ผ่านไปแล้วสองตอน สำหรับเรื่องของวิธีการวิเคราะห์ว่าอะไรที่เป็นสาเหตุที่ทำให้พนักงานไม่สามารถทำงานได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยใช้หลัก CAP จากหนังสือ Aha Performance เป็นพื้นฐานในการวิเคราะห์ เราคุยในไปแล้วในเรื่องของ C – Clarity และ A – Attainability วันนี้จะมาต่อตัวสุดท้ายกันก็คือ P – Payoff ซึ่งก็คือ ถ้าทำงานนี้แล้วจะได้อะไร คุ้มค่าเหนื่อยหรือไม่ ซึ่งคุ้มหรือไม่คุ้มนั้น ก็จะแตกต่างกันออกไปในความต้องการของพนักงานแต่ละคน
ความต้องการของคนเรานั้น มีหลายทฤษฎีที่ว่าด้วยเรื่องของความต้องการของคนเรา แต่ในหนังสือเรื่อง Aha Performance นี้ได้สรุปความต้องการของคนเราออกเป็น 5 อย่างก็คือ
- Survival ก็คือ ความต้องการที่จะมีชีวิตอยู่รอด
- Love / Belonging ก็คือความต้องการความรักและความเป็นเจ้าของ
- Power / Recognition คือความต้องการอำนาจ และการได้รับความสนใจจากผู้อื่น
- Fun / Learning คือต้องการความสนุกในชีวิต และได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
- Freedom ต้องการอิสระที่จะทำอะไรได้อย่างที่เราต้องการ
ความต้องการทั้ง 5 ตัวนี้จะมีอยู่ในคนทุกคนอยู่แล้ว เพียงแต่จะแตกต่างกันออกไปในแต่ละคน ดังนั้นการที่พนักงานไม่สามารถทำงานได้ตามเป้าหมายที่เรามอบหมายไปนั้น ถ้าเรามี C และ A ที่ดีและชัดเจนแล้ว แต่พนักงานยังทำงานไม่ได้ หรือไม่มีผลงานออกมาอีก ก็แสดงว่าน่าจะอยู่ที่ตัว P นี่แหละครับ ก็คือ พนักงานรู้สึกว่าไม่คุ้มค่าที่จะทำมัน หรือทำแล้วไม่ได้รับการตอบสนองความต้องการของตนเอง ก็เลยไม่มีแรงจูงใจจะทำงานนั้นๆ
ซึ่งความต้องการเหล่านี้ก็ไม่ใช่แค่เรื่องของเงินเพียงอย่างเดียว คนเราไม่ได้ต้องการเงินเป็นคำตอบสุดท้ายทุกคน ผู้จัดการจะต้องพิจารณาและมองให้ออกว่าลูกน้องของเราแต่ละคนนั้นต้องการอะไรเป็นอันดับหนึ่งใน 5 ความต้องการข้างต้น แล้วก็หาวิธีการตอบสนองความต้องการตรงนั้นให้ถูกต้อง เช่นพนักงานบางคนต้องการความภาคภูมิใจในการทำงาน ต้องการให้หัวหน้าเห็นความสำคัญของเขา เวลาให้เขาทำงานก็จะต้องแสดงให้เห็นว่าเราขาดเขาไม่ได้ เขากำลังไว้วางใจเขาให้ทำงานที่ยาก และท้าทาย เมื่อพนักงานคนนั้นทราบแบบนี้ในใจแล้ว เขาจะมีแรงจูงใจที่จะผลักดันผลงานนั้นออกมาให้เราได้ครับ
หลักสำคัญที่จะใช้ Payoff ให้ได้ผลจะมีดังนี้ครับ
- อย่าใช้การบังคับ หรือขู่ให้ทำ เช่น ถ้าคุณไม่ทำจะไม่ได้รับการพิจารณาขึ้นเงินเดือน หรือ ถ้าคุณทำไม่ได้ตามเป้า ผมจะไล่คุณออก ฯลฯ โดยปกติแล้วคนเราทุกคนไม่ชอบให้ใครมาบังคับขู่เข็ญให้ทำอะไร หรือไม่ทำอะไร ผลที่ได้จากการบังคับหรือการขู่ก็คือ พฤติกรรมชั่วคราวเท่านั้น ไม่ใช่พฤติกรามที่ถาวร เขาจะทำตอนที่เราพูดขู่ หรืออยู่ต่อหน้าจึงทำ ลับหลังก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง และแรงจูงใจจากการบังคับนั้นมันคือความกลัวครับ ไม่มีใครที่อยากทำงานเพราะว่ากลัวหรอกครับ หรือบางคนอาจจะพาลไม่ทำมันซะเลย ผลก็คือ ผลงานที่เราคาดหวังก็จะไม่ได้อะไร แถมยังไม่ได้ใจลูกน้องอีกด้วยนะครับ ตัวอย่างง่ายๆ เช่น เราสั่งลูกน้องให้ทำงานอย่างหนึ่ง และอยากให้งานสำเร็จ ถ้าเราใช้วิธีขู่ก็คือ “ถ้าคุณไม่ทำ หรือทำไม่สำเร็จผมจะคาดโทษคุณแน่นอน” แบบนี้พนักงานก็จะไม่อยากทำให้ด้วยความเต็มใจ แต่ทำเพราะกลัว ผลงานก็จะไม่สม่ำเสมอครับ
- การติดสินบนให้ทำ เรื่องนี้จะตรงข้ามกับการบังคับหรือขู่เข็ญ แต่จะเป็นการบอกพนักงานว่าทำนะ ถ้าทำได้คุณจะได้เงินเดือนเพิ่ม หรือได้โบนัสเพิ่ม เรื่องของระบบ Incentive ก็ถือว่าเป็นระบบการติดสินบนอย่างหนึ่งนะครับ เพียงแต่ทำกันอย่างเป็นระบบ ซึ่งการทำแบบนี้จะเป็นสิ่งที่ดีกว่าการบังคับหรือขู่เข็ญ เพียงแต่ผลที่ได้ก็ยังคงเป็นผลระยะสั้นอยู่ดี เพราะถ้าเราตัด Incentive นั้นทิ้งไป พนักงานก็จะเลิกทำ แปลว่าที่เขาทำก็เพราะต้องการแลกกับเงินนั่นเอง แต่เรื่องของผลงานนั้นเราไม่ได้ต้องการให้พนักงานสร้างผลงานเพื่อแลกกับเงิน แต่เราต้องการให้พนักงานทำผลงานด้วยตัวของเขาเอง ด้วยแรงจูงใจของเขาเอง ซึ่งแบบนี้จะเป็นผลในระยะยาว และหัวหน้าก็จะได้ผลงานดีอย่างสม่ำเสมอจากพนักงานที่มีแรงจูงใจในตัวเอง ผลงานก็จะเป็นแบบระยะยาว มากกว่าระยะสั้นๆ แต่อย่างไรก็ดีผมไม่ได้บอกให้เลิกระบบ Incentive นะครับ เพียงแต่อาจจะต้องหาวิธีการอย่างอื่นเพิ่มเติมเพื่อทำให้พนักงานรู้สึกอยากทำงานนั้นด้วยตัวของเขาเอง เช่น ตัวอย่างเดิม ๆ ในการสั่งงานลูกน้อง หัวหน้ามักจะบอกกับพนักงานว่า “ถ้าทำงานนี้ได้สำเร็จตามเป้าแล้วผมจะมีโบนัสพิเศษให้” คำถามก็คือ เราจะหาโบนัสพิเศษได้ตลอดเวลาหรือ ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ไปนาน ๆ พนักงานจะทำเพราะได้รางวัล และเมื่อไหร่ไม่มีรางวัลให้ ก็จะไม่อยากทำงานที่มอบหมายให้อีกต่อไป และอีกอย่างก็คือ ไม่ใช่พนักงานทุกคนที่ต้องการเงินแต่เพียงอย่างเดียว หลายคนไม่ได้ถูกจูงใจด้วยเงิน
- เชื่อมโยงความต้องการของแต่ละบุคคล (Vested Interest) วิธีนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะเป็นวิธีที่สร้างแรงจูงใจภายในของพนักงานแต่ละคนได้อย่างดี เพียงแต่ผู้จัดการจะต้องพอจะทราบว่าพนักงานแต่ละคนนั้นมีความต้องการอะไรเป็นหลักใน 5 ความต้องการข้างต้น แล้วพยายามเชื่อมโยงความต้องการของพนักงานให้เข้ากับงานที่เขาจะต้องทำ
