ความแตกต่างระหว่างพนักงานที่ดี กับพนักงานที่มีปัญหา ในการทำงานกับองค์กร
เวลาที่พูดถึงเรื่องพนักงานที่เป็นคนเก่งขององค์กร หรือ Key Talent มักจะต้องพบกับข้อถกเถียงกันในประเด็นที่ว่า Key Talent ตัวจริงต้องเป็นอย่างไร คนไหนใช่ คนไหนไม่ใช่ แล้วคนที่เราบอกว่าใช่นั้น ใช่จริงหรือเปล่า คนที่เราประเมินว่าไม่ใช่นั้น เรามองผิดไปหรือไม่
เวลาประเมินหา Talent ตัวจริง ปกติแล้วเราทำกันเป็นทีม ซึ่งจะต้องมีผู้บริหารที่เข้าใจเรื่องการบริหารคน เข้าใจเกณฑ์ในการประเมิน แตกฉาน Competency ทุกตัวขององค์กร และมีประสบการณ์ในการบริหารคนมามากพอที่จะประเมิน ส่วนใหญ่ 95% ออกมาไม่ค่อยจะมีประเด็นปัญหา ถ้าเกณฑ์ชัด ผู้บริหารที่ประเมินได้มาตรฐาน
แต่ก็ยังคงมีปัญหาในแง่ของการมองคน และการประเมินคนอยู่ดี เนื่องจากการประเมินทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลนั้น ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ 100% ต้องอาศัยคนประเมินคน และมีอารมณ์ความรู้สึกปะปนอยู่บ้าง ดังนั้นจึงต้องมีการวางระบบและแนวทางที่ชัดเจน และเฟ้นหาคนประเมินที่ได้รับการยอมรับจากพนักงานส่วนใหญ่ในองค์กร
อย่างไรก็ดี ก็มีพฤติกรรมบางอย่างที่ได้รับการยอมรับว่า นี่คือ พฤติกรรมของพนักงานที่เป็นคนเก่งขององค์กร ซึ่งองค์กรจะต้องเก็บรักษาพนักงานคนนี้ไว้ กับพฤติกรรมของพนักงานที่ไม่ใช่คนที่องค์กรต้องการแน่ ๆ เราลองมาดูว่า มีพฤติกรรมอะไรบ้างที่ได้รับการยอมรับในเกือบทุกองค์กร
พฤตกรรมของ คนเก่ง ที่องค์กรต้องการ | พฤติกรรมของคนที่ไม่เหมาะสมกับองค์กร |
รับผิดชอบต่อสิ่งที่ทำ | โยนความผิดให้คนอื่นตลอด รับแต่ความชอบเข้าตัว |
เวลาเดินเข้ามา ทำให้ทุกคนรู้สึกสดใสได้ทันที | เวลาเดินออกไป ทำให้ทุกคนสดใสทันที |
มีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกคน อย่างเป็นกันเอง | มีแต่คำพูด และพฤติกรรมที่ทำลายความสัมพันธ์ที่ดี |
สามารถรับผิดชอบงานได้ด้วยตนเอง | ทำงานเองไม่ได้ ต้องอาศัยคนอื่นทำให้ตลอด |
หาทางทำงานให้สำเร็จจนได้ แม้มีอุปสรรค | หาข้ออ้างสารพัด ที่เป็นเหตุทำให้งานไม่สำเร็จ |
ตื่นเต้น และยินดีที่ได้รับมอบหมายงานใหม่ ๆ | หลบเลี่ยง และไม่ต้องการรับผิดชอบงานใหม่ |
สร้างความสบายใจในการทำงานให้นาย | สร้างความลำบากใจในการทำงานให้นาย |
ลองพิจารณาจากพฤติกรรมข้างต้นก็ได้ครับ เราก็จะพอมองออกว่า ใครคือ star ของเรา และใครที่ไม่ใช่ Star และจะทำให้เรารู้ว่า เราควรจะเก็บรักษาพนักงานคนไหนไว้บ้าง
ใส่ความเห็น