วันนี้มีคำถาม Basic แต่อาจจะตอบยากสักนิด “ท่านมีวิธีการบริหารจัดการกับพนักงานที่มีผลงานไม่ดี อย่างไรบ้าง”คำตอบส่วนใหญ่ที่ได้ จะเป็นคำตอบตามหลักการที่ถูกต้องก็คือ “ถ้าผลงานไม่ดี ก็ต้องพัฒนากันให้มีผลงานที่ดีขึ้น” แต่ในทางปฏิบัติผู้จัดการหลายคนไม่ได้ทำแบบที่ตอบเลย
ในทางปฏิบัติ จากที่ได้ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลวิธีการจัดการกับพนักงานที่มีผลงานไม่ดี ว่าเหล่าบรรดาผู้จัดการทั้งหลายเขามีวิธีการบริหารจัดการพนักงานกลุ่มนี้กันอย่างไร ทั้งในแบบที่ดี และแบบที่ไม่ดีนั้น ก็สามารถสรุปได้ดังนี้ครับ
วิธีบริหารจัดการที่ไม่ถูกต้องในฐานะผู้จัดการ
- เอามาทำเอง วิธีแรกที่หัวหน้างานมักจะจัดการกับพนักงานที่มีผลงานไม่ดีก็คือ เอางานที่พนักงานทำไม่ดีนั้นมาทำซะเอง แล้วก็มอบหมายให้พนักงานทำงานอื่นไป หรือไม่ก็ปล่อยให้ลอยเคว้งคว้างแบบไม่ต้องทำอะไรมาก วิธีการนี้ผมคิดว่าเป็นวิธีการให้รางวัลพนักงานที่ทำผลงานไม่ดีในทางที่ผิด ซึ่งจะทำให้พนักงานคนนั้นรู้สึกว่าเวลาที่ทำงานได้ไม่ดี สุดท้ายเขาจะสบาย เพราะนายเอาไปทำเอง แล้วเราเองก็จะสบายมากขึ้น เพราะนายจะไม่มอบหมายงานนั้นให้เราอีก เพราะรู้ว่าเราทำไม่ได้แน่นอน เราก็เลยไม่ต้องทำอะไรเลย หรือไม่ก็ทำแต่งานง่ายๆ ไปเรื่อยๆ ด้วยวิธีนี้พนักงานก็ไม่มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน หัวหน้างานก็ไม่ต้องเป็นอันทำงานของหัวหน้า เพราะมัวแต่ทำงานของพนักงาน
- ปล่อยไว้แบบนั้นแหละ เขาน่าจะรู้ตัวเองได้ อีกวิธีหนึ่งที่ผู้จัดการหลายคนมักจะทำกัน และเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้องเลย ก็คือ เมื่อรู้ว่าพนักงานของเรามีผลงานไม่ดี หรือมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม แต่ก็ปล่อยปละละเลย ไม่มีการพูดคุย ให้คำปรึกษา หรือ Feedback ใด ๆ แต่กลับปล่อยให้พนักงานมีพฤติกรรมแบบนั้นอยู่ โดยคิดไปเองว่า พนักงานน่าจะรู้ตัวเองว่ามีผลงานไม่ดี และทำอะไรผิดพลาดไปบ้าง คำถามก็คือ พนักงานจะรู้ตัวเองอย่างที่เราคิดจริง ๆ หรือ
วิธีบริหารจัดการที่ถูกต้องในฐานะผู้จัดการ
- สอนและพัฒนาพนักงาน วิธีการนี้เป็นวิธีที่คนส่วนใหญ่ตอบด้วยวาจา ว่าเมื่อไหร่ที่ผลงานพนักงานไม่ดี ก็ต้องมีการสอนงานและพัฒนาเขาให้ดีขึ้น แต่ในทางปฏิบัติเป็นวิธีที่คนส่วนใหญ่ทำน้อยที่สุด เนื่องจากหัวหน้างานส่วนใหญ่จะต้องถูกผลักดันผลงานให้ออกมาให้ได้ ดังนั้นถ้าลูกน้องไม่สามารถทำงานได้ดีตามที่มอบหมาย หัวหน้าก็จะเอามาทำเองมากกว่า เพราะงานใกล้ถึงเส้นตายแล้ว แต่ถ้าเราพอมีเวลา วิธีการสอนงานพนักงานให้สามารถทำงานได้ดีขึ้นนั้น เป็นวิธีการที่ดีมากที่จะทำให้พนักงานเกิดทักษะและเกิดความสามารถที่สูงขึ้น เพียงแต่ วิธีนี้จะต้องใช้เวลาเพื่อพัฒนาผลงานกัน ซึ่งเวลาที่ใช้ก็ไม่เท่ากันแล้วแต่พนักงานแต่ละคนอีก ดังนั้นหัวหน้างานที่เน้นผลงานอย่างจริงๆ จังๆ จะไม่ชอบวิธีนี้เลยครับ เพราะเสียเวลาเขา แต่ถ้าเราเป็นหัวหน้างานที่แท้จริง ซึ่งต้องทำหน้าที่ในการบริหารจัดการให้พนักงานทำงานได้ดีนั้น เราจะต้องวางแผนพัฒนาพนักงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอน และจะต้องทำใจบ้าง ถ้าพนักงานยังคงทำงานไม่ได้ตามเป้าหมายที่เรากำหนด แต่ในระยะยาวนั้นคุ้มกว่านะครับ เพราะเมื่อไหร่ที่เขาทำได้ เราก็จะสบายมากขึ้นไปเรื่อยๆ