- เชื่อมกับเรื่องของ Survival needs ก็จะออกมาดังนี้ “ผลงานชิ้นนี้เป็นตัวพิสูจน์ตัวคุณเลยนะ เพราะถ้าทำเสร็จมันเป็นตัวบอกว่าคุณจะสามารถก้าวหน้ากับเราไปได้ไกลแค่ไหน ซึ่งนั่นก็หมายถึงค่าตอบแทนที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วย” ถ้าพนักงานมีความต้องการเรื่อง survival need ก็จะเชื่อมความตัองการของเขาได้ตรง
- เชื่อมกับเรื่องของ Love and Belonging needs “งานนี้จะทำให้คุณเป็นที่รู้จักกับบุคคลทั้งในและนอกบริษัทมากขึ้น และเปิดโอกาสให้คุณได้แสดงงฝีมือให้กับบุคคลเหล่านี้ได้เห็น” ถ้าพนักงานต้องการเรื่องของความรักและความสัมพันธ์ เขาก็จะเต็มใจทำ เพราะมันตรงกับสิ่งที่เขาต้องการจริงๆ
- เชื่อมกับเรื่องของ Power and Recognition need “ผลงานชิ้นนี้จะทำให้คุณมีโอกาสในการเป็นผู้จัดการโครงการเอง และทำให้คนอื่นได้เห็นฝีมือ และความสามารถที่แท้จริงของคุณเลยนะครับ” ถ้าพนักงานคนนี้มีความต้องการที่จะให้คนอื่นยอมรับว่าเขามีอำนาจ และต้องการการยอมรับจากผู้อื่น
- เชื่อมกับเรื่องของ Fun and Learning หรือความสนุกสนาน “งานนี้จะทำให้คุณได้สนุกกับความคิดสร้าสรรค์ใหม่ๆ และได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในประเด็นที่คุณไม่เคยรู้มาก่อนเลยนะ” ถ้าพนักงานคนนี้ชอบเรียนรู้ และสนุกกับงาน ก็จะทำอย่างไม่มีเงื่อนไข
- เชื่อมกับ Freedom “งานนี้ผมจะให้อิสระคุณในการทำงานเองทั้งหมด คุณสามารถเลือกวิธีการทำงาน เลือกทีมงานของคุณเองได้”
ข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างที่ทำให้ผู้อ่านเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นนะครับ สิ่งที่ผู้จัดการจะต้องไปทำต่อก็คือ นำเอาปัจจัยเหล่านี้ไปเชื่อมโยงกับชีวิตการทำงานจริงของพนักงานแต่ละคนได้อย่างเหมาะสม พนักงานแต่ละคนชอบไม่เหมือนกัน ต้องการไม่เหมือนกัน ดังนั้นถ้าเราสามารถเชื่อมสิ่งที่เขาต้องการได้กับการทำงาน ก็จะทำให้ผลงานของพนักงานออกมาดีขึ้น เพราะเขาทำด้วยใจ ไม่ได้ถูกบังคับให้ทำนั่นเองครับ
และที่สำคัญก็คือ เรื่องแบบนี้ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ซึ่งกันและกันครับ กว่าจะเชื่อมได้ตรงใจพนักงานก็ไม่ใช่วันสองวันครับผม พนักงานบางคนทำงานกับผมมามากว่า 3 ปีแล้วยังเชื่อมไม่ค่อยติดก็มีครับ แต่ขอให้ส่วนใหญ่เราเชื่อมติดก็น่าจะทำให้ผลงานของทีมออกมาดีขึ้นครับ
แนวคิดทั้ง 3 ตอนอาจจะไม่ใชสิ่งที่ตายตัว ถูกต้อง และเหมาะสมที่สุด เป็นเพียงแนวทาง ที่ผู้ใช้จะต้องนำไปประยุกต์และเรียนรู้วิธีการใช้ ลองถูกลองผิด แล้วพนักงานของเราจะสามารถทำงานได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างแน่นอน
ใส่ความเห็น