องค์กรที่ประสบความสำเร็จในงานบริหารทรัพยากรบุคคล เขาทำกันอย่างไร

เคยตั้งคำถาม หรือ สงสัยมั้ยครับว่า องค์กรที่ประสบความสำเร็จในการบริหารทรัพยากรบุคคล และฝ่ายบุคคลเป็นที่ยอมรับ และเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจนั้น เขาทำกันอย่างไร จากประสบการณ์ของผมที่ทำงานด้านที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล และได้สัมผัสกับองค์กรมาหลากหลาย แต่ละแห่งก็มีมุมมองต่องานบริหารบุคคลที่แตกต่างกันออกไปอย่างมากมาย

ยิ่งในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง และมีเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาในการบริหารธุรกิจ มีการแข่งขันกันทั้งในการทำธุรกิจ และการว่าจ้างคนเก่งเข้าทำงาน ยิ่งทำให้งานบริหารทรัพยากรบุคคลทวีความสำคัญมากขึ้น จนหลายผู้บริหารหลายแห่งอดสงสัยไม่ได้ว่า องค์กรที่บริหารทรัพยากรบุคคลได้ดีนั้น เขาทำกันอย่างไร ทั้ง ๆ ที่องค์กรของเรามีระบบ HR ครบอย่างที่ควรจะมี แต่ทำไมการบริหารคนยังคงมีปัญหามากมาย

ก่อนอื่น ลองมาพิจารณาหน้าที่ของฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคลกันสักเล็กน้อยว่ามีหน้าที่อะไรกันบ้าง โดยปกติก็หนีไม่พ้นเรื่องของการสรรหาคัดเลือก การพัฒนาคน การบริหารค่าจ้างเงินเดือนและสวัสดิการ การบริหารผลงาน การสร้างแรงงานสัมพันธ์ที่ดี รวมไปถึงเรื่องของการดูแลกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ในการทำงาน การบริหารความก้าวหน้าในสายอาชีพ การหาผู้สืบทอดตำแหน่ง การบริหารคนเก่งขององค์กร ฯลฯ

หน้าที่หลักๆ ที่กล่าวไปทั้งหมดนั้น ไม่ใช่ฝ่ายบุคคลฝ่ายเดียวจะทำได้สำเร็จได้ด้วยตนเอง งานของฝ่ายบุคคลจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อ เหล่าบรรดาผู้บริหาร และผู้จัดการทุกระดับขององค์กรนำเอาแนวทางในการบริหารบุคคลที่กำหนดไว้ไปใช้ พูดง่ายก็คือ HR เป็นคนคิด และวางระบบด้านการบริหารบุคคล แต่คนใช้งานก็คือ ผู้จัดการทั้งหลายในองค์กร

มีหลายองค์กรที่ฝ่ายบุคคลทำการวางระบบทุกอย่างไว้อย่างดี ถูกต้องตามหลักการของการบริหารบุคคล มีระบบต่างๆ ที่ชัดเจนมาก แต่ไม่มีใครเอาไปใช้งานกันเลย ต่างฝ่ายต่างก็มองว่ายุ่งยากเหลือเกิน คำพูดที่เจอบ่อยก็คือ “ทำไมต้องให้ผมพัฒนาคน ประเมินผลงาน แถมยังต้องหาคนอีก ฯลฯ ทั้งๆ ที่งานเหล่านี้ก็เป็นหน้าที่ของฝ่ายบุคคลทั้งนั้น ฝ่ายบุคคลก็ทำไปสิ ผมไม่เห็นต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องอะไรเลย แบบนี้ก็ไม่จำเป็นต้องมีฝ่ายบุคคลก็ได้” ถ้าท่านผู้อ่านได้ยินประโยคนี้แล้วรู้สึกอย่างไรกันบ้างครับ

ผลก็คืองานด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลขององค์กรนี้ไม่ประสบความสำเร็จเลยครับ มั่วไปหมด ต่างคนต่างทำ ใครอยากรับคนแบบไหนก็รับ เส้นใครใหญ่กว่า ก็ได้เงินเดือนมากกว่า ใครอยากส่งใครไปฝึกอบรมก็แล้วแต่แต่ละฝ่าย ใครอยากให้ผลงานพนักงานตัวเองดีแค่ไหนก็เอาเลย แต่เชื่อมั้ยครับ ทุกคนมองว่านี่คือปัญหาที่ฝ่ายบุคคลจะต้องเข้ามาแก้ไข แต่พอฝ่ายบุคคลเข้ามาแก้ไขแล้ว ผู้จัดการเหล่านั้นกลับไม่สนใจ และบอกว่าทำไมมันยุ่งยากแบบนี้ นี่แหละครับ ความเหนื่อยของฝ่ายบุคคล

