อยากให้พนักงานประเมินผู้จัดการของตนเองบ้าง จะต้องประเมินอะไร อย่างไรดี

ในยุคปัจจุบันนี้ เรายอมรับการ Feedback กันได้มากขึ้น ดีขึ้น เมื่อเทียบกับในอดีต พนักงานรุ่นใหม่ต่างก็ยอมรับว่า Feedback เป็นสิ่งที่ดี ถ้าพนักงานได้รับในแนวทางที่ถูกต้อง ก็สามารถนำเอาข้อมูลเหล่านั้นมาพัฒนาตนเองให้เก่งขึ้นได้

พนักงานในระดับผู้จัดการ และผู้นำองค์กรในรุ่นใหม่ก็เช่นกัน เขาเติบโตมาจากการได้รับ Feedback จากนายในอดีต พอเติบโตขึ้น ผู้จัดการเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็รับได้กับการได้รับ Feedback จากพนักงาน เพราะเขาเชื่อว่านี่คือ กระจกสะท้อนผลงาน และทักษะในการบริหารจัดการที่ดี และสามารถนำมาพัฒนาตัวเองได้อย่างดี

ดังนั้นด้วยระบบการประเมิน 360 องศา ที่ให้พนักงานมีโอกาสประเมิน หรือ ให้ Feedback ผู้จัดการตนเอง จึงพอที่จะได้รับความนิยมมากขึ้น และได้รับการยอมรับดีขึ้น หลาย ๆ องค์กรก็เลยคิดว่า ถ้าเราจะเอาระบบนี้มาใช้บ้างจะต้องประเมินอะไร อย่างไรบ้าง

การให้ลูกน้องประเมิน หรือ Feedback นายนั้น ส่วนใหญ่ เขาจะตัดในส่วนของตัวชี้วัดผลงานออก เพราะตัวนี้ นายของนายเท่านั้นที่จะประเมินและให้ความเห็นได้ดี ดังนั้น การประเมินแบบ 360 องศาจึงไม่มีการให้พนักงานประเมิน KPI ของผู้จัดการตนเอง

ประเด็นที่มักจะให้พนักงานประเมินผู้จัดการ มักจะเป็นประเด็นทางด้านพฤติกรรมมากกว่า โดยจะต้องพิจารณาว่า คนที่มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าในแต่ละระดับนั้น จะต้องประกอบไปด้วยพฤติกรรมอะไรบ้าง ซึ่งองค์กรส่วนใหญ่ก็จะมีการทำ Managerial Competency อยู่แล้ว ก็สามารถนำมาปรับใช้ได้ บางองค์กรก็มีการเพิ่มเติมในส่วนของ Core Competency เข้าไปด้วยเช่นกัน โดยมองในมุมมองของพนักงานว่า ผู้จัดการของตนเองนั้น มี Competency แต่ละตัวในระดับใด ตัวไหนดี ตัวไหนต้องปรับปรุง อาทิ

  • ภาวะผู้นำ เพื่อให้ลูกน้องพิจารณาว่า หัวหน้าของตนเองนั้นมีภาวะผู้นำสักแค่ไหน สามารถนำทีมงาน ให้ไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ได้สักเพียงใด

  • การสร้างทีมงาน เพื่อให้ลูกน้องพิจารณาว่า หัวหน้าของตนเองนั้นมีพฤติกรรมในการสร้างทีมงานที่ดีในหน่วยงานหรือไม่ หรือเป็นคนทำลายทีมงานกันแน่

  • การจูงใจพนักงาน เพื่อให้ลูกน้องพิจารณาว่า หัวหน้าของตนเองนั้น มีทักษะ และวิธีการในการสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงานในหน่วยงานของตน ให้มีพลังในการทำงาน และต่อสู้กับอุปสรรคในการทำงานได้มากสักเพียงใด หัวหน้างานบางคนก็เก่งที่จะทำลายแรงจูงใจของพนักงานมากกว่าก็มีครับ

  • การสอนงาน เพื่อให้ลูกน้องพิจารณาว่า หัวหน้าของตนเองนั้นมีทักษะในการสอนงาน และมีการพัฒนาพนักงานในทีมงานมากน้อยสักเพียงใด หรือปล่อยให้พนักงานทำงานแบบเดิมๆ ไปเรื่อยๆ ผิดก็ยังผิดอยู่วันยันค่ำ ไม่เคยคิดที่จะพัฒนาพนักงานเลย

  • ยังมีอีกหลายปัจจัยนะครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ การเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง ความคิดสร้างสรรค์ ฯลฯ แล้วแต่ว่าแต่ละองค์กรจะมุ่งเน้นให้หัวหน้าของตนเองมี Managerial Competency อะไรบ้าง

ประเด็นหรือปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมานั้น ถ้าจะปล่อยให้หัวหน้าของหัวหน้าเป็นคนประเมิน ในบางครั้ง หัวหน้าของหัวหน้าเองอาจจะเห็นแค่เพียงบางมุมเท่านั้น ซึ่งทำให้การพัฒนาหัวหน้างานอาจจะเป็นไปด้วยความล่าช้า และไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น

เมื่อทราบปัจจัยในการประเมิน หรือ Feedback แล้ว ต่อไปที่จะต้องทำ ก็คือ พนักงานคนไหนที่จะเป็นผู้ประเมินบ้าง ตรงนี้ก็สำคัญ ต้องมีระบบการคัดเลือกผู้ประเมินด้วยเช่นกัน เพื่อไม่ให้เกิดความลำเอียงขึ้น หรือความกลัวในอิทธิพลของนาย จนไม่กล้าที่จะประเมิน

โดยทั่วไปก็จะให้ผู้จัดการเป็นผู้เลือกว่า จะให้ลูกน้องคนไหนประเมินตนเองบ้าง จากนั้นก็เสนอไปที่ HR และผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปอีก 1-2 ระดับ เพื่อพิจารณาว่า เหมาะสมหรือไม่ โดยผู้บริหารมีสิทธิที่จะขอเปลี่ยนตัวผู้ประเมินได้ ถ้าเห็นว่ามีความไม่เหมาะสม

เราก็สามารถได้ข้อมูล Feedback จากพนักงานได้ เพื่อนำมาพัฒนาผู้จัดการกันต่อไป

ย้ำก่อนจบว่า การประเมิน 360 หรือ การให้ ลูกน้อง Feedback นายนั้น เรามักจะทำเพื่อหาข้อมูลสำหรับการพัฒนาผู้จัดการเท่านั้น เราจะไม่เอาการประเมินแบบนี้มาใช้ในการประเมินผลงาน เพื่อเอาไปประกอบการให้รางวัลผลงานนะครับ เพราะมันสุ่มเสี่ยงมาก และอาจจะเกิดผลลัพธ์ที่ไม่ดีมากว่าข้อดี ดังนั้นต้องกำหนดวัตถุประสงค์ของการนำเอาระบบนี้มาใช้ให้ชัดเจนมาก ๆ เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดกัน และนำระบบนี้ไปใช้ในทางที่ไม่ดี

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

บลอกที่ WordPress.com .

Up ↑

%d bloggers like this: