เคยมีพนักงาน หรือ ลูกน้องที่มีผลงานออกมาไม่เข้าตา หรือไม่ได้มาตรฐานของบริษัท หรือไม่ได้ตามเป้าหมายที่เรากำหนดไว้บ้างหรือไม่ หรือ พนักงานที่มีพฤติกรรมการทำงานที่ไม่เหมาะสม วางตัว ปฏิบัติตัวไม่ได้ตามพฤติกรรม หรือ Competency ของบริษัท บ้างหรือไม่
ถ้ามี ท่านในฐานะผู้จัดการ หรือ หัวหน้างานโดยตรงของพนักงานคนนี้ ท่านทำอย่างไรกับพนักงานคนนี้บ้าง
- ไม่บอก ไม่พูด อะไรใดๆ ผู้จัดการหลายคนเลือกที่จะไม่พูด ไม่บอกกล่าวอะไร พนักงานคนนั้น โดยที่คิดไปเองว่า เราไม่ควรจะทำให้พนักงานรู้สึกแย่ เพราะด้วยการที่เราไปบอกเขาว่า ผลงานของเขาไม่ดี ไม่ได้ตามมาตรฐาน พฤติกรรมก็แย่ ฯลฯ นั้น จะทำให้พนักงานรู้สึกไม่ดี และส่งผลต่อแรงจูงใจในการทำงาน ส่งผลต่อ Engagement ของพนักงาน ฯลฯ ก็เลยเลือกที่จะไม่พูดอะไร ปล่อยไปตามนั้น
- พูดคุย แต่ไม่บอกตรง ๆ ว่าผลงานไม่ดี ผู้จัดการหลายคน ที่มักจะมีการพูดคุยกับพนักงานคนนั้น แต่สิ่งที่พูดก็คือ “ไม่เป็นไร” หรือ “งานออกมาก็โอเคนะ” หรือ “ก็ดีนะ” คือ พูดไม่ตรงกับความจริงเกี่ยวกับผลงานที่เกิดขึ้น พนักงานบางคนทราบอยู่แล้วว่า ผลงานของตนออกมาไม่ค่อยดี ไม่ได้มาตรฐานเท่าไหร่ อยากปรับปรุง แต่พอมาคุยกับเจ้านาย นายกลับบอกว่า “ก็โอเค” พนักงานหลายคนก็เริ่มสับสนว่า ตกลงแล้วผลงานตนเองแบบนี้ดีแล้วหรือ บางคนก็เริ่มลดมาตรฐานในการทำงานของตนเองลง เพราะเข้าใจว่าสิ่งที่นายบอกมา ก็คือ ดีแล้วจริงๆ แต่ลึก ๆ แล้วนายไม่กล้าพูดตรง ๆ เกี่ยวกับผลงานของพนักงานคนนั้นมากกว่า ผลที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ พนักงานคนนั้นจะมีปัญหาด้านผลงานตลอดไป
- เอางานของพนักงานมาทำเอง ผู้จัดการอีกส่วนหนึ่ง ไม่บอกพนักงานเรื่องผลงาน หรือ อาจจะบอกไม่ตรงกับผลงานจริงของพนักงานคนนั้น จากนั้น ก็เอางานของพนักงานคนนั้น มาทำเองต่อ มาแก้ไขเอง มาทำให้ถูกต้อง และได้มาตรฐานเอง โดยไม่สอน ไม่บอก ไม่แนะนำ และไม่ให้พนักงานคนนั้นกลับไปแก้ไขให้ถูกต้อง ซึ่งผลก็คือ พนักงานคนนั้น ก็จะทำงานผิดพลาดแบบนั้นต่อไปเรื่อย ๆ และนายเองก็ต้องแก้ไขต่อไปเรื่อย ๆ เช่นกัน แล้วแบบนี้เราจะจ้างพนักงานคนนั้นมาทำอะไร