- โอนย้ายไปหน่วยงานอื่นที่เหมาะสม วิธีนี้ เป็นวิธีที่ต่อเนื่องมาจากวิธีการสอนงาน ก็คือ ถ้าสอนก็แล้ว พัฒนาก็แล้ว แต่สุดท้ายก็ยังทำงานนั้นได้ไม่ดีสักที แปลว่า พนักงานคนนั้นอาจจะไม่เหมาะกับงานนี้ ดังนั้นวิธีการถัดไปก็คือ ทำการโอนย้ายงานไปในงานที่พนักงานถนัดมากกว่า เพื่อให้เขาสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในผลงานของเขาให้องค์กรได้ เพราะถ้าเราปล่อยไปเรื่อยๆ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ พนักงานจะไม่ได้รับการพัฒนา และไม่มีความก้าวหน้าใดๆ เกิดขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นบางครั้งยังถูกตราหน้าว่าเป็น Deadwood ของหน่วยงานอีก พนักงานคนนั้นอาจจะเป็น Deadwood ของหน่วยงานเรา แต่เขาอาจจะกลายเป็น Star ของหน่วยงานอื่นก็เป็นได้นะครับ ขอเพียงหาที่เหมาะๆ ให้เขาลงไปแสดงฝีมือที่เขาถนัด เขาเองก็ได้ผลงานที่ดีขึ้น องค์กรเองก็ได้ผลงานจากพนักงานคนนี้ด้วย win win ด้วยกันทั้งคู่ ดีกว่าที่จะปล่อยให้เขาอยู่แบบซังกะตายไปวันๆ
- ปล่อยให้เขาไปอยู่ที่อื่นที่เขาสามารถแสดงฝีมือได้ วิธีนี้ก็คือวิธีสุดท้ายในการจัดการกับพนักงานที่มีผลงานไม่ดี และเราก็พัฒนาเขาทุกอย่างแล้ว โอนย้ายไปให้ทำงานอื่นแล้ว แต่สุดท้ายเขาก็ยังไม่สามารถทำงานให้เราได้อีก สิ่งที่องค์กรควรจะดำเนินการกับพนักงานคนนี้ก็คือ ปล่อยให้เขาไปเติบโตทื่อื่นจะดีกว่า เพราะดินที่นี่อาจจะไม่เหมาะสำหรับเขาก็เป็นได้ ถ้าได้ดินที่เหมาะสม และได้อากาศที่เหมาะกว่า เขาอาจจะโตได้ดีกว่า ดังนั้นการที่เราเลี้ยงพนักงานที่มีผลงานไม่ได้ให้ยังคงทำงานกับบริษัทนั้น โดยให้เหตุผลว่า เพื่อมนุษยธรรม ไม่ควรจะให้เขาออกไปที่อื่น วิธีนี้ถือได้ว่าเป็นวิธีการฆ่าเขาทางอ้อมเลยนะครับ เพราะเขาจะไม่มีทางที่จะเติบโตในองค์กรเราได้อย่างแน่นอน เพราะเราได้ทำทุกวิถีทางแล้ว ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราสนับสนุนให้เขาไปเติบโตที่อื่นได้ พนักงานคนนี้อาจจะหันกลับมามองเรา และสำนึกในบุญคุณของเราที่เข้าใจ และปล่อยเขาไปสู่ดินแดนที่เหมาะสมกับเขามากกว่าที่นี่
สิ่งเหล่านี้คือวิธีการจัดการกับพนักงานที่มีผลงานไม่ดี ผมเชื่อว่าถ้าอย่างน้อยเรามีวิธีการพัฒนาเขา หรือโอนย้าย หรือแม้แต่ปล่อยให้เขาไปทำงานที่อื่น นั่นแปลว่า เราในฐานะหัวหน้าได้ทำหน้าที่ของการบริหารคนแล้วครับ
แต่คนที่ยังคงปล่อยให้พนักงานที่มีผลงานไม่ดียังคงเดินลอยนวลอยู่ในหน่วยงาน และยังอยู่ทำงานด้วยความสบายๆ ทั้งๆ ที่พนักงานที่มีผลงานดี กลับต้องรับภาระหนักขึ้นทุกวันๆ แบบนี้ผมคิดว่าเรากำลังบริหารคนในทางที่ไม่ถูกต้อง
ท่านเองละครับมีวิธีการบริหารพนักงานที่มีผลงานไม่ดีอย่างไรบ้างครับ
ใส่ความเห็น