ในทางตรงกันข้าม องค์กรที่มีระบบบริหารทรัพยากรบุคคลดีๆ ที่เป็นแนวหน้าของประเทศนั้น ผู้จัดการฝ่ายทุกฝ่ายต่างก็ยอมรับว่างานบริหารงานบุคคลในเชิง Implement นั้น เป็นหน้าที่ของตนเองที่จะต้องนำเอานโยบายด้านบุคคลไปดำเนินการให้เกิดผลให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการสรรหาคัดเลือก ก็ต้องทำตามแนวทางที่ถูกต้อง พอพนักงานเข้ามาทำงานแล้ว ขาดทักษะอะไร ก็ต้องพิจารณาเพื่อหาทางที่จะพัฒนาพนักงานของตนเองให้สร้างผลงานให้ได้ โดยอาศัยแนวทางในการพัฒนาคนที่ฝ่ายบุคคลทำไว้ ในการบริหารค่าจ้างเงินเดือนก็ต้องเดินตามนโยบายกลางเช่นกัน ไม่ใช่ใครอยากจ้างใครเท่าไรก็ได้ อยากกำหนดเงินเดือนกันเท่าไรก็ได้ แต่กำหนดตามนโยบายที่เป็นธรรมและเหมาะสมที่สุดของบริษัท การบริหารผลงาน การบริหารคนเก่ง การเติบโตตามสายอาชีพ การเลื่อนตำแหน่ง ฯลฯ ทุกอย่างในระบบ HR ผู้บริหารทุกคนล้วนนำเอาระบบที่วางไว้มาใช้ในการบริหารคนของหน่วยงานตนเอง ถ้าเป็นแบบนี้ได้ การบริหารทรัพยากรบุคคลขององค์กรก็จะประสบความสำเร็จได้ตามเจตนารมณ์โดยไม่ยากนัก

ปัจจัยที่ทำให้การบริหารทรัพยากรบุคคลขององค์กรเหล่านี้ประสบความสำเร็จก็คือ

  • ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ และยินดีปฏิบัติตามนโยบายบุคคลโดยไม่ถือตัวเองว่าเป็นผู้บริหารระดับสูงจะทำอะไรก็ได้
  • ผู้จัดการฝ่ายงานทุกฝ่ายมีความเข้าใจเรื่องการบริหารบุคคลว่าสำคัญแค่ไหน ถ้าไม่เดินตามนโยบายที่กำหนดไว้แล้วจะเกิดปัญหาอะไรตามมาบ้าง
  • HR เองจะต้องเป็นบุคคลที่เข้ากับทุกคนคนระดับได้ เพราะต้องทำหน้าที่เป็นคนกลางระหว่างผู้บริหารกับพนักงาน และจะต้องสร้างความเข้าใจ โน้มน้าวให้ผู้จัดการทุกคนเข้าใจและปฏิบัติตามในสิ่งที่ถูกต้องเพื่อให้เกิดผลดีในการทำงานในบริษัท ตรงนี้ถ้าผู้บริหารระดับสูงให้ความสำคัญก็จะง่ายหน่อยสำหรับ HR ที่จะขอความร่วมมือในเรื่องต่างๆ

โดยสรุป จะเห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่า ไม่ว่าผู้จัดการฝ่ายบุคคลจะมีความเก่งกาจสักแค่ไหนในเรื่องของความรู้ด้านระบบงานบุคคล มีความสามารถในการวางระบบต่างๆ มากมาย แต่สุดท้ายถ้าระบบเหล่านี้ไม่ได้รับการนำเอาไปปฏิบัติจริงมันก็ไม่มีประโยชน์อะไรเลย เท่ากับความ HR ก็ไม่ประสบความสำเร็จในการทำงานนั่นเอง

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

บลอกที่ WordPress.com .

Up ↑

%d bloggers like this: