่อนะครับว่า “แล้วความจริงใจสร้างอย่างไร”
ใส่ความเห็น