จากบทความเมื่อวานนี้ ที่ได้เขียนเกี่ยวกับสัญญาณที่บ่งบอกว่า พนักงานคนนี้ไม่เหมาะสม หรือไม่ fit กับค่านิยม และวัฒนธรรมองค์กรของเราไปแล้ว คำถามที่ตามมาก็คือ แล้วเราควรจะทำอย่างไรกับพนักงานกลุ่มนี้ดี
จากประสบการณ์ที่ผ่านการให้คำปรึกษาด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลมา จะเห็นวิธีการในการบริหารจัดการพนักงานกลุ่มนี้อยู่ในหลายแบบ ตั้งแต่แบบไม่สนใจอะไร จนถึงแบบเอาจริงเอาจังมาก ๆ ซึ่งส่งผลกระทบที่แตกต่างกันออกไป เราลองมาดูสิ่งที่องค์กรต่าง ๆ ปฏิบัติกับพนักงานที่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับองค์กรเหล่านี้ว่ามีอะไรบ้าง
- ไม่มีมาตรการอะไรกับพนักงานกลุ่มนี้ มีหลายองค์กรที่ผู้บริหารรู้ทั้งรู้ว่ามีพนักงานที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมทำงานอยู่ในองค์กร และพนักงานกลุ่มนี้ก็สร้างความไม่พึงพอใจให้กับพนักงานคนอื่นหลาย ๆ คน อีกทั้งยังแสดงออกซึ่งความไม่เหมาะสมในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งถือได้ว่าเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีในการทำงาน และต่อวัฒนธรรมที่ดีขององค์กร แต่ผู้บริหารก็ไม่มีมาตรการอะไรที่จะมาบริหารจัดการพนักงานกลุ่มนี้ กลับปล่อยให้ได้รับรางวัลผลงาน การทำงานที่ไม่แตกต่างกับคนอื่น ไม่มีการตักเตือน ไม่มีการพูดคุยเพื่อให้ปรับพฤติกรรมอะไรเลย คำถามที่ตามมา ก็คือ ทำไมผู้บริหารไม่ทำอะไร คำตอบก็คือ ผู้บริหารส่วนหนึ่งไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไร อีกส่วนหนึ่งก็คือ ไม่กล้าแตะพนักงานกลุ่มนี้ สิ่งที่ตามมาก็คือ พนักงานกลุ่มนี้ก็จะได้ใจ ยิ่งแสดงพฤติกรรมแย่ๆ ออกมาให้ได้เห็นมากขึ้นเรื่อย ๆ และที่สำคัญก็คือ จะไปทำให้พนักงานที่ตั้งใจทำงาน และมีพฤติกรรมที่ดี รู้สึกแย่กับการทำงานที่นี่ และเป็นผลทำให้พนักงานเก่ง ๆ ลาออกกันไปหมด เพราะรู้สึกว่า ผู้บริหารที่นี่ไม่เด็ดขาด และไม่น่าเชื่อถือในสายตาของเขาอีกต่อไป
- ว่ากล่าวตักเตือน และมีผลต่อผลงานพนักงาน หลายองค์กรเริ่มมีความชัดเจนในการบริหารจัดการกับพนักงานที่ไม่เหมาะสมเหล่านี้ โดยผูกพฤติกรรมต่าง ๆ ในการทำงานกับระบบประเมินผลงานขององค์กร และเชื่อมโยงระบบผลงานกับการให้รางวัล ซึ่งก็ทำให้พนักงานที่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกลุ่มนี้มีผลงานที่ไม่เป็นที่ยอมรับ และต้องพัฒนา จากนั้น ก็มีการวางแผนเพื่อพัฒนาพฤติกรรมของพนักงานกลุ่มนี้กันต่อไป ซึ่งถ้าคนไหนพัฒนาแล้ว แต่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ ก็จะเข้าสู่โหมดของการเลิกจ้างกันอย่างถูกต้องตามกฎหมายต่อไป วิธีนี้ถือเป็นทางสายกลางที่ให้โอกาสพนักงานกลุ่มนี้ได้พัฒนาตนเอง ได้ปรับปรุงพฤติกรรมใหม่ได้
- เลิกจ้างอย่างถูกต้องตามกฎหมาย บางองค์กรพอเห็นสัญญาณพฤติกรรมแย่ ๆ ชัดเจน และมีหลักฐานทุกอย่าง ก็จะบอกกับพนักงานตรง ๆ ว่า “คุณไม่ได้ไปต่อ” และจะเลิกจ้างพนักงานคนนั้นทันที อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ผู้บริหารที่ดำเนินการมาตรการนี้ มักจะบอกว่าเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม ดีกว่าปล่อยไปเรื่อย ๆ จนสร้างปัญหาที่หนักหนาสาหัสจนแก้ไขไม่ได้ และที่สำคัญก็คือ พนักงานที่มีผลงานดี ก็จะรู้สึกได้ว่า องค์กรนี้ให้ความเป็นธรรมกับการบริหารคน โดยเน้นไปที่ผลงาน และพฤติกรรมที่เหมาะสม
ผู้บริหารหลายท่านอาจจะแย้งว่า วิธีที่ 3 นี้รุนแรงไปหรือไม่ คำตอบก็คือ ถ้าเราเห็นพฤติกรรมเชิงลบที่ชัดเจนมาก ๆ และเห็นผลกระทบตามมาในเรื่องของการทำงาน และการอยู่ร่วมกันของพนักงานแล้ว การตัดสินใจในแบบที่ 3 ก็ไม่น่าจะรุนแรงอะไร
ผู้บริหารบางคนคิดว่า ก็น่าจะให้เขาอยู่ต่อไป ทำงานต่อไป เพราะเราเองมี star อยู่ ก็น่าจะใช้ Star เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับพนักงานกลุ่มนี้ในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการทำงาน แต่เชื่อหรือไม่ว่า ในทางปฏิบัติคนที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมก็คือ พนักงานที่เป็น Star นี่แหละ เขาเรียนรู้ว่า บริษัทไม่ทำอะไรกับพนักงานแย่ ๆ ดังนั้น เขาก็ไม่จำเป็นต้องเป็น Star ก็ได้ พอเรียนรู้แบบนี้ พฤติกรรม และผลงานของ Star ก็จะแย่ลง เพราะพนักงานที่ไม่เหมาะสมเหล่านี้ กลายเป็นตัวอย่างให้ star เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการทำงานมากกว่า
ดังนั้น จงอย่าปล่อยปละละเลยพนักงานที่ไม่เหมาะ ไม่ fit กับองค์กร แม้ว่าบางคนผลงานจะอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เราต้องมีมาตรการในการพัฒนาเขา ถ้าเขายังคงมีช่องให้พัฒนาได้ และมาตรการในการเลิกจ้างอย่างถูกต้องเหมาะสม และเป็นธรรมกับพนักงานที่ไม่เหมาะสมด้วยเช่นกัน
เพื่อให้องค์กรเราสามารถที่จะเก็บค่านิยม และวัฒนธรรมในการทำงานที่ดีร่วมกันต่อไปได้อย่างยั่งยืน
ใส่ความเห็น