Coaching เป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับการพัฒนาพนักงานที่สำคัญเครื่องมือหนึ่ง ที่ปัจจุบันนิยมใช้กันมากขึ้น โดยเฉพาะกับองค์กรที่เน้นการพัฒนาผลงาน และต้องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของพนักงาน เพื่อให้สร้างผลงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
องค์กรที่ริเริ่มใช้การ Coaching จะต้องเริ่มต้นด้วยการฝึกอบรม และพัฒนาทักษะการสอนงานให้กับเหล่าบรรดาผู้จัดการทั้งหลาย เพื่อให้มีทักษะในการสอนงานที่ถูกต้องเหมาะสม และสามารถสอนงานพนักงานของตนเองอย่างได้ผล
แต่ในทางปฏิบัติไม่ง่ายอย่างนั้น เนื่องจากการสอนงาน เป็นทักษะ และถือเป็นทักษะที่ต้องอาศัยการฝึกฝนตนเอง อีกทั้งยังต้องเข้าใจอีกฝ่ายที่เรากำลังจะสอนงานด้วยเช่นกัน ว่าเขากำลังคิดอะไร รู้สึกอย่างไร และต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองจริง ๆ หรือไม่
พื้นฐานสำคัญของการเปลี่ยนพฤติกรรมของพนักงาน ที่ Coach ทุกคนจะต้องตระหนัก มีดังนี้
- คนเรามักจะให้ความเชื่อถือ และเชื่อมั่นกับคนที่ชอบเขา และทำเพื่อเขา กล่าวคือ ถ้าพนักงานคนนั้นรู้สึกว่า ผู้จัดการรู้สึกดีกับเขา ชอบ และชื่นชมผลงาน อีกทั้งยังเห็นเจตนาที่ต้องการที่จะพัฒนาเขาให้ดีขึ้นจริง ๆ พนักงานคนนั้นจะเปิดใจ และเชื่อในสิ่งที่ผู้จัดการสอนงานมาอย่างเต็มที่ ในทางตรงกันข้าม ถ้าผู้จัดการรู้สึกไม่ชอบพนักงานคนนั้นเลย และไม่ค่อยเต็มใจจะสอนงาน สอนเพราะถูกบังคับให้สอนมากกว่า พนักงานที่ถูกสอนงานก็จะไม่เปิดใจรับการสอน และจะไม่สนใจ ไม่เชื่อถือผู้สอนเลย ซึ่งผลก็คือ การสอนงานก็จะไม่ได้ผลอย่างที่ต้องการ ดังนั้น ถ้าเราต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของพนักงาน จุดเริ่มต้นที่สำคัญก็คือ การสร้างความสัมพันธ์ที่ระหว่างผู้สอนกับผู้ถูกสอนก่อนเลย ผู้สอนต้องเปิดใจ มองข้อดู และชอบผู้ถูกสอนก่อน อย่างจริงใจ
- คนเราไม่เชื่อถือ และไม่เชื่อ คนที่ต่อต้านเขา ข้อนี้ก็สำคัญ ถ้าเราต้องการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการทำงานของพนักงานด้วยการสอนงาน สิ่งที่สำคัญก็คือ จะต้องไม่ทำให้พนักงานคนนั้นรู้สึกว่า ผู้สอนกำลังต่อต้านพฤติกรรมบางอย่างของตัวพนักงานเอง และพยายามที่จะเอาชนะพนักงานด้วยวิธีการต่าง ๆ หรือ ผู้สอนพยายามที่จะทำให้ตนเองมีความสำคัญมากกว่า โดยไปลดความสำคัญของพนักงานคนนั้นลง เช่น เริ่มต้นการสอนงานด้วยการตำหนิติเตียนพฤติกรรมที่ไม่ดีของพนักงาน โดยตั้งใจทำให้พนักงานเห็นและยอมรับว่าพนักงานเป็นคนผิด และต้องได้รับการแก้ไข คนเราไม่ชอบให้คนอื่นมาติเราตรง ๆ อยู่แล้ว และไม่ต้องการให้คนอื่นมาบังคับให้เปลี่ยน ดังนั้น ถ้าผู้สอนแสดงพฤติกรรมต่อต้าน และไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่พนักงานคิด และทำมากจนเกินไป ก็จะทำให้การสอนงานพนักงานคนนั้นไม่ได้ผลอีกเช่นกัน
- คนเราจะไม่เปลี่ยนแปลงตนเอง จนกว่าตนเองต้องการที่จะเปลี่ยนจริง ๆ การสอนงานเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนั้น จะไปบังคับให้ผู้ถูกสอนงานเปลี่ยนพฤติกรรมในทันทีนั้น เป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะคนเราปกติ จะไม่ยอมเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเองง่าย ๆ จนกว่าเขาจะเข้าใจว่าทำไมถึงต้องเปลี่ยน เปลี่ยนแล้วดีต่อตัวเขาอย่างไร เมื่อพนักงานเปิดใจยอมรับ ก็จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ง่ายขึ้น ดังนั้นคนที่เป็น Coach จะไปใช้วิธีการบังคับให้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ย่อมไม่ได้ผล ต้องสร้างความเข้าใจ และการยอมรับก่อน เพื่อให้พนักงานเห็นถึงผลดีของการเปลี่ยนแปลง และยอมที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองก่อน การสอนงานครั้งนั้นจึงจะได้ผลลัพธ์ที่ดี
- ทุกคนต้องการที่จะรู้ว่า แล้วมันเกี่ยวอะไรกับฉันบ้าง หลายครั้งที่การสอนงานเป็นไปในลักษณะว่า พนักงานจะต้องเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้ผลงานดีขึ้น เมื่อผลงานดีขึ้นแล้ว ก็จะดีต่อหน่วยงาน และดีต่อองค์กร อีกทั้งยังดีต่อคนอื่นที่ทำงานร่วมกันด้วย ฯลฯ แต่พนักงานจะคิดว่า แล้วมันเกี่ยวอะไรกับฉันล่ะ ฉันเปลี่ยนแปลงแล้วคนอื่นดีหมด แล้วฉันจะเป็นอย่างไร ทำไมไม่มีใครบอกเลย นี่คือ ความคิดพื้นฐานของทุกคน เขามักจะถามตัวเองก่อนเลยว่า “การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในครั้งนี้ มันเกี่ยวอะไรกับฉันบ้าง” ทำแล้ว เปลี่ยนแปลงแล้ว ฉันจะมีอะไรที่ดีขึ้นบ้าง ดังนั้น เวลาที่เราสอนงาน จึงจำเป็นต้องมุ่งไปที่ประโยชน์ของพนักงานที่กำลังถูกสอนงานมากกว่า ประโยชน์ของคนอื่น เพราะเมื่อไหร่ที่พนักงานไม่ได้รู้สึกว่าตนเองได้ประโยชน์อะไรเลย ก็จะไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนั่น ๆ และสุดท้ายการสอนงานก็จะไม่ได้ผล
4 ประเด็นข้างต้น เป็นพื้นฐานสำคัญที่ coach ที่ดีทุกคนจะต้องตระหนักเสมอ เวลาที่ต้องสอนงานพนักงาน มิฉะนั้น เราจะรู้สึกว่า ทำไมสอนเท่าไหร่ก็ไม่รู้จักจำ สอนไปก็ไม่เห็นมีอะไรดีขึ้นเลย ก็เพราะเรามัวแต่สนใจตัวเอง สนใจคนอื่น มากกว่าสนใจในสิ่งที่ผู้ถูกสอนต้องการ
ใส่ความเห็น