3 ประการข้างต้น คือ พฤติกรรมของผู้จัดการ ของหัวหน้างาน ที่ไม่เหมาะสม และไม่ควรทำอย่างยิ่ง เวลาที่พนักงานของเราผลงานออกมาไม่ดี ไม่ได้มาตรฐาน ทั้งสามวิธีข้างต้น เป็นการบอกกับพนักงานเป็นนัย ๆ ว่า ทำงานผิดก็ไม่เป็นไร ถือว่ายังออกมาดีอยู่ และพนักงานเองก็จะเข้าใจว่า นายยอมรับงานแบบนี้นี่เอง ดังนั้น พนักงานคนนั้นจะเรียนรู้ว่า ไม่ต้องไปเครียดอะไรกับความผิดพลาดของงาน เพราะนายไม่ได้ซีเรียส ผลก็คือ พนักงานจะลดความใส่ใจในการทำงานลงไปอีก และจะขาดความตั้งใจในการทำงานให้ถูกต้อง
ผลที่ตามมาที่เราคาดไม่ถึงก็คือ พนักงานคนอื่นที่อยู่ในทีมเดียวกัน ก็จะเรียนรู้ว่า นายไม่ว่าอะไรพนักงานคนนี้ แสดงว่า ถ้าเราทำผิดพลาดบ้าง ก็น่าจะได้ นายก็ไม่น่าจะว่าอะไรเหมือนกัน ก็เลยทำให้พนักงานทุกคนในทีม ลดมาตรฐานและความตั้งใจในการทำงานของตนเองลงไปอีก สุดท้ายทั้งทีม ก็จะทำงานไม่ได้ตามเป้าหมาย และตามมาตรฐาน และทุกคนก็ไม่รู้สึกผิดอะไร และไม่รู้สึกว่าตนเองจะต้องปรับปรุงแก้ไขอะไรเลยด้วยซ้ำไป
ดังนั้น ถ้าพนักงานทำงานพลาด ซึ่งมันพลาดกันได้อยู่แล้ว ในฐานะที่เป็นหัวหน้าของพนักงานคนนั้น เราก็ควรจะสื่อสารตรงไปตรงมาว่าเกิดความผิดพลาดขึ้น ผลงาน และพฤติกรรมที่ทำออกมานั้นยังต้องปรับปรุง และพัฒนา คือ ต้องไม่ยอมรับผลงานที่ไม่ได้มาตรฐานนั้น และต้องสอน แนะนำ ให้คำปรึกษาเพิ่มเติม เพื่อให้พนักงานพัฒนาผลงานให้ได้ดีขึ้น
ถ้าเราทำแบบนี้กับทุกคน การที่เราไม่ยอมรับผลงานที่ไม่ดี พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เท่ากับว่า เรากำลังบอกพนักงานกลาย ๆ ว่า อยากทำแบบนี้นะ เรารับไม่ได้ ดังนั้น พนักงานจะรับรู้ และเรียนรู้ได้ว่า ตนเองจะต้องทำงานอย่างไรให้ดีขึ้น เพื่อให้นาย และองค์กรยอมรับว่านี่คือผลงานที่ดี
แค่เพียงสื่อสาร บอกกล่าว ผลงาน และพฤติกรรมที่ไม่ดี ไม่เหมาะของพนักงานอย่างตรงไปตรงมา มันจะทำให้ผลงานของพนักงานดีขึ้นได้ และทำงานผลงานของทีมงานดีขึ้นได้เช่นกัน
หลายท่านอาจจะรู้สึกว่า บอกตรงไปตรงมาแบบนั้น มันจะไม่ทำให้พนักงานรู้สึกแย่หรือ แน่นอนว่า ไม่มีใครชอบถูกตำหนิ แต่ถ้าเขาทำผิดจริง ไม่เหมาะจริง พนักงานจะเข้าใจถึงสาเหตุที่ต้องตำหนิ ที่ต้องบอกกล่าวกัน และถ้าคำพูดนั้นของผู้จัดการออกมาด้วยเจตนาที่อยากจะพัฒนาผลงานพนักงานให้ดีขึ้น ผมคิดว่า พนักงานทุกคนย่อมเปิดใจยอมรับได้ เพื่อที่จะปรับปรุงผลงานของตนเองให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ใส่ความเห